ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (Pig Board) ครั้งที่ 2/2567 โดยมีนายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้าร่วมประชุมด้วย พร้อมทั้งนายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ ผู้บริหารกรมปศุสัตว์ ผู้แทนหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้ทรงคุณวุฒิ กรรมการภาคเอกชน และผู้แทนสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ
ร้อยเอกธรรมนัส กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบมาตรการเพิ่มเติมในโครงการรักษาเสถียรภาพราคาสุกร จากที่ดำเนินการการตัดวงจร นำลูกสุกรมาทำหมูหันเพื่อลดปริมาณลูกสุกรที่จะเข้าขุน รวมถึงให้กรมปศุสัตว์เร่งผลักดันการส่งออก โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อลดปริมาณผลผลิต ให้สอดคล้องกับความต้องการบริโภคและการส่งออกในปัจจุบัน ซึ่งมาตรการเพิ่มเติมที่สำคัญคือ มอบหมายให้กรมปศุสัตว์ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชน ทบทวนข้อมูลกำลังการผลิตและประสิทธิภาพการผลิตสุกรภายในประเทศ พร้อมกันนี้ให้กำหนดมาตรการปรับลดกำลังการผลิตโดยการปรับลดสุกรแม่พันธุ์ภายในประเทศ โดยขอความร่วมมือจากผู้เลี้ยงรายใหญ่ปรับลดแม่พันธุ์สุกรร้อยละ 10 ของปริมาณแม่พันธุ์ทั้งหมด รวมปริมาณแม่พันธุ์สุกรที่จะปรับลด 78,571 ตัว ดำเนินการในฟาร์มสุกรรายใหญ่ที่มีแม่พันธุ์มากกว่า 1,000 ตัวขึ้นไป จำนวน 230 แห่ง ใช้ระยะเวลาดำเนินการ 3 เดือน เฉลี่ยเดือนละ 26,190 ตัว ทั้งนี้แม่พันธุ์สุกร 1 ตัวจะให้ลูกประมาณ 22 ตัวต่อปี การปรับลดแม่พันธุ์ลง จะส่งผลให้ปริมาณลูกสุกรที่จะเข้าสู่การขุนลดลง
นอกจากนี้ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานที่ประกอบด้วยภาครัฐและเอกชนรวมถึงผู้แทนเกษตรกรรายย่อย เพื่อช่วยเร่งรัดติดตามมาตรการการรักษาเสถียรภาพราคาสุกรต่างๆ ตามที่ Pig Board ได้มีมติเห็นชอบไปแล้ว รวมถึงเสนอให้มีการพิจารณาแนวทางอื่นๆในการรักษาเสถียรภาพราคาสุกรตามความเหมาะสม อาทิเช่น ขอความร่วมมือผู้เลี้ยงสุกรงดจำหน่ายสุกรที่มีน้ำหนักเกิน 110 กิโลกรัมซึ่งจะเป็นการตัดวงจรสุกรขุนให้เร็วขึ้น เป็นต้น ร้อยเอกธรรมนัสกล่าวย้ำว่า โครงการรักษาเสถียรภาพราคาสุกรที่มอบหมายให้กรมปศุสัตว์ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชนดำเนินการมาก่อนหน้านี้ ส่งผลให้ราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง การออกมาตรการเสริมของ Pig Board จะเป็นการรักษาเสถียรภาพราคาสุกรหน้าฟาร์มเพื่อช่วยเหลือผู้เลี้ยงอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรการรายเล็กและรายย่อยที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ห่วงใยเป็นอย่างมาก