น้ำท่วมปี 2565 ส่งผลกระทบด้านปศุสัตว์ ในพื้นทื่ 29 จังหวัด กว่า 3,400 หมู่บ้าน เกษตรกรกว่า 86,000 ราย มีสัตว์ได้รับผลกระทบกว่า 7 ล้าน 8 แสนตัว และเป็นวัวกว่า 2 แสนตัว แปลงหญ้าได้รับผลกระทบกว่า 3,000 ไร่
กรมปศุสัตว์ให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น อพยพสัตว์กว่า 2 ล้านตัว/รักษาสัตว์เกือบ 6 พันตัว แจกจ่ายถุงยังชีพกว่า 4 พันถุง แจกจ่ายพืชอาหารสัตว์ กว่า 1 ล้าน 4 แสน กิโลกรัม แจกจ่ายเวชภัณฑ์เสริมสร้างสุขภาพสัตว์กว่า 4 หมี่นชุด (แร่ธาตุ วิตามินผง ยาปฏิชีวนะชนิดผง)
ข้อมูลนี้อาจเป็นเพียงตัวเลขเพื่อรายงานสถานการณ์นำเรียนผู้บริหาร หรือผู้หลักผู้ใหญ่ที่มีอำนาจเท่านั้น แต่หากจะให้เห็นภาพความทุกข์ยากที่เกิดขึ้นกับเกษตรกร ต้องลงไปที่พื้นที่น้ำท่วม และฟังเสียงเกษตรกรจริงๆ
“ขอบคุณศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ ที่เห็นความเดือดร้อนของเกษตรกรจัดหาหญ้าแห้งให้ และมีแปลงหญ้าสดให้เราเข้ามาเกี่ยว ทั้งช่วงน้ำท่วม หรือช่วงหน้าแล้ง ถ้าไม่ได้หญ้าจากที่นี่เราไม่รู้จะไปหาจากที่ไหน น้ำท่วมหมดแล้ว” สมปอง มูลเกตุ เกษตรกรบ้านหนองล่าม ต.เหล่าบัวบาน อ.เชียงยืนจ.มหาสารคาม กล่าว
“น้ำท่วมบ้าน ท่วมนาหมดเลย ท่วมคอกวัวน้ำลึก 4 เมตร ย้ายวัวลุยน้ำมาฝากบ้านญาติ ต้องไปหาเกี่ยวหญ้าไกลๆ จะเอาไปเลี้ยงตามถนนก็กลัวรถชน ดีใจที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์เขาให้หญ้าแห้งคนละ 7 ก้อน ช่วยวัวเรา วัวคือความหวัง คือรายได้ของเกษตรกร” บุญธรรม สายบรรดิศ เกษตรกรบ้านหนองล่าม ต.เหล่าบัวบาน อ.เชียงยืน จ.มหาสารคาม กล่าว
น้ำท่วมครั้งนี้หลายพื้นที่ไม่ทันตั้งตัว ต้องอพยพสัตว์เลี้ยงขึ้นที่สูงด้วยความยากลำบาก แม้จะตั้งเป็นศูนย์อพยพสัตว์ ได้ที่อยู่ที่ปลอดภัยมีเจ้าหน้าที่มาช่วยดูแลสุขภาพสัตว์ แต่ตอนนี้เกษตรกรกำลังเผชิญปัญหาขาดแคลนอาหารสัตว์ รายงานตัวเลขการช่วยเหลือของกรมปศุสัตว์ เป็นแค่การช่วยเหลือเบื้องต้นแน่นอนว่าไม่เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร แต่พวกเขาก็บอกว่า ในยามทุกข์ยาก ประสบภัยพิบัติ พวกเขาก็หวังพึ่งพากรมปศุสัตว์
โดยเฉพาะหน่วยงานสำคัญ อย่าง ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์มหาสารคามถือเป็นที่พึ่งของเกษตรกรสามารถประสานขอความช่วยเหลือผ่านทางสำนักงานปศุสัตว์อำเภอ
วิชัย อาระหัง ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์มหาสารคาม เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์มหาสารคาม มีเนื้อที่กว่า 1 พัน 100 ไร่ เป็น 1 ในจำนวนศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ 32 แห่งทั่วประเทศ ในปีนี้กรมปศุสัตว์มีนโยบาย ให้เจ้าหน้าที่เร่งทำหญ้าแห้งเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านในช่วงน้ำท่วม
โดยแบ่งแปลงหญ้าผลิตเมล็ดพันธุ์ส่วนหนึ่งให้เกษตรกรเข้ามาเกี่ยวไปให้วัว และเตรียมผลิตเมล็ดพันธุ์หญ้าคุณภาพ เพื่อทำแปลงหญ้าหลังน้ำลด โดยหลังจากนี้เจ้าหน้าที่จะลงไปให้ความรู้ ชักชวนเกษตรกรและท้องถิ่นร่วมวางแผนการเลี้ยงสัตว์ในแต่ละปี หรือสำรองอาหารสัตว์ทั้งหน้าแล้งและช่วงน้ำท่วม เพื่อช่วยลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรในช่วงประสบภัยพิบัติอที่อาจมีแนวโน้มรุนแรงในอนาคต