นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลเลิศรัฐ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) พิจารณาผลการตรวจประเมินรางวัลการบริการภาครัฐแห่งชาติ ประจำปี 2565 ในรูปแบบของการจัดงานผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (Zoom Meeting) กรมปศุสัตว์ได้รับรางวัลเลิศรัฐ 2 รางวัล
โดยมีนายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ นายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล นายสัตวแพทย์โสภัชย์ ชวาลกุล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ นายสัตวแพทย์ประภาส ภิญโญชีพ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ และนายพงษ์พันธ์ ธรรมมา รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ร่วมรับรางวัล ณ ห้องซุ้มเรือนแก้ว ตึกอำนวยการ กรมปศุสัตว์
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า รางวัลเลิศรัฐ ถือเป็นรางวัลแห่งเกียรติยศที่ก.พ.ร. มอบให้หน่วยงานภาครัฐ ที่มุ่งมั่นปฏิบัติราชการจนประสบความสำเร็จ ตั้งใจพัฒนาคุณภาพการให้บริการประชาชนอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน และเพื่อส่งเสริมการยกระดับประสิทธิภาพการให้บริการภาครัฐในการอำนวยความสะดวกและส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน รวมทั้งเพื่อส่งเสริมให้หน่วยงานของรัฐยกระดับมาตรฐาน ให้เทียบเท่าสากลตามเกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ และมุ่งเข้าสู่องค์การที่เป็นเลิศ ซึ่งในปีนี้กรมปศุสัตว์ได้รับรางวัลเลิศรัฐ 2 รางวัล คือ
1. รางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ 4.0 ระดับก้าวหน้า (Advance) สำหรับหน่วยงานของรัฐที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการขององค์กร
2. รางวัลบริการภาครัฐ ระดับดี ประเภทพัฒนาการบริการ ผลงาน “แหนเกล็ดทองเมืองสกล พืชน้ำลดต้นทุน” ของสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสกลนคร เป็นรางวัลสำหรับหน่วยงานของรัฐที่มีผลการพัฒนาคุณภาพการให้บริการเพื่อประชาชน ให้ได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็ว โปร่งใส เป็นธรรม และเป็นที่พึงพอใจ
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ความภาคภูมิใจของกรมปศุสัตว์ ในการมุ่งมั่นพัฒนาระบบราชการส่งผลให้กรมปศุสัตว์ได้รับรางวัลจากสำนักงาน ก.พ.ร.ทุกปีอย่างต่อเนื่อง รวม 68 รางวัล ดังนี้
รางวัลเลิศรัฐ ระดับยอดเยี่ยมในปี 2561 และ 2564 รางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ 9 รางวัล รางวัลบริการภาครัฐ 49 รางวัล และรางวัลบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม 8 รางวัล โดยปัจจัยที่ทำให้กรมปศุสัตว์ได้รับรางวัลเพราะมีเป้าหมายชัดเจนในการพัฒนางาน เพื่อให้เกิดความสุขแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ บุคลากรทุกคน สังคมและประเทศชาติ
รวมทั้งมุ่งมั่นพัฒนาให้เกิดผลลัพธ์ คือ สินค้าปศุสัตว์มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน มีความปลอดภัย เพียงพอ และสามารถแข่งขันได้ ด้วยกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน และมีความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม มีการวางแผนและพัฒนาปรับปรุงกระบวนงานและสร้างนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง มีการจัดการความรู้ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ นวัตกรรม ระหว่างบุคลากรภายในหน่วยงาน และหน่วยงานภายนอก มีการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ ความสามารถ และความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ มีการขยายผลการปรับปรุงกระบวนงานต่อเนื่องทั้งองค์กร และขยายไปยังหน่วยงานในต่างจังหวัด เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อเป้าหมายได้