นายอภัย สุทธิสังข์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม ครั้งที่ 3/2567 โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) กรมปศุสัตว์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ตลอดจนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วม ณ ห้องประชุม 123 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยที่ประชุมเห็นชอบร่างโครงการช่วยเหลือเกษตรกรโคนมภายใต้วิกฤติอาหารสัตว์ราคาแพง เพื่อช่วยเหลือองค์กรเกษตรกรโคนมและเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมเข้าถึงแหล่งสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการบริหารจัดการด้านอาหารสัตว์ ทั้งอาหารข้นและอาหารหยาบบริการแก่สมาชิกในราคาที่เหมาะสม ต่ำกว่าราคาตามท้องตลาดทั่วไป และให้เกษตรกรมีเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการจัดการอาหารสัตว์ในฟาร์ม ตลอดจนการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการฟาร์มเพื่อลดต้นทุนการผลิต ระยะเวลาดําเนินการ 3 ปี (2567 – 2569) โดยมี 2 กิจกรรมหลัก คือ 1. ลดต้นทุนการผลิตโคนมด้านอาหารสัตว์ และ 2. เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโคนม นอกจากนี้ ยังเห็นชอบร่างโครงการช่วยเหลือราคาน้ำนมดิบแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม เพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมสามารถประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน โดยสมทบค่าน้ำนมดิบเป็นระยะเวลา 90 วัน ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้กรมปศุสัตว์ปรับปรุงแก้ไขในรายละเอียดตามข้อคิดเห็นของคณะกรรมการฯ ในที่ประชุม และเสนอโครงการฯ ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา เพื่อเสนอของบกลางต่อไป
พร้อมกันนี้ ที่ประชุมได้รายงานความก้าวหน้าภายใต้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์โคนมและผลิตภัณฑ์นม เรื่องการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมรายย่อย ของสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) เพื่อสนองพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมาร โดยในระยะเร่งด่วน พิจารณาจัดหาแหล่งเงินทุนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมรายย่อย รวมทั้งดำเนินการฟื้นฟูสหกรณ์โคนมทั้ง 8 แห่ง ได้แก่ สหกรณ์โคนมวาริชภูมิ สหกรณ์โคนมหนองโพ สหกรณ์โคนมชะอำห้วยทราย สหกรณ์โคนมไทยเดนมาร์ค สาขาป่าเด็ง สหกรณ์โคนมไทยเดนมาร์ค ห้วยสัตว์ใหญ่ สหกรณ์โคนมไทยเดนมาร์คมิตรภาพ และสหกรณ์โคนมทุ่งเสลี่ยม เพื่อจัดการด้านต้นทุนอาหารสัตว์และขับเคลื่อนการผลิตอาหารข้นราคาถูกให้เป็นรูปธรรม พร้อมทั้งสนับสนุนด้านวิชาการ ให้คำแนะนำ
สำหรับสถานการณ์สินค้าโคนมและผลิตภัณฑ์นมในประเทศ ประจำไตรมาสที่ 2/2567 เดือนมิถุนายน ดังนี้ 1) ด้านการผลิต คาดว่าปริมาณน้ำนมดิบปี 2567 รวมทั้งหมดเป็น 1,079 พันตัน/ปี มูลค่า 22,660 ล้านบาท เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม 16,500 ราย ฟาร์มโคนมที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP 6,322 ฟาร์ม (267,813 ตัว) โคนมทั้งหมด 307,194 ตัว 2) ด้านการแปรรูป ปริมาณน้ำนมดิบที่มี MOU ระหว่างผู้เลี้ยงกับผู้ประกอบการปีงบประมาณ 2567 (ต.ค.65 – ก.ย.67) จำนวน 2,983 ตัน/วัน ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบที่ขึ้นทะเบียนแล้ว 205 ศูนย์ (ผ่าน GMP 186 ศูนย์ ผ่าน GAP 14 ศูนย์) และ 3) ด้านการตลาด ผลผลิตน้ำนมดิบทั้งหมดเข้าสู่อุตสาหกรรมแปรรูปนมพร้อมดื่มและนมโรงเรียน ความต้องการบริโภคนมและผลิตภัณฑ์นมมีปริมาณเพิ่มขึ้น การประกาศราคารับซื้อตามคุณภาพของ Milk Board ส่งผลให้ราคาน้ำนมดิบที่เกษตรกรขายได้หน้าฟาร์มมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยราคาน้ำนมโคที่เกษตรกรขายได้ ไตรมาสที่ 2/2567 (เม.ย.-มิ.ย.) เฉลี่ย 20.95 บาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีแล้วที่ร้อยละ 8.36 และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาร้อยละ 2.05