อย.เกาหลีร่วมตรวจประเมินสินค้าจากไทย ได้ผลพอใจมาตรการควบคุมการผลิตที่ถูกสุขอนามัย ซึ่งสอดคล้องตามข้อกำหนดของกรมปศุสัตว์และประเทศเกาหลี
วันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม 2565 เวลา 18.00 น. ณ ห้องประชุมพระพิรุณ ตึกอำนวยการ กรมปศุสัตว์ นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ มอบหมายให้ น.สพ.โสภัชย์ ชวาลกุล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์เป็นประธานปิดการประชุมผลการตรวจประเมินโรงฆ่าสัตว์ปีกและโรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์ปีก จาก Dr. Na-young Kim และ Ms. Eunjung Kwon เจ้าหน้าที่จากกระทรวงความปลอดภัยด้านอาหารและยา(MFDS) แห่งสาธารณรัฐเกาหลี
โดยมี น.สพ.อภินันท์ คงนุรัตน์ รักษาการแทน ผอ.สพส. น.สพ. วัชรพล โชติยะปุตตะ ผอ. กรป. น.สพ. สมชาย วงศ์สมุทร ผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบคุณภาพน้ำนมและผลิตภัณฑ์นม สตส. น.สพ.อุดม จันทร์ประไพภัทร น.สพ.อนุชา มุมอ่อน และผู้แทนจาก สพส. เข้าร่วมรับฟังผลการตรวจประเมิน
จากการเข้าตรวจประเมินและติดตามการกำกับดูแลกระบวนการผลิตของโรงงานที่ส่งออกสินค้าเนื้อสัตว์ปีกจากประเทศไทยไปยังสาธารณรัฐเกาหลี ภายใต้การกำกับดูแลของกรมปศุสัตว์ ทั้งหมด 7 โรงงาน แบ่งเป็น โรงเชือดสัตว์ปีก จำนวน 3 โรงงาน โรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์ปีก จำนวน 3 โรงงาน และโรงเชือดและโรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์ปีก จำนวน 1 โรงงาน ในระหว่างวันที่ 2 – 13 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยผู้ตรวจประเมินแสดงความพึงพอใจเป็นอย่างมาก ในระบบการควบคุมการผลิตที่ถูกสุขอนามัย สอดคล้องตามข้อกำหนดของกรมปศุสัตว์และประเทศเกาหลี
“ขอชื่นชมการทำงานของกรมปศุสัตว์ในการกำกับดูแลการผลิตสินค้าของโรงงานเป็นอย่างดี ทำให้มีความมั่นใจในการอนุญาตนำเข้าสินค้าเนื้อสัตว์ปีกจากประเทศไทย ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมบริโภคในผู้บริโภคชาวเกาหลีเป็นอย่างมาก การตรวจครั้งนี้ สามารถมั่นใจว่าประชาชนเกาหลีจะได้บริโภคอาหารที่มีคุณภาพและปลอดภัย ขอให้ประเทศไทยส่งออกสินค้าปศุสัตว์ที่มีคุณภาพไปยังสาธารณเกาหลีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง” Ms. Na-young Kim หัวหน้าคณะ กล่าวในวันปิดประชุมสรุปผลการตรวจ
โดยข้อมูลการส่งออกสินค้าเนื้อสัตว์ปีกจากประเทศไทยไปสาธารณรัฐเกาหลีในปี 2564 มีปริมาณ33,535.48 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ร้อยละ 6.25 คิดเป็นมูลค่า 3.995.37 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ร้อยละ 5.30 คาดว่าจากการตรวจประเมินทางด้านคุณภาพการผลิตผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ในครั้งนี้จะช่วยทำให้ยอดส่งออกเพิ่มขึ้นจากปี 2564 อีกราวๆร้อยละ 5 คิดเป็นปริมาณการส่งออก 35,212 ตัน มูลค่ารวมราว 4,194 ล้านบาท