นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยวันนี้ว่า ภายใต้นโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ให้เร่งเพิ่มรายได้เกษตรกรอย่างยั่งยืน โดยตั้งเป้าหมายพัฒนาอาชีพปศุสัตว์สู่เกษตรมูลค่าสูงตามหมุดหมายใหม่ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ในระหว่างปฏิบัติราชการที่จังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม ที่ผ่านมา สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเพชรบุรี จึงเตรียมจัดประชุมเรื่อง “การพัฒนาโคขุนโคนม โคพื้นเมืองและวัวลานกีฬาประเพณีวิถีไทย” ครั้งที่ 1 โดยมีที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน เพื่อพัฒนาการปศุสัตว์อย่างเป็นระบบและยกระดับรายได้ของเกษตรกรให้สูงขึ้นอย่างยั่งยืน ในวันศุกร์ที่ 11 พ.ย. เวลา 14.00- 16.00 น. ณ ห้องประชุมสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเพชรบุรี
โดยประสานงานเชิญทุกภาคส่วน ได้แก่ จังหวัดเพชรบุรี พาณิชย์จังหวัด เกษตรและสหกรณ์จังหวัด เกษตรจังหวัด สหกรณ์จังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด ศูนย์วิจัยอาหารสัตว์ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี ศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมเพชรบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี มหาวิทยาลัยศิลปากรวิทยาเขตชะอำ สภาอุตสาหกรรม หอการค้า สมาพันธ์เอสเอ็มอี ตัวแทนกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคขุน โคนม โคพื้นเมือง วัวลาน วิสาหกิจชุมชนโค โคแปลงใหญ่ และตัวแทนจากกรมปศุสัตว์ ฯลฯ เข้าร่วมประชุม
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า เพชรบุรีเป็นจังหวัดที่มีการเลี้ยงโคขุน โคนม และโคพื้นเมืองมากที่สุดจังหวัดหนึ่งของประเทศ ถือเป็นฐานรายได้สำคัญของเกษตรกรจึงมีความพร้อมที่จะเดินหน้ายกระดับการพัฒนาแบบครบวงจร ภายใต้โครงการเพชรบุรีโมเดล ตั้งแต่ พันธุ์โค อาหารสัตว์ มาตรฐานฟาร์มการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) ฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (GFM) ฟาร์มปลอดโรคปากและเท้าเปื่อย (FMD) คอกกักมาตรฐานเอกชนสำหรับการนำเข้า การส่งออก และปลอดโรค FMD การแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม การสร้างแบรนด์ และการตลาดแบบออฟไลน์และออนไลน์
เช่น กรณีของพรีเมี่ยมบี๊ฟ (Premium Beef) แปรรูปผลิตภัณฑ์จำหน่ายได้มากกว่า 30 ผลิตภัณฑ์ เช่น สันนอก สเต็กแช่แข็ง ลิ้นแองกัสสไลด์แช่แข็ง เนื้อหมักกระเทียมพริกไทยเสียบไม้ โดยจำหน่ายให้กับผู้ประกอบการรายใหญ่ และส่งไปจำหน่ายยังสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่าได้อีกด้วย หรือกลุ่มโคเพชรบุรีสามารถส่งโคไปภาคใต้สู่ตลาดมาเลเซีย เป็นต้น หากมีการยกระดับการพัฒนาจะเพิ่มศักยภาพเพิ่มโอกาสให้เกษตรกรมากขึ้นโดยเฉพาะการขยายความสัมพันธ์การค้าการลงทุนระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย ด้านการเกษตรและปศุสัตว์ จะเพิ่มช่องทางใหม่ ๆ ให้กับเพชรบุรี ซึ่งเลี้ยงและจำหน่ายโคกว่ า140,000 – 150,000 ตัวต่อปี
พร้อมกันนี้จะพัฒนาวัวลาน ซึ่งเป็นกีฬาประเพณีวิถีไทยสู่มาตรฐานใหม่ให้สามารถจัดการแข่งขันได้สม่ำเสมอ รวมทั้งการส่งเสริมวัวเทียมเกวียน การจัดระดมพลคนปศุสัตว์ กลุ่มโค เพื่อผนึกความร่วมมือทุกภาคส่วน จึงเป็นก้าวใหม่ที่จะสร้างอนาคตที่ดีกว่าให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทานและอุปสงค์ โดยจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการจากทุกภาคส่วนเป็นกลไกการพัฒนาอย่างต่อเนื่องต่อไป
ขณะนี้เรื่องเศรษฐกิจปากท้องของประชาชนและเกษตรกรสำคัญที่สุด ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถือเป็นนโยบายเร่งด่วนลำดับแรกที่ทุกหน่วยงานในสังกัดต้องเดินหน้าสร้างอาชีพสร้างรายได้และลดรายจ่ายให้กับเกษตรกรของเรา ซึ่งต้องเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นจาก ปุ๋ย ยา อาหารสัตว์ ไฟฟ้า และน้ำมันที่มีราคาสูงขึ้นทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยจากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครน” นายอลงกรณ์ กล่าว
นอกจากนี้ นายอลงกรณ์ยังเปิดเผยด้วยว่า จะมีการจัดประขุมการพัฒนาปศุสัตว์กลุ่มอื่น ๆ เช่น ไก่เนื้อ ไก่ไข่ ไก่สวยงาม ไก่ชน และสุกร ฯลฯ เช่นเดียวกับทางด้านการพัฒนาอาชีพประมงก็จะจัดประชุมกลุ่มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ กลุ่มประมงพื้นบ้าน กลุ่มประมงพาณิชย์ กลุ่มแปรรูปประมง กลุ่มพืชน้ำ ฯลฯ ซึ่งต้นเดือนที่ผ่านมาได้มีการประชุมใหญ่เรื่องกุ้งกุลาดำเพชรบุรี โดยชมรมผู้เลี้ยงกุ้งกุลาดำ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีและกรมประมงให้การสนับสนุน