นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของด่านกักสัตว์เชียงราย ณ ตำบลครึ่ง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นจุดที่ใช้ในการส่งออกสัตว์มีชีวิต ได้แก่ โค กระบือ สุกร และแพะ บนเส้นทางแม่น้ำโขงไปยังประเทศเพื่อนบ้าน (สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสาธารณะรัฐแห่งสหภาพเมียนมา) และสาธารณะรัฐประชาชนจีน โดยเป็นร่องน้ำลึกสามารถขนส่งสินค้าได้ตลอดปี กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมปศุสัตว์ จึงมุ่งพัฒนาช่องทางการส่งออกดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพและมีปริมาณการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ไปยังต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังสามารถป้องกัน เฝ้าระวัง และควบคุมโรคระบาดสัตว์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยกรมปศุสัตว์ได้สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการจัดซื้อเวชภัณฑ์ น้ำยาฆ่าเชื้อ และวัสดุวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้ สมาคมส่งเสริมการปศุสัตว์จังหวัดเชียงรายยังสนับสนุนค่าสาธารณูปโภค (น้ำและไฟฟ้า) การทำความสะอาดพื้นที่และสิ่งก่อสร้าง ได้แก่ คอกพักสัตว์ท่าขึ้น – ลงสัตว์ อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ ม่งมั่นที่จะยกระดับท่าปศุสัตว์เชียงแสน เพื่อรองรับการเป็นท่านำเข้า – ส่งออกสินค้าปศุสัตว์ตามมาตรฐานสากลและถูกต้องตามระเบียบของกรมปศุสัตว์ต่อไป
จากนั้นได้เดินทางไปท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน เลขที่ 888 หมู่ที่ 10 ตำบลบ้านแซว อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ที่เป็นท่าเรือสำหรับการส่งออกสัตว์มีชีวิตและสินค้าปศุสัตว์ เนื้อสัตว์แช่แข็งบนเส้นทางแม่น้ำโขงไปยัง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และสาธารณรัฐประชาชนจีน ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมปศุสัตว์ พร้อมที่จะพัฒนาช่องทางการส่งออกให้มีประสิทธิภาพ ไม่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเพิ่มปริมาณการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ไปยังต่างประเทศให้เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะ ได้พบปะและรับฟังปัญหาจากกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์นำเข้าและส่งออก ณ สวนลุงดี UncleDee (สถานที่บ่มซากและตัดแต่งของวิสาหกิจชุมชนเครือข่ายโคเนื้อล้านนา) ภายใต้บริษัท ลานนา บีฟ จำกัด ตำบลรอบเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย ซึ่งเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนโคเนื้อล้านนานี้ เป็นวิสาหกิจชุมชนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อบริหารการดำเนินงานของเครือข่ายโคเนื้อล้านนา นำโดยนายนเรศ รัศมีจันทร์ ประธานเครือข่ายโคเนื้อล้านนา และประธานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนโคเนื้อล้านนา จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2560 มีสมาชิกเครือข่ายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย และเป็นเครือข่ายที่มีความตั้งใจพัฒนาระบบการเลี้ยงโคเนื้อให้เข้าสู่ระบบอุตสาหกรรม การผลิตโคเนื้อคุณภาพให้สามารถต่อสู้กับการค้าเสรีโคเนื้อ (FTA) กับต่างประเทศได้ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์โคเนื้อคุณภาพ ด้วยโคเนื้อสายพันธุ์บีฟมาสเตอร์ ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่เลี้ยงง่าย โตเร็ว อัตราการแลกเนื้อดี เหมาะกับสภาพอากาศของประเทศไทย โดยเครือข่ายโคเนื้อล้านนาได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาศักยภาพการผลิตและการตลาดโคเนื้อรองรับ FTA ซึ่งได้รับการสนับสนุนเงินกู้จากกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตร (FTA) ในการพัฒนาศักยภาพการผลิตและการตลาดของเครือข่าย โดยเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนโคเนื้อล้านนา ได้ส่งโคขุนให้แก่บริษัท พรีเมี่ยม บีฟ และบริษัท ลานนา บีฟ จำกัด เป็นตลาดปลายทางของเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนโคเนื้อล้านนาที่รับซื้อโคเนื้อจากเครือข่ายฯ และนำไปเข้าเชือดที่โรงฆ่าสัตว์ของสหกรณ์โคขุนดอกคำใต้ จำกัด จังหวัดพะเยา (โรงฆ่าสัตว์จากงบกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2) และนำซากกลับมาบ่มและตัดแต่งที่บริษัทฯ เพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์
อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ มุ่งพัฒนาให้เป็นแหล่งผลิตโคเนื้อคุณภาพที่เป็นระบบอุตสาหกรรมโคเนื้อของจังหวัดและประเทศ เพื่อเป็นแนวทางสำคัญในการยกระดับและพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศสู่สากล