“สินิตย์” เปิดโครงการ “โคนมไทยก้าวไกล ขยายตลาดส่งออกได้ด้วย FTA” ปีที่ 5 สั่งลุยช่วยเกษตรกร สหกรณ์โคนม ผู้ประกอบการโคนม เรียนรู้เทคนิคใช้ประโยชน์จาก FTA ขยายตลาดส่งออก โดยเฉพาะอาเซียน ก่อนจัดทัพเดินทางสำรวจตลาด โมเดิร์นเทรด และเจรจาจับคู่ธุรกิจที่กัมพูชาในเดือน ก.พ.นี้
นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดโครงการ “โคนมไทยก้าวไกล ขยายตลาดส่งออกได้ด้วย FTA” จัดขึ้นโดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ณ ห้องมโนปกรณ์นิติธาดา กระทรวงพาณิชย์ ว่า การจัดงานในปีนี้ เป็นการดำเนินการมาต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 นับตั้งแต่ปี 2561 มีเป้าหมายเพื่อติดอาวุธความรู้ให้กับเกษตรกร สหกรณ์โคนม และผู้ประกอบการนมโคแปรรูป เร่งใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่มีอยู่ 14 ฉบับกับ 18 ประเทศ อาทิ อาเซียน จีน และญี่ปุ่น ซึ่งคู่ค้าส่วนใหญ่ได้ลดภาษีนำเข้าสินค้านมโคและนมโคแปรรูปให้ไทยเหลือ 0% แล้ว พร้อมทั้งช่วยผลักดันให้ส่งออกผลิตภัณฑ์นมไปตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดอาเซียน ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการส่งออก และมีผลการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา สามารถผลักดันการส่งออกนมโคแปรรูปไปตลาดการค้าเสรี มีมูลค่ามากกว่า 300 ล้านบาท
สำหรับการดำเนินโครงการดังกล่าว ยังเป็นไปตามนโยบาย “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ซึ่งได้มอบนโยบายให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ทำงานเชื่อมโยงภารกิจของกรมในการส่งเสริมให้เกษตรกร สหกรณ์โคนม และผู้ประกอบการขยายตลาดทั้งในประเทศและตลาดต่างประเทศ
นายสินิตย์ กล่าวว่า รูปแบบการดำเนินโครงการในปีนี้ จะนำสหกรณ์โคนมและผู้ประกอบการที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ ซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าที่มีศักยภาพและมีความพร้อมในการส่งออก โดยใช้ FTA เป็นเครื่องมือทางการค้า เข้าร่วมกิจกรรมอบรมบูธแคมป์ โดยติวเข้มเรื่องการใช้ประโยชน์จาก FTA เรียนรู้กฎระเบียบการค้า มาตรฐานสินค้าเพื่อส่งออก กลยุทธ์การสื่อสาร การทำตลาดในกัมพูชา และการทำ Workshop เขียนแผนธุรกิจ พร้อมทั้งสำรวจตลาดและจับคู่ธุรกิจกับผู้นำเข้าและห้างโมเดิร์นเทรด ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา ในเดือนก.พ.2566
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า มีสหกรณ์โคนมและผู้ประกอบการนมโคแปรรูป สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการดังกล่าวจำนวนมาก ซึ่งกรมฯ ได้ดำเนินการคัดเลือกผู้มีคุณสมบัติเข้าร่วมโครงการ เมื่อเดือนธ.ค.2565 ที่ผ่านมา ซึ่งความพิเศษของการดำเนินโครงการในปีนี้ คือ การนำผู้ประกอบการเดินทางไปสำรวจตลาดและห้างโมเดิร์นเทรด ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา เช่น Aeon Mall , Lucky Mall และ Makro รวมทั้งจะจัดให้มีการเจรจาจับคู่ธุรกิจกับคู่ค้ากัมพูชา ดังนั้น จึงเป็นโอกาสที่จะสามารถขยายการปักหมุดนมโคแปรรูป และรักษาฐานตลาดนมแบรนด์ของไทยในกัมพูชาอีกด้วย
ปัจจุบันไทยเป็นผู้นำการส่งออกนมและผลิตภัณฑ์ในตลาดอาเซียน สินค้าส่งออกหลัก เช่น นมยูเอชที นมเปรี้ยวและโยเกิร์ต เครื่องดื่มที่มีนมผสม และเนยแข็ง ซึ่งกัมพูชาเป็นตลาดที่ไทยส่งออกมากเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน โดยในช่วง 11 เดือนของปี 2565 (ม.ค.-พ.ย.) มีมูลค่าส่งออกไปตลาดกัมพูชา 167 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 37.6% ของการส่งออกนมและผลิตภัณฑ์ในตลาดโลก
นม(Milk)นับว่าเป็นอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วนและมีประโยชน์ทางโภชนาการที่คนไทยนิยมดื่มและมีผลิตภัณฑ์ที่ทำจากน้ำนมออกมาในตลาดมากมายซึ่งแต่เดิมการเลี้ยงโคนมของประเทศไทยเพื่อบริโภคในครัวเรือนโดยเลี้ยงโคนมพันธุ์พื้นเมืองจากคนอินเดียที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยเพื่อรีดนมไว้บริโภคภายในครัวเรือนของตนเองเท่านั้น จนมีการนำเข้าโคนมจากเดนมาร์คมาเพื่อเลี้ยงและพัฒนาสายพันธุ์ปรับปรุงพันธุ์จนได้โคนมที่มีความเหมาะสม และรัฐบาลได้ส่งเสริมให้เกษตรกรทำฟาร์มโคนมซึ่งให้ผลผลิตปริมาณมากขึ้นจนเกิดเป็นอาชีพที่คู่กับคนไทยมาอย่างช้านาน ในประเทศไทยเรานั้น ได้ทำฟาร์มโคนมโดยเริ่มต้นขึ้นที่ภาคกลาง เลี้ยงมากที่สุดที่จังหวัดสระบุรีและได้มีการขยายพื้นที่ไปทั่วทุกภาคของประเทศ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นอันดับรองลงมา