กรมปศุสัตว์ ติวเข้ม จนท.รองรับอุตสาหกรรมสินค้าปศุสัตว์ส่งออก พร้อมแข่งขันในตลาดโลก

ปศุสัตว์จัดอบรมเจ้าหน้าที่รัฐ ติวเข้มสุขลักษณะควบคุมอาหารปลอดภัย นำไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตสินค้าปศุสัตว์ส่งออก พัฒนาศักยภาพแข่งขันได้ในตลาดโลก

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีนโยบายด้านพัฒนายกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรและความปลอดภัยอาหาร เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนผู้บริโภค เกษตรกรมั่นคง ภาคเกษตรมั่งคั่ง และทรัพยากรการเกษตรยั่งยืน กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินงานตามนโยบายอย่างต่อเนื่อง 

สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของกรมปศุสัตว์เป็น “องค์กรที่นำและขับเคลื่อนการปศุสัตว์ไทย สู่ความมั่นคงมั่งคั่ง และยั่งยืนในตลาดโลก” โดยได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีความรู้ความสามารถพัฒนาศักยภาพพร้อมรองรับกับบริบทสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างแข็งแกร่งสามารถนำไปบริหารจัดการองค์กรและปฏิบัติงานได้ 

CBC42B25 FF63 4540 B4D9 A3D7F14FDB88

ซึ่งการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่ผลักดันในภาคปศุสัตว์ไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก จึงได้กำหนดจัดอบรมหลักสูตร “การออกแบบที่ถูกสุขลักษณะในอุตสาหกรรมอาหารตามมาตรฐานสหภาพยุโรป (Hygienic Engineering Design)” จัดโดยสำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ มีผู้ร่วมอบรมจากเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ร่วม 60 ราย และได้มอบหมายนายสัตวแพทย์ โสภัชย์ ชวาลกุล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานพิธีเปิดการอบรม เพื่อให้ผู้อบรมได้รับความรู้ ความเข้าใจในหลักการออกแบบที่ถูกสุขลักษณะในอุตสาหกรรมอาหารตามมาตรฐานสหภาพยุโรปสำหรับสินค้าปศุสัตว์และการประยุกต์ใช้ในโรงงานเพื่อการส่งออก 

รองรับกับบริบทที่เปลี่ยนไปในอุตสาหกรรมการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ และสามารถนำหลักเกณฑ์ที่ได้ไปประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติงานด้านการควบคุมความปลอดภัยอาหารให้สอดคล้องตามมาตรฐาน ข้อกำหนดหรือกฎระเบียบของประเทศผู้นำเข้าเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากประเทศไทย โดยเฉพาะสหภาพยุโรปซึ่งเป็นคู่ค้าหลักที่สำคัญและมีมาตรฐานการผลิตสูง เพิ่มศักยภาพในอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าปศุสัตว์เพื่อการส่งออก สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก นั้น

B06CA3DE 836E 456B B0AE 92BDEBF7BAEE

นายสัตวแพทย์โสภัชย์ ชวาลกุล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เนื่องด้วยคณะกรรมาธิการโครงการมาตรฐานอาหาร (Codex Alimentarius Commission) ได้มีการทบทวนปรับปรุงหลักเกณฑ์มาตรฐานทางด้านสุขลักษณะการผลิตอาหาร General Principle of Food Hygiene (CXC-1969) Revision 5 ซึ่งได้ให้ความสำคัญในการออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมืออุปกรณ์สำหรับอุตสาหกรรมการผลิตอาหารตาม Section 3 Establishment-Design of Facilities and Equipments เป็นพื้นฐานสำคัญในการควบคุมด้านความปลอดภัยอาหาร 

ครอบคลุมตั้งแต่การออกแบบวัสดุโครงสร้างที่ใช้ พื้นผิวสัมผัสอาหาร การระบายน้ำ การจัดวางโครงสร้างและเครื่องจักร การเชื่อมต่อ การเข้ามุมและข้อต่อ การทำความสะอาด และการบำรุงรักษาภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานภาครัฐ สอดคล้องตามกฎระเบียบของสหภาพยุโรป เช่น Regulation 2017/625, 1935/2004, 852/2004, 853/2004 และ Directive 2006/42/EC ดังนั้น เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ผู้ปฏิบัติงานด้านการตรวจประเมินความปลอดภัยอาหารในโรงงานเพื่อการส่งออก มีความรู้ ความเข้าใจ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ปฏิบัติงานและเตรียมความพร้อมสอดคล้องตามมาตรฐานข้อกำหนดหรือกฎระเบียบของประเทศคู่ค้าและมาตรฐานสากล และบริบทที่เปลี่ยนไปในอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าปศุสัตว์เพื่อการส่งออก จึงได้กำหนดจัดอบรมหลักสูตร “การออกแบบที่ถูกสุขลักษณะในอุตสาหกรรมอาหารตามมาตรฐานสหภาพยุโรป (Hygienic Engineering Design)” ระหว่างวันที่ 6-8 กรกฎาคม 2565 ณ โรงแรมแมนดาริน อีสต์วิลล์ พัทยา จังหวัดชลบุรี 

68D8917D C413 477E A1D8 0358CF9471B9

โดยมีเนื้อหาประกอบด้วยด้านนโยบาย หลักคิดมาตรฐาน และการดำเนินงานของหน่วยงาน European Hygienic Engineering Design Group (EHEDG) สหภาพยุโรป กฎระเบียบสหภาพยุโรปที่เกี่ยวข้องด้านสุขลักษณะการผลิต วัสดุโครงสร้าง อุปกรณ์และพื้นผิวสัมผัสอาหาร (Food Contact Materials) อันตรายที่ต้องควบคุม (Hazard in Hygienic Processing) หลักการทำความสะอาดฆ่าเชื้อพื้นที่และอุปกรณ์การผลิต (Cleaning and Disinfection) หลักการออกแบบที่ถูกสุขลักษณะในอุตสาหกรรมอาหาร (Hygienic Design Criteria) หลักการวัสดุโครงสร้างและพื้นผิวสัมผัสอาหาร (Materials Construction in Contact with Food) และหลักการวางโครงสร้างและผังการผลิตในโรงงานอาหาร (Building and Process Layout)

3D691E8E BAF5 4E61 9922 7AA2E755974C

ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์จะมุ่งพัฒนาภาคปศุสัตว์เพิ่มศักยภาพการผลิตให้มีคุณภาพมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง เพื่อก้าวสู่การยกระดับคุณภาพการบริหารจัดการองค์กรสู่ความเป็นเลิศและเป็นกลไกสำคัญให้การส่งออกสินค้าปศุสัตว์ของประเทศไทยสามารถแข่งขันได้อย่างไร้ขีดจำกัดในตลาดโลกต่อไป หากประชาชนต้องการข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมสามารถค้นหาได้ที่ www.dld.go.th หรือที่แอปพลิเคชัน DLD 4.0 หรือสายด่วนกรมปศุสัตว์ 063-225-6888 ได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง