หนอนตายหยาก พืชสมุนไพรทางภาคเหนือที่ไม่ได้มีดีเพียงแค่ใช้เป็นยาสมุนไพรเท่านั้น แต่หนอนตายหยากยังเป็นพืชล้มลุกที่สามารถนำมาใช้กำจัดศัตรูพืชตัวร้ายที่คืบคลานเข้ามาทำลายผลผลิตพืชในสวนในไร่ ทำให้ผลผลิตในทางเกษตรเสียหายและเสียราคา
หนอนตายหยาก นั้น เป็นพืชพื้นเมืองของทางภาคเหนือ มีชื่อเรียกตามภาษาท้องถิ่นหลายชื่อ ไม่ว่าจะเป็น ปงช้าง โป่งมดงาม สลอดเชียงคำ และกะเพียดหนู โดยพืชหนอนตายหยากสามารถเพาะพันธุ์ได้ด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ การเพาะเมล็ด แต่ในบางสายพันธุ์ก็ติดเมล็ดยาก จึงใช้วิธีการแบ่งเหง้าในการขยายพันธุ์แทน การเพาะเลี้ยงหนอนตายหยากก็เพื่อใช้แปรรูปเป็นยากำจัดศัตรูพืชต่าง ๆ ของเกษตรกรในพื้นที่ ทั้งยังถือเป็นการใช้วิธีการกำจัดศัตรูพืชแบบไม่ต้องพึ่งพาสารเคมีด้วย ถือว่าเป็นวิธีที่สามารถกำจัดศัตรูพืชได้ง่าย ๆ ทั้งยังเหมาะกับการปลูกพืชผักแบบปลอดสารพิษเป็นอย่างมากอีกด้วย
หนอนตายหยาก เป็นไม้เถาเลื้อยขนาดเล็ก ลำต้นกลม เลื้อยได้ไกลเกือบ 5 เมตร ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงกันข้าม ก้านใบยาว ใบเป็นรูปหัวใจ ปลายแหลม โคนใบกว้างและเว้าลึกเป็นรูปหัวใจดังกล่าว มีเส้นแขนงใบแทงขึ้นจากโคนใบอย่างชัดเจน รากหรือหัวของต้น “หนอนตายหยาก” เป็นกระจุกหรือรูปกระสวย เนื้อในหัวเป็นสีขาวมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว
ประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัด
หนอนตายหยาก ใช้ป้องกันกำจัดหนอนแมลงวัน ป้องกันกำจัด แมลงศัตรูพืช ยับยั้งการกินของหนอนกระทู้หอม หนอนใยผัก หนอนแมลงวัน มีความเป็นพิษต่อลูกน้ำยุง
วิธีการใช้ป้องกันกำจัดศัตรูพืช
นำรากหนอนตายหยาก สับเป็นชิ้นเล็ก ๆ ปริมาณ 1 กิโลกรัม ผสมน้ำ 20 ลิตร กวน หมักไว้ค้างคืน กรองเอาน้ำไปฉีดพ่นพืชผักทันที ฉีดพ่น ทุก 3-5 วัน ใช้น้ำให้หมดทุกครั้ง ไม่ควรเก็บไว้เพราะราจะขึ้น