อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ หนุนการดำเนินงานสหกรณ์การเกษตรเครือข่ายแกะ-แพะ พัฒนาไปสู่มาตรฐาน GAP พร้อมผลักดันเข้าสู่”อุตสาหกรรม HALAL”

LINE ALBUM 18667 240618 36

นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และคณะผู้บริหารกรมส่งเสริมสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมติดตามการดำเนินงานของสหกรณ์การเกษตรเครือข่ายแกะ-แพะปัตตานี จำกัด ณ ฟาร์มแกะ-แพะ ปรีกีฟาร์ม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นศูนย์เรียนรู้สหกรณ์ฯ ของนายมาหะมะ ตุงยง ประธานกรรมการสหกรณ์ พร้อมเยี่ยมชมฟาร์มแกะ-แพะ บ่อแหนแดง ปุ๋ยหมักจากมูลแพะ ผลิตภัณฑ์มูลแพะ โรงเลี้ยงแพะ คอกผสมพันธุ์ และโรงผสมอาหาร

LINE ALBUM 18667 240618 1

อธิบดีฯ กล่าวภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมว่า ได้ให้คำแนะนำในการดำเนินงาน การลดต้นทุนด้านอาหารเลี้ยงแกะ-แพะ ทั้งอาหารหยาบและอาหารข้น ขอให้สำนักงานสหกรณ์จังหวัดเชื่อมโยงกับแครือข่ายภาคตะวันออกเฉียงเหนือในการนำข้าวโพดมาเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงแพะคราวละมาก ๆ จะช่วยลดต้นทุนในการขนส่งและลดต้นทุนการเลี้ยงให้สมาชิกด้วย ในด้านองค์ความรู้อื่น ๆ นั้น มีการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ และมหาวิทยาลัย เข้ามาให้ความรู้ให้มีการเลี้ยงที่ได้มาตรฐาน GAP ในส่วนกรมส่งเสริมสหกรณ์พร้อมที่จะสนับสนุนงบประมาณ อุปกรณ์การตลาดให้กับสหกรณ์เพื่อใช้ในการผลิตอาหารเลี้ยงแพะ และพัฒนาด้านการตลาดเพื่อยกระดับราคาเนื้อแกะ-แพะต่อไป

LINE ALBUM 18667 240618 2

“สหกรณ์แห่งนี้ เกิดจากการรวมตัวของเกษตรกรที่เลี้ยงแพะเลี้ยงแกะในจังหวัดปัตตานีทั้ง 12 อำเภอในการแนะนำส่งเสริมร่วมบูรณาการกับหน่วยงานในพื้นที่ ทั้งปศุสัตว์จังหวัด เกษตรจังหวัด เกษตรและสหกรณ์จังหวัด ให้ความรู้กับเกษตรกรให้มีการเลี้ยงที่ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะมาตรฐาน GAP ส่วนหนึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์โดยสำนักงานสหกรณ์จังหวัดปัตตานี ได้แนะนำในเรื่องของการลดต้นทุนการผลิต ซึ่งอุปกรณ์การตลาดต่าง ๆ ที่สหกรณ์ต้องการเราจะมาสนับสนุนเพื่อให้เกษตรกรลดต้นทุนค่าใช้จ่ายลงมา เพราะตอนนี้ราคาแพะแกะไม่ดีเท่าที่ควร สิ่งหนึ่งที่จำเป็นก็คือ การให้เกษตรกรลดต้นทุน เครื่องไม้เครื่องมือที่จะสนับสนุนสหกรณ์ได้ คือ เครื่องผสมอาหาร TMR เครื่องสับหญ้า ส่วนองค์ความรู้เรื่องการเลี้ยงแกะ แพะนั้นมีมหาวิทยาลัยต่าง ๆ หน่วยงานในท้องถิ่นมาให้ความรู้กับเกษตรกร ถือเป็นอาชีพหนึ่งเป็นอาชีพที่สำคัญ เพราะพี่น้อง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนใหญ่บริโภคเนื้อแพะ เนื้อแกะ ราคาปัจจุบันอาจจะไม่จูงใจมากนัก เกษตรกรอาจจะต้องรอราคาสักระยะ คาดว่าในอนาคตข้างหน้าหากมีการเปิดตลาดต่างประเทศได้ ราคาแพะ แกะในประเทศก็อาจจะสูงขึ้น เพราะในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะเวียดนาม เรื่องแพะ มีความต้องการ มากพอสมควร ตอนนี้ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำลังพยายามเจรจากับทางเวียดนาม จีน ที่จะนำพวกสัตว์เคี้ยวเอื้อง วัว ควาย แพะ แกะ ออกไปจำหน่ายต่างประเทศให้ได้ ก็จะช่วยยกระดับราคาขึ้นมา ตอนนี้กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ช่วยกันดูแลเรื่องราคา มีการอบรมเรื่องของการตัดแต่งซากให้ถูกต้องตามสุขลักษณะเพื่อให้ได้รับราคาที่ดีขึ้น” อธิบดีฯ วิศิษฐ์ กล่าว

LINE ALBUM 18667 240618 6

สหกรณ์การเกษตรเครือข่ายแกะ-แพะปัตตานี จำกัด เกิดจากการรวมตัวของเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะและแกะในจังหวัดปัตตานี เนื่องจากแพะและแกะถือเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่มีความเกี่ยวข้องกับวิถีมุสลิมในพื้นที่ จึงได้จัดตั้งสหกรณ์เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2558 ปัจจุบันมีสมาชิก 116 คน ด้วยสหกรณ์มีสมาชิกครอบคลุมทั้ง 12 อำเภอของจังหวัดปัตตานี จากการดำเนินงานพบว่าโรงเรือนเลี้ยงของสมาชิกมีจำนวนลดลง ซึ่งในขณะเดียวกันความต้องการบริโภคแพะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีไม่เพียงพอกับความต้องการ ซึ่งสาเหตุที่สมาชิกมีการเลิกเลี้ยงแพะส่วนหนึ่งมาจากปัญหาต้นทุนการเลี้ยงที่สูง

LINE ALBUM 18667 240618 9
นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์

คณะกรรมการดำเนินการจึงมีการขับเคลื่อนงานตามนโยบายเมืองต้นแบบสามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนของจังหวัดปัตตานี และเพื่อให้สหกรณ์เป็นศูนย์รวบรวมและจำหน่ายแพะ แกะ ตามมาตรฐาน GAP พร้อมผลักดันเข้าสู่ตลาดอุตสาหกรรม HALAL บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีสำนักงานสหกรณ์จังหวัดปัตตานีเป็นแกนกลางในการเชื่อมโยงและบูรณาการแผนงานโครงการต่าง ๆ จากหน่วยงานภาคีในจังหวัดปัตตานี และจังหวัดใกล้เคียงร่วมขับเคลื่อน และส่งเสริมการดำเนินการของสหกรณ์ มีหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมปศุสัตว์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดปัตตานี ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรปัตตานี มหาวิทยาลังสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยแม่โจ้

LINE ALBUM 18667 240618 11

จากการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานภาคีต่าง ๆ ทำให้สมาชิกมีโรงเรือนที่ได้มาตรฐาน มีการลดต้นทุนให้กับสมาชิกผู้เลี้ยงแพะ โดยการส่งเสริมให้ใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ที่หาได้ในท้องถิ่น โดยการใช้หัวอาหารสัตว์ ซึ่งเป็นอาหารข้นที่มีการผสมสูตรให้มีค่าโปรตีนสูง นำไปผสมกับวัตถุดิบแหล่งอาหารที่สามารถหาได้เองในท้องถิ่น เช่น มันสำปะหลัง รำ โดยพื้นที่รอบบริเวณโรงเรือน สมาชิกสหกรณ์ได้มีการปลูกหญ้าเนเปีย หญ้าแพงโกล่า ต้นหม่อน กล้วย กระถิน เพื่อใช้สำหรับบดสับเป็นอาหารแกะ-แพะ เพื่อเป็นรายได้เสริมสมาชิกยังสามารถจำหน่ายมูลแพะสด กระสอบละ 50 บาท และยังสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้จากการหมักปุ๋ยจากมูลแพะ กระสอบละ 200 บาท ส่งผลให้สมาชิกมีรายได้เสริม มีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 8,000 – 10,000 บาท/ครัวเรือน/ปี

LINE ALBUM 18667 240618 14

ปัจจุบันสหกรณ์มีแพะขุน 700 ตัว น้ำหนักโดยประมาณ 20-25 กิโลกรัม มีแพะพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ 57 ตัว โดยมีโรงเรือนที่ได้มาตรฐานแล้ว 20 โรงเรือน และมีโรงเรือนที่อยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อให้ผ่านมาตรฐาน 20 โรงเรือน สหกรณ์ได้จัดหาสินค้าเป็นแพะ พ่อพันธุ์แม่พันธุ์ และอาหารแพะ บริการให้กับสมาชิก และสหกรณ์ยังมีบริการเครื่องบดสับหญ้าให้บริการกับสมาชิก โดยคิดค่าบริการ 200 บาท/หญ้า 1 ตัน รวมทั้งได้มีการส่งเสริมสมาชิกทำการเกษตรแบบผสมผสาน โดยการปลูกทุเรียนและส้มโอบูโก ซึ่งเป็นผลไม้อัตลักษณ์พื้นถิ่นของจังหวัดปัตตานี กล้วย มะพร้าว พืชผักสวนครัว โดยการนำปุ๋ยจากมูลแพะมาใช้เพื่อลดการใช้ปุ๋ยเคมี นอกจากนี้ สหกรณ์ได้เข้ารับการอบรมโครงการชำแหละเนื้อแพะ การแปรรูปเนื้อแกะ-แพะ ตลอดจนส่งเสริมให้สมาชิกเป็นผู้ประกอบการการชำแหละชิ้นส่วนแพะจำหน่าย เพื่อเพิ่มปริมาณรายได้ให้กับสมาชิกอีกด้วย

LINE ALBUM 18667 240618 15
LINE ALBUM 18667 240618 22
LINE ALBUM 18667 240618 23
LINE ALBUM 18667 240618 24
LINE ALBUM 18667 240618 25
LINE ALBUM 18667 240618 27