“แม๊ แม๊ แม่ แม่ ….”
ปัทมา สายตา เจ้าของปัทมาฟาร์มแพะ จ.โสธร เกษตรกรรุ่นใหม่ในวัย 40 ปี บอกกับทีมข่าวว่า ทุกครั้งที่ได้ยินเสียงร้องของแพะ “แม๊ แม๊ แม่ แม่ ….” เหมือนเสียงลูกร้องเรียกเธอว่า แม่ จริงๆ และเธอคือ แม่แพะ
รอยยิ้มและเสียงหัวเราะของปัทมา ระหว่างการพูดคุย สะท้อนความสุขและความภาคภูมิใจของเธอในฐานะเกษตรกร ที่แม้ สถานการณ์โควิด-19 และสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ราคาผลผลิตดิ่งลงเหว สวนทางกับราคาปุ๋ย และราคาอาหารสัตว์ที่พุ่งไม่หยุดฉุดไม่อยู่ จะทำให้ต้นทุนสูง แต่รายได้ลดน้อยลง แต่การวางแผน ทำเกษตรแบบผสมผสาน นอกจากทำนาแล้ว การทำปศุสัตว์คือความหวัง และเป็นรายได้หลักของเกษตรกร
ปัทมาและครอบครัวเริ่มทำฟาร์มแพะตั้งแต่ปี 2559 เริ่มจากการทดลอง ลงทุนทำโรงเรือนง่ายๆ ไม่มีความรู้ แพะป่วยตายเกือบยกคอก ก่อนตัดสินใจเริ่มอบรมเรียนรู้การเลี้ยงอย่างจริงจังจากเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ จากนั้นจึงชวนเพื่อนบ้านให้หันมาเลี้ยงเป็นเครือข่าย เพราะเมื่อเวลาส่งขาย จะมีจำนวนที่มากพอกับความต้องการของพ่อค้าที่จะมารับซื้อถึงฟาร์ม และเริ่มหันมาแปรรูปผลิตภัณฑ์อื่นๆ ทั้งเนื้อแดดเดียว สบู่นมแพะ และยังสามารถขายขี้แพะเป็นปุ๋ยคอกได้อีกด้วย
ประสบการณ์จากความผิดพลาด และการเรียนรู้ฝึกอบรม เรื่องการจัดการฟาร์ม การดูแลสุขภาพสัตว์ การรักษาโรคและการใช้ยาที่มีประสิทธิภาพ ถูกนำไปถ่ายทอดให้เพื่อนๆเครือข่าย ปัจจุบัน ปัทมา สามารถจัดตั้งเป็น กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ ต.กุดกุง อ.คำเขื่อนแก้ว จ.ยโสธร มีสมาชิก 15 ราย จดทะเบียนเป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ กับสำนักงานเกษตรอำเภอ เพื่อฏิบัติตามที่เจ้าหน้าที่แนะนำ
ปัทมาฟาร์มแพะ พร้อมเปิดให้เกษตรกรที่สนใจเข้ามาเรียนรู้การเลี้ยงแพะ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพราะเธอมองว่า เกษตรกรควรได้รับโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนา ที่สำคัญ ฟาร์มแพะของเธอได้เข้าร่วมโครงการ ได้รับการสนับสนุนจากกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) มีเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์มาตรวจฟาร์ม และตรวจสุขภาพสัตว์เกือบทุกเดือน
โดยเฉพาะก่อนขายแพะ เจ้าหน้าที่ตรวจเลือด และทำเอกสารเคลื่อนย้ายสัตว์อย่างถูกต้อง ทำให้เกษตรกรมีความมั่นใจ ทั้งการซื้อขายพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่แข็งแรงสมบูรณ์ หรือขายแพะขุนที่แข็งแรงขนส่งอย่างถูกกฎหมาย ทำให้เกษตรกรมีรายได้ ที่สำคัญตลาดเพื่อนบ้านยังต้องการแพะขุนอย่างต่อเนื่อง แม้ราคาจะลดต่ำลง แต่เกษตรกรก็ยังพอมีกำไร และพยายามปรับตัว หากอาหารสัตว์แพง ก็ต้องขยันปลูกหญ้า ตัดต้นกระถินให้กินเสริมมากขึ้น
ปัทมา สายตา เจ้าของปัทมาฟาร์มแพะ ย้ำว่า การที่เกษตรกรจะเข้มแข็ง และประสบความสำเร็จ ต้องอาศัยพี่เลี้ยง หรือเจ้าหน้าที่จากกรมปศุสัตว์ ที่คอยติดตามให้คำแนะนำอย่างสม่ำเสมอ
ด้านนายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า กรมปศุสัตว์ ได้จัดตั้งศูนย์เครือข่ายศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรด้าน
ปศุสัตว์ หรือ ศพก. เครือข่ายด้านปศุสัตว์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 จนปัจจุบันมี ศพก. เครือข่ายด้านปศุสัตว์ ทั้งสิ้น 2,646 ศูนย์ ในทุกอำเภอทั่วประเทศ ทำหน้าที่เป็นศูนย์เรียนรู้ ขยายเป็นเครือข่ายในการให้ความรู้และข้อมูลข่าวสารด้านปศุสัตว์ เพื่อให้เกษตรกรได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเกษตรกรต้นแบบ ในลักษณะของเกษตรกรสอนเกษตรกร เพื่อนสอนเพื่อน
ทำให้เกษตรกรที่มาเรียนรู้เกิดความรู้ ความเข้าใจ ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร สามารถใช้ปัจจัยการผลิตได้อย่างเหมาะสม และนำองค์ความรู้ที่ได้รับจาก ศพก. ไปประยุกต์ใช้เพื่อลดต้นทุนการผลิต เพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิตสินค้า สิ่งที่กรมปศุสัตว์ทำคือการสร้างเครือข่ายเกษตรกรที่ได้รับการพัฒนาให้เข้มแข็ง มีความรู้ความเข้าใจ สามารถวางแผนการเลี้ยง และการตลาดอย่างเป็นระบบ เพื่อทำให้อาชีพเลี้ยงสัตว์เป็ฯอาชีพที่สร้างความสุข และรายได้ให้เกษตรกรอย่างมั่นคง
สนใจเข้ามาชมฟาร์ม ศึกษาเรียนรู้การเลี้ยงติดต่อทาง เพจเฟซบุ๊ก : ปัทมาฟาร์มแพะคำเขื่อนแก้ว หรือสอบถามได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 096-6946976