.
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดงานเทศกาลโคนมแห่งชาติ ประจำปี 2566 ภายใต้แนวคิด พัฒนาอุตสาหกรรมโคนมเพื่อชีวิตที่ดีกว่า เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรที่ทรงพระราชทานอาชีพการเลี้ยงโคนมแก่ปวงชนชาวไทย ภายในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจ เช่น นิทรรศการด้านนวัตกรรมการจัดสัดส่วนอาหารสมดุลหน้าฟาร์ม การสัมมนาวิชาการโคนมโดยมีนักวิชาการชั้นนำและผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมนมระดับประเทศเข้าร่วม การบรรยายพิเศษเรื่องการยกระดับฟาร์มโคนมรุ่นใหม่ การผลิตเนื้อโคขุนคุณภาพสูงจากโคนม เป็นต้น
.
ปัจจุบันอุตสาหกรรมโคนมไทยมีความก้าวหน้าเป็นลำดับ โดยประเทศไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นศูนย์กลางข้อมูลอุตสาหกรรมนมของอาเซียน ผลิตภัณฑ์น้ำนมโคสดของฟาร์มเกษตรกรไทยทำรายได้ปีละไม่ต่ำกว่า 8,700 ล้านบาท มีเกษตรกรและสหกรณ์ในเครือข่ายไม่น้อยกว่า 4,355 ฟาร์มและตั้งเป้าหมายตลาดสำคัญ คือ จีนและเวียดนาม เนื่องจากกำลังซื้อสูง มีสัดส่วนประชากรมาก
ทั้งนี้ ผู้สนใจร่วมงานเทศกาลโคนมแห่งชาติ ปี 2566 ได้ในวันที่ 20 – 29 ม.ค. 66 ณ ฟาร์มโคนมไทย – เดนมาร์ค บริเวณเขาตาแป้น อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนหน้านี้ นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เคยแถลงข่าวเกี่ยวกับการจัดงานเทศกาลโคนมแห่งชาติ ประจำปี 2566 ว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมโคนมไทยมีความก้าวหน้าเป็นลำดับ โดยประเทศไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นศูนย์กลางข้อมูลอุตสาหกรรมนมของอาเซียน กระทรวงเกษตรฯ ได้ให้การส่งเสริมโคนมอาชีพพระราชทาน และพัฒนาศักยภาพการเลี้ยงโคนมให้กับเกษตรกรอย่างต่อเนื่องจนเกิดความมั่นคง เข้มแข็งในอาชีพ
ขณะที่ อ.ส.ค. ปัจจุบันเป็นองค์กรที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในฐานะผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์ค หรือ นมวัวแดง ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากน้ำนมโคสดแท้ 100% ของฟาร์มเกษตรกรไทย ทำรายได้ปีละไม่ต่ำกว่า 8,700 ล้านบาท มีเกษตรกร และสหกรณ์โคนมในเครือข่ายไม่น้อยกว่า 4,355 ฟาร์ม มีจำนวนโครวม 113,565 ตัว ส่งน้ำนมดิบให้ อ.ส.ค. ประมาณ 581 ตัน/วัน โดยพื้นที่ภาคกลางมีสหกรณ์โคนมที่ส่งน้ำนมดิบมากที่สุดคือ จำนวน 14 สหกรณ์ และจำนวนโครีดนม 47,739 ตัว นับว่าเป็นองค์กรที่เคียงข้างเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมมาตลอด 60 ปี
“กระทรวงเกษตรฯ จะเร่งผลักดัน อ.ส.ค.ให้เป็นองค์กรชั้นนำด้านอุตสาหกรรมนมทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียน และตั้งเป้าหมายตลาดสำคัญ คือ ประเทศจีน เวียดนาม เนื่องจากเป็นประเทศที่กำลังซื้อสูง และมีสัดส่วนประชากรมาก รวมทั้งเร่งรณรงค์ให้คนไทยเห็นความสำคัญของการดื่มนมโคแท้ 100% จากน้ำนมโคที่ได้จากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมประเทศไทย ตลอดจนสืบสาน รักษา ต่อยอด อาชีพการเลี้ยงโคนมซึ่งเป็นอาชีพอันทรงคุณค่า โดยมอบหมายให้ อ.ส.ค.ให้ความสำคัญในการการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ จนถึงมือผู้บริโภคต้องได้คุณภาพและมาตรฐาน รวมทั้งสร้างการรับรู้ว่า นมวัวแดง คือ นมไทย-เดนมาร์ค ทุกหยดผลิตจากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม” รมช.มนัญญา กล่าว
ด้านนายสมพร ศรีเมือง ผู้อำนวยการ อ.ส.ค. กล่าวว่า งานเทศกาลโคนมแห่งชาติ ปี 2566 ถือเป็นเวทีสำคัญในการพบปะระหว่าง เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ภาครัฐ และเอกชนด้านอุตสาหกรรมนม เพื่อแสดงความก้าวหน้าของวิทยาการด้านการเลี้ยงโคนมและอุตสาหกรรมโคนมของประเทศ ผ่านนิทรรศการและการเสวนาร่วมกัน อาทิ นิทรรศการด้านนวัตกรรมการจัดสัดส่วนอาหารสมดุลหน้าฟาร์มโดยใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ในท้องถิ่นเพื่อเพิ่มสมรรถนะการผลิตและคุณภาพน้ำนมในฟาร์มโคนมรายย่อย การศึกษาผลกระทบของการแพร่ระบาดโรคลัมปี สกิน ในแม่โครีดนมต่อสมรรถนะการผลิตคุณภาพน้ำนม และสุขภาพโคนมของฟาร์มโคนมรายย่อย เป็นต้น
อีกทั้งยังมีการจัดสัมมนาวิชาการโคนม ประจำปี 2566 โดยมีนักวิชาการชั้นนำและผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมนมระดับประเทศทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมเสวนา อาทิ บรรยายพิเศษเรื่อง “สถานการณ์อุตสาหกรรมโคนมภายใต้วิกฤติโลก และแนวทางการปรับตัวของภาคเกษตรกร : กรณีศึกษาจากนิวซีแลนด์”, ฟาร์มโคนม BCG สู่ชุมชนคาร์บอนต่ำ เศรษฐกิจยั่งยืน, การยกระดับฟาร์มโคนมรุ่นใหม่, การผลิตเนื้อโคขุนคุณภาพสูงจากโคนม เป็นต้น