อธิบดีกรมปศุสัตว์เผย หมาแมวกว่า 80 ตัวที่ช่วยเหลือจากบ้านสงเคราะห์สัตว์ แล้วนำส่งโรงพยาบาล ได้รับการตรวจสุขภาพและดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด โดยบางตัวยังอาการวิกฤติ มี 2 ตัวตาใกล้บอด ย้ำสถานสงเคราะห์สัตว์ต้องจัดสวัสดิภาพสัตว์ให้เหมาะสม ดูแลให้อาหารและน้ำ ไม่เช่นนั้นเข้าข่ายทารุณกรรมพร้อมขอให้ประชาชนที่พบเห็นสัตว์ถูกทารุณให้แจ้งหน่วยงานของปศุสัตว์เข้าช่วยเหลือ
นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า มอบหมายให้ปศุสัตว์กรุงเทพมหานครติดตามการดูแลรักษาหมาแมวที่ช่วยเหลือมาจากบ้านหลังหนึ่งในเขตคลองสามวาประกอบด้วย แมว 76 ตัวและหมา 4 ตัว ซึ่งนำส่งไปฟื้นฟูสภาพร่างกาย 2 แห่งดังนี้
ที่โรงพยาบาลสัตว์วัชรพล แขวงท่าแร้ง เขตบางเขน 40 ตัว จากการตรวจสอบโดยรวม มีการให้อาหารและน้ำที่สะอาดและเพียงพอ สภาพกรงที่สะอาด ทั้งนี้ได้สอบถามสุขภาพสัตว์ทั้งหมดจากนายสัตวแพทย์สุชาติ จิ้มลิ้มพบว่า สภาพร่างกายโดยรวม มีร่างกายที่ผอม มี 2 ตัวที่มีอาการตาเสียและจะต้องสูญเสียการมองเห็น โดยสัตวแพทย์จะรักษาฟื้นฟูสภาพร่างกาย พร้อมทั้งถ่ายพยาธิต่อไป คาดว่า ภายใน 2 สัปดาห์ สภาพร่างกายจะดีขึ้นตามลำดับและสามารถนำออกจากโรงพยาบาลสัตว์ไปเลี้ยงต่อได้
ที่คลินิกบ้านสวนธนสัตวแพทย์ แขวงบางมด เขตทุ่งครุ 32 ตัว จากการตรวจสอบโดยรวม มีการให้อาหารและน้ำที่สะอาดและเพียงพอ สภาพกรงที่สะอาด ทั้งนี้ได้สอบถามสุขภาพสัตว์ทั้งหมดจากนายสัตวแพทย์หญิงเบญจวรรณ ตระกูลวีรศักดิ์ พบว่า แมวที่นำมารักษามีร่างกายที่ผอมและมีภาวะขาดน้ำ(Dehydration) จึงจะรักษาและฟื้นฟูสุขภาพร่างกาย โดยให้น้ำเกลือ พร้อมทั้งถ่ายพยาธิ คาดว่า ภายใน2 สัปดาห์ สภาพร่างกายจะดีขึ้นตามลำดับ สามารถนำออกจากโรงพยาบาลสัตว์ไปเลี้ยงต่อได้
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาการทอดทิ้งสัตว์เลี้ยงของประเทศไทยในแต่ละปีมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น ประเภทของสัตว์เลี้ยงที่ถูกทอดทิ้งมากที่สุดคือ หมาและแมว สาเหตุที่ทำให้สัตว์ถูกทอดทิ้งมีหลายสาเหตุ ทั้งการขาดความรับผิดชอบของเจ้าของ การไม่มีความรู้ที่เพียงพอเกี่ยวกับการเลี้ยงดูที่ถูกต้องการไม่มีพื้นที่สำหรับเลี้ยงที่เหมาะสม การขาดการควบคุมการขยายพันธุ์ การมีภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นจากการดูแลรักษาสัตว์เจ็บป่วย สถานที่เลี้ยงไม่เหมาะสม สกปรก มีกลิ่นเหม็น เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของสัตว์พาหะนำโรค เลี้ยงจำนวนมากเกินไปเช่น สถานที่เลี้ยงคับแคบ อยู่ใกล้บ้านข้างเคียง แต่เลี้ยงจำนวนมาก ถูกปล่อยให้อดข้าวอดน้ำจนตาย เป็นต้น
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้มอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ลงบันทึกประจำวันไว้ที่สน.คันนายาวหลังการเข้าตรวจสอบโดยวันพรุ่งนี้จะแจ้งความดำเนินคดีเจ้าของสัตว์ว่า กระทำความผิดตามพ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสัตว์ พ.ศ.2557 ใน 3 ข้อหา ดังนี้
1. ฝ่าฝืนมาตรา 20 กระทำการอันเป็นการทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควร มีโทษตามมาตรา 31 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2 .เจ้าของสัตว์ไม่ดำเนินการจัดสวัสดิภาพสัตว์ให้แก่สัตว์ของตนให้เหมาะสม ตามมาตรา 22 มีโทษตามมาตรา 32 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท
3. เจ้าของสัตว์กระทำการฝ่าฝืนมาตรา 23 โดยปล่อยสัตว์ ละทิ้ง หรือกระทำการใดๆ ให้สัตว์พ้นจากการดูแลของตนโดยไม่มีเหตุอันสมควร มีโทษตามมาตรา 32 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท
ส่วนเจ้าของบ้านที่แสดงอาการเครียดอย่างมาก ขณะเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ โดยพยายามทำร้ายตัวเองตลอดเวลา เจ้าหน้าที่เรียกกู้ภัยมานำตัวส่งโรงพยาบาลและยังคงรักษาตัวอยู่
ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ได้ให้ความสำคัญกับการจัดสวัสดิภาพสุนัขและแมว โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขเกี่ยวกับการจัดสวัสดิภาพสุนัขและแมวให้เป็นไปโดยถูกต้องตามสวัสดิภาพในด้านต่างๆ ได้แก่ การจัดการด้านอาหารและน้ำ ต้องจัดให้สุนัขและแมวทุกตัวได้รับอาหารและน้ำดื่มที่สะอาด มีคุณภาพปริมาณ และความถี่ของการให้อาหารที่เหมาะสม การจัดการด้านที่พักอาศัยและสิ่งแวดล้อม ต้องมีโรงเรือนหรือกรงเลี้ยงที่แข็งแรงทนทาน มีสภาพแวดล้อมที่ถูกสุขลักษณะ การจัดการด้านสุขภาพอนามัย ต้องดำเนินการตามระบบป้องกันและควบคุมโรคระบาดตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 โดยจัดให้สุนัขและแมวทุกตัวได้รับวัคซีนป้องกันโรค มีการป้องกันและกำจัดปรสิต
หากไม่ดูแลสัตว์เลี้ยงอย่างเหมาะสมตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว อาจเข้าข่ายผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสัตว์ พ.ศ. 2557
ทั้งนี้ หากประชาชนต้องการข้อมูลเพิ่มเติมหรือพบเห็นการปล่อยปละละเลยสัตว์ หรือการทำร้ายสัตว์โปรดติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อขอรับข้อมูล หรือแจ้งเบาะแสการกระทำความผิดเพื่อดำเนินการตามกฎหมายผ่านแอพพลิเคชั่น (Application) “DLD 4.0” เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าตรวจสอบการกระทำความผิดและดำเนินการตามกฎหมายได้อย่างทันท่วงที