สารวัตรปศุสัตว์ไซเบอร์ กองสารวัตรและกักกัน กองควบคุมอาหาร และปศุสัตว์พื้นที่ 9 กรุงเทพมหานคร ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผูบริโภค (บก.ปคบ.) เข้าตรวจสอบบริษัทแห่งหนึ่ง ในเขตสวนหลวง จังหวัดกรุงเทพมหานคร ภายหลังได้รับเรื่องร้องเรียนผ่านแอปพลิเคชัน DLD 4.0 ว่ามีการขายอาหารเสริมสำหรับสัตว์ ที่ไม่มีทะเบียนผ่านช่องทางออนไลน์ทาง FACEBOOK และ Line official
สารวัตรปศุสัตว์ไซเบอร์ ดำเนินการตรวจสอบย้อนหลับจากผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ควบคุมเฉพาะยี่ห้อหนึ่ง จนพบสถานที่เก็บสินค้า จึงทำการลงพื้นที่ เพื่อเข้าตรวจสอบ พบอาหารสัตว์ควบคุมเฉพาะนำเข้าจากประเทศไต้หวัน จำนวน 76 กล่อง ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
– ขนาดเล็ก บรรจุ 6 ซอง ขนาดบรรจุซองละ 1.5 กรัม จำนวน 7 กล่อง
– ขนาดกลาง บรรจุ 12 ซอง ขนาดบรรจุซองละ 1.5 กรัม จำนวน 69 กล่อง
ซึ่งอาหารสัตว์ควบคุมเฉพาะดังกล่าว ไม่มีการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ควบคุมเฉพาะ จากกรมปศุสัตว์ และมีการจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ไปแล้วเป็นจำนวนมาก ถือเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พุทธศัdราช 2558 ดังนี้
1. มาตรา 56(4) นำเข้าเพื่อขายอาหารสัตว์ที่ต้องขึ้นทะเบียน แต่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ มีโทษตามมาตรา 86 วรรคแรก จำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นถึงหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
2. มาตรา 62 แสดงข้อความโฆษณาอาหารสัตว์อันเป็นเท็จ มีโทษตามมาตรา 94 จำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการเก็บตัวอย่างอาหารสัตว์ควบคุมเฉพาะ จำนวน 3 กล่อง เพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ส่วนประกอบทางห้องปฏิบัติการกรมปศุสัตว์ และยึดอาหารสัตว์ควบคุมเฉพาะดังกล่าวทั้งหมด มูลค่ารวมประมาณ 27,400 บาท เพื่อส่งพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจคลองตัน พร้อมจัดทำบันทึกจับกุม และแบบฟอร์มการควบคุมตัวผู้กระทำความผิด พร้อมทั้งควบคุมตัวผู้กระทำความผิดขึ้นรถตำรวจ ตามมาตรา 22 และ 23 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พุทธศักราช 2565
ปศุสัตว์พื้นที่ 9 เป็นผู้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ ตามคดีอาญาที่ 484/67 เพื่อส่งอัยการฟ้องศาลจังหวัดพระโขนงเพื่อพิจารณาคดีตามกฎหมาย ส่วนผู้กระทำความผิด ทางร้อยเวรดำเนินการฝากขังที่สถานีตำรวจคลองตัน
ทั้งนี้ หากประชาชนต้องการแจ้งเบาะแส หรือข้อมูลเพิ่มเติม สามารถแจ้งได้ที่แอปพลิเคชัน DLD 4.0 หรือสายด่วนกรมปศุสัตว์ 063-225-6888 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง