กรมปศุสัตว์ นำทีมเจ้าหน้าที่คุมเข้มการตรวจสอบข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่นำเข้าราชอาณาจักร ภายใต้องค์การการค้าโลก(WTO)
วันนี้ (วันที่ 4 กรกฎาคม 2565) เวลา 13.30 น. นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ มอบหมายให้นายสัตวแพทย์ รักไทย งามภักดิ์ ผู้อำนวยการกองควบคุมอาหารและยาสัตว์ พร้อมคณะ ลงพื้นที่ตรวจสอบการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ณ สถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง ลาดกระบัง
โดยมีคณะอนุกรรมการพิจารณาตรวจสอบการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และวัตถุดิบทดแทน (ข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์) ประกอบด้วย กรมการค้าต่างประเทศ กรมการค้าภายใน กรมศุลกากร สมาคมการค้าพืชไร่สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เข้าร่วมสังเกตการณ์ในการตรวจสอบการนำเข้าครั้งนี้
ซึ่งการนำเข้าครั้งนี้เป็นการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายใต้องค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ในโควตาโดยผู้นำเข้าทั่วไปเป็นครั้งแรก โดยนำเข้าจากประเทศปากีสถาน ปริมาณ 509.45 ตัน ซึ่งกรมปศุสัตว์เข้าดำเนินการตรวจสอบและสุ่มเก็บตัวอย่าง เพื่อตรวจวิเคราะห์คุณภาพมาตรฐานให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ ก่อนที่จะนำไปใช้ผลิตอาหารสัตว์ต่อไป
นายสัตว์แพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์และวัตถุดิบอาหารสัตว์ เพื่อให้การนำเข้า – ส่งออก การผลิต และการขายทั้งอาหารสัตว์และวัตถุดิบอาหารสัตว์ได้คุณภาพมาตรฐาน ตลอดจนมีการเก็บรักษาอย่างถูกวิธีและโฆษณาตามความเป็นจริง สอดคล้องกับเงื่อนไข หลักเกณฑ์ และวิธีการตามพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2558 มีการขึ้นทะเบียน ขอใบอนุญาต และขอใบรับรองระบบประกันคุณภาพอาหารสัตว์หรือใบรับรองอื่นๆ เกี่ยวข้อง เป็นการป้องกันอาหารสัตว์และวัตถุดิบที่ปลอมปน เสื่อมคุณภาพผิดมาตรฐาน หรือไม่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ เพื่อประโยชน์ในการควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์และคุ้มครองความปลอดภัยผู้บริโภค จึงได้สั่งการให้กองควบคุมอาหารและยาสัตว์ลงพื้นที่ตรวจสอบคุณภาพอาหารสัตว์และวัตถุดิบอาหารสัตว์อย่างเข้มงวดต่อเนื่อง
ก่อนหน้านี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(3พ.ค.65) เห็นชอบให้ผ่อนปรนมาตรการภาษีนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายใต้ WTO ในโควตาโดยองค์การคลังสินค้า(อคส.)และผู้นำเข้าทั่วไปเป็นผู้นำเข้าได้ ระหว่างเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม(3 เดือน)ในอัตราภาษีร้อยละ 0 ปริมาณไม่เกิน 6 แสนตัน(ร้อยละ 50)ของความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และวัตถุดิบทดแทน ซึ่งมาตรการนี้ รัฐบาลหวังจะช่วยบรรเทาปัญหาต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์และผ่อนคลายสถานการณ์ต้นทุนในภาคปศุสัตว์ รวมทั้งช่วยให้ประชาชนลดภาระราคาสินค้าปศุสัตว์ที่เพิ่มขึ้น