วันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคม 2567 เวลา 10.00 น. นายเอกภาพ พลซื่อ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ฝ่ายการเมือง) พร้อมด้วย นายสัตวแพทย์บุญญกฤช ปิ่นประสงค์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ผู้แทนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ผู้แทนกองควบคุมอาหารและยาสัตว์ ผู้แทนปศุสัตว์เขต 7 ผู้อำนวยการกองสารวัตรและกักกัน ผู้อำนวยการกองควบคุมอาหารและยาสัตว์ ปศุสัตว์จังหวัดนครปฐม ร่วมแถลงข่าวการบุกจับสถานที่ผลิตสารเร่งเนื้อแดง และยาสัตว์เถื่อนรายใหญ่ โดยกรมปศุสัตว์ ร่วมกับ บก.ปคบ. จับกุมผู้ต้องหาเจ้าของสถานที่ทั้ง 3 แห่ง พร้อมตรวจยึดยาสัตว์และอาหารสัตว์ต้องสงสัยว่ามีการผสมสารเร่งเนื้อแดง ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนจำนวนมาก มูลค่ากว่า 100 ล้านบาทนายเอกภาพ พลซื่อ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ฝ่ายการเมือง) เปิดเผยว่า ได้รับรายงานพบแหล่งผลิตสารเร่งเนื้อแดง และยาสัตว์เถื่อนรายใหญ่ โดยเมื่อวันที่ 10 ต.ค. 67 กรมปศุสัตว์ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากเว็บไซด์กรมปศุสัตว์ พบว่า บริษัทปฐม อินเตอร์เทรด จำกัด มีการลักลอบประกอบกิจการขายอาหารสัตว์ และผลิตอาหารสัตว์ และพบว่าบริษัทดังกล่าว มีสถานที่จัดจำหน่ายและสถานที่ผลิตภายในพื้นที่จังหวัดนครปฐม โดยต้องสงสัยว่ามีการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ.2558 และ พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 ดังนั้น เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ประกอบด้วยปศุสัตว์เขต 7 ปศุสัตว์จังหวัดนครปฐม กองสารวัตรและกักกัน และกองควบคุมอาหารและยาสัตว์ ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กก.2 บก.ปคบ. และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดนครปฐม จึงได้ร่วมกันวางแผนสืบสวนข้อมูลเบื้องต้นและเห็นว่ามีเหตุอันน่าเชื่อว่ามีการกระทำความผิดจริง จึงได้ทำการขอหมายค้นเพื่อเข้าค้นยังสถานที่ดังกล่าวทั้ง 3 แห่ง
ผลการตรวจค้น พบผลิตภัณฑ์ยาสัตว์ไม่มีเลขทะเบียนจำนวน 233 รายการ ซึ่งยาสัตว์ที่ไม่มีเลขทะเบียนเป็นยาที่ไม่ผ่านการตรวจสอบเป็นยาที่ไม่ได้ผ่านการตรวจสอบจาก อย. อาจไม่มีสารสำคัญ หรือมีปริมาณสารต่ำกว่าหรือสูงกว่าปริมาณที่กำหนด หากมีปริมาณต่ำกว่าที่กำหนดจะไม่มีประสิทธิภาพในการรักษา และหากมีปริมาณสูงกว่าที่กำหนดอาจเป็นอันตรายต่อสัตว์เลี้ยง อาหารสัตว์ผสมสารเร่งเนื้อแดงจำนวน 7 รายการ ซึ่งสารเร่งเนื้อแดงที่ผสมในอาหารสัตว์ เพื่อวัตถุประสงค์เร่งการเจริญเติบโต ลดปริมาณไขมันในเนื้อสัตว์ ตลอดจนเพิ่มปริมาณกล้ามเนื้อ และทำให้เนื้อสัตว์สีแดงน่าบริโภค ซึ่งจะก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค ส่งผลทำให้กล้ามเนื้อสั่น กระตุ้นการเต้นของหัวใจ หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ กระวนกระวาย วิงเวียนปวดศีรษะ ซึ่งในผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ โรคลมชัก โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ตลอดจนหญิงมีครรภ์ จะเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับอันตรายจากสารเร่งเนื้อแดงที่ตกค้างในเนื้อสัตว์และเครื่องมือที่เกี่ยวข้องกับการผลิตจำนวน 9 รายการ ซึ่งเป็นเครื่องมือผลิตยาที่ไม่ผ่านการตรวจสอบ และไม่ได้มาตรฐาน รวมมูลค่าของกลางประมาณ 100,434,840 บาท โดยขณะเข้าตรวจสอบ พบว่าผลิตภัณฑ์ยาสัตว์เป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แต่ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวนั้นมิได้ขึ้นทะเบียนไว้ และสถานที่ผลิตยาสัตว์ทั้ง 3 แห่งมิได้ขออนุญาตเป็นสถานที่ผลิตอาหารสัตว์กับกรมปศุสัตว์อีกด้วย พนักงานเจ้าหน้าที่จึงได้ทำการตรวจยึดของกลางทั้งหมด และจับกุมผู้ต้องหา นำส่งพนักงานสอบสวน กก.2 บก.ปคบ. เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ด้านนายสัตวแพทย์บุญญกฤช ปิ่นประสงค์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเสริมว่า การกระทำดังกล่าว เข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2558 มาตรา 15 ผลิตเพื่อขาย หรือนำเข้าเพื่อขายอาหารสัตว์ควบคุมเฉพาะ ตามมาตรา 6 (1) ต้องได้รับใบอนุญาต โทษตามมาตรา 75 จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 56 (4) ผลิตเพื่อขาย นำเข้าเพื่อขายอาหารสัตว์ที่ต้องขึ้นทะเบียนแต่มิได้ขึ้นทะเบียนไว้ ซึ่งมีโทษตาม มาตรา 86 วรรคแรก จำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึง 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 10,000 ถึง 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ ยังเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ ยา พ.ศ. 2510 มาตรา 12 ผลิต ขาย หรือนำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งยาแผนปัจจุบัน โดยไม่ได้รับใบอนุญาต โทษตาม มาตรา 101 จำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา 72 (4) ผลิต ขาย หรือยาหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งยาที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา โทษตาม มาตรา 122 จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สำหรับของกลางที่ทำการตรวจยึดยาสัตว์ไม่มีทะเบียน 233 รายการ อาหารสัตว์ผสมสารเร่งเนื้อแดง จำนวน 153 กระสอบ น้ำหนักรวม 2,954 กิโลกรัม มูลค่าของกลางรวมทั้งหมด 100,434,840 บาท
กรมปศุสัตว์ ขอฝากเตือนภัย ผู้บริโภคในการเลือกผลิตภัณฑ์ยาสัตว์และอาหารสัตว์ ให้ซื้อจากแหล่งที่มาที่น่าเชื่อถือ เพื่อความปลอดภัย โดยต้องได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมปศุสัตว์ หากเป็นยาหรืออาหารสัตว์ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสัตว์ของท่านได้ ทั้งนี้ หากพบการกระทำลักษณะข้างต้น หรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่สายด่วนกรมปศุสัตว์ 063-225-6888 หรือแจ้งข้อมูลผ่าน Application : DLD 4.0 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือหมายเลขโทรศัพท์สายด่วน บก.ปคบ. 1135