นอกจากความสวยงามของกลุ่มหินเทิบบนอุทยานแห่งชาติภูผาเทิบ หากนักท่องเที่ยวสังเกตระหว่างเส้นทางเดิน จะพบต้นหญ้าสีแดงสะดุดตาตามลานหิน บางพื้นขึ้นอย่างหนาแน่นสีแดงเป็นแนวยาว เหมือนเป็นพรมแดงตามธรรมชาติที่สวยงาม คอยต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือน บันทึกของพรรณไม้วันนี้เราจะมาทำความรู้จัก “หญ้าน้ำค้าง” ให้มากขึ้นกัน
“หญ้าน้ำค้าง” หรือมีชื่อเรียกอื่น ๆ อาทิ หยาดน้ำค้าง, หนามเดือนห้า, มะไฟเดือนห้า, หญ้ายองไฟ และหมอกบ่วาย มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Drosera indica L. จัดอยู่ในวงศ์ Droseraceae เป็นพืชล้มลุกขนาดเล็ก ลำต้นอ่อนทอดตัวไปตามพื้นดิน สูงประมาณ 5-25 เซนติเมตร ผิวลำต้นปกคลุมด้วยขนชัดเจนตลอดทั้งลำต้น ที่น่าอัศจรรย์ คือ หญ้าน้ำค้างเป็นเพชฌฆาตแมลง เพราะพืชกินแมลง โดยใช้ความสวยงามของใบที่เป็นเส้นยาวเรียวประมาณ 2-7 เซนติเมตร ปลายม้วนงอเป็นวง มีขนสีแดงทั่วใบ ปลายขนมีต่อมน้ำใสเหนียว ดูแวววาวคล้ายหยดน้ำค้างในยามเช้า ใช้หลอกล่อให้แมลงมาติดกับ หญ้าน้ำค้างมีดอกที่สวยงาม ซึ่งจะออกดอกช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคม สีม่วงหรือชมพู ซึ่งดอกจะบานในตอนเช้า และหุบในตอนบ่าย หญ้าน้ำค้างเกิดขึ้นตามธรรมชาติจะพบได้ตามทุ่งหญ้า พื้นที่โล่ง ลานหินที่ค่อนข้างชื้นแฉะหรือมีน้ำขัง
นอกจากนั้น หญ้าน้ำค้างยังมีสรรพคุณเป็นยาสมุนไพร โดยตำรายาพื้นบ้านทางภาคอีสาน จะใช้ทั้งต้นแห้งดองเหล้าดื่ม แก้ท้องมาน และตับอักเสบ ส่วนต้นสดขยี้ทาแก้กลากเกลื้อน ส่วนตำรายาไทยใช้ ทั้งต้น นำไปต้มน้ำดื่ม บำรุงธาตุ ส่วนของใบนำไปต้มน้ำดื่มเพื่อบำรุงหัวใจ ขับระดู ขับพยาธิ แก้ตับอักเสบ ใช้ภายนอกแก้กลากเกลื้อน
ที่มา : อุทยานแห่งชาติภูผาเทิบ
เพจ : อุทยานแห่งชาติภูผาเทิบ – Phu Pha Thoep National Park