รู้จักยัง.. “จอกหูหนูยักษ์” ปีศาจสีเขียว

“จอกหูหนูยักษ์” (Giant Salvinia : Salvinia molesta D.S. Mitchell) เป็น “เฟิร์นน้ำต่างถิ่น”ที่รุกรานมากที่สุด และถูกจัดว่าเป็น “วัชพืชร้ายแรงที่สุดของโลก”ชนิดหนึ่งด้วย

ประเทศไทยได้ประกาศพืชชนิดนี้เป็นสิ่งต้องห้าม เนื่องจากเป็นศัตรูพืชกักกันตั้งแต่ธันวาคม 2521 และยังคงสภาพการเป็นสิ่งต้องห้ามในประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กําหนดศัตรูพืชเป็นสิ่งต้องห้ามตาม พระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2550 วันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2550

“จอกหูหนูยักษ์” มีถิ่นกําเนิดในทวีปอเมริกา ทางตะวันออกเฉียงใต้ของบราซิล ถูกจัดว่าเป็นพืชต่างถิ่นที่รุกรานที่สุดชนิดหนึ่งของโลก เนื่องจากเกิดผลกระทบต่อแหล่งน้ำและความหลากหลายทางชีวภาพของแหล่งน้ำ เช่น ที่แม่น้ำเซปิคในปาปัวนิวกินี มีการชักนํา “จอกหูหนูยักษ์ “เข้าไปเพียง 2-3 ต้นในปีค.ศ.1972 หลังจากนั้น 8 ปีสามารถปกคลุมพื้นที่มากถึง 250 ตารางกิโลเมตร (156,250 ไร่) น้ำหนักสดประมาณ 2.2 ล้านตัน ชีวิตของประชาชนประมาณ 80,000 คน ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก เนื่องจากวิถีชีวิตทั้งหมดขึ้นกับแหล่งน้ำ เช่น การเดินทาง แหล่งอาหารโปรตีนจากปลาในแม่น้ำ

ลักษณะพืช เป็น “เฟิร์นลอยน้ำ” ไม่ยึดเกาะกับดิน ไม่มีรากที่แท้จริง ลําต้นทอดยาวอยู่ใต้ผิวน้ำเล็กน้อย แต่ละข้อมีใบ 1 คู่ อยู่เหนือผิวน้ำ สีเขียว รูปไข่ ยาวเล็กน้อย และใบที่สามเปลี่ยนรูปเป็นเส้นเล็ก ๆ สีน้ำตาลจํานวนมาก อยู่ใต้น้ำ ทําให้เข้าใจว่าเป็น ราก ใบ

ส่วนนี้อาจยาวมาก แกว่งไปมาในน้ำ เป็นการช่วยให้พยุงให้ “พืชลอยน้ำ”อยู่ได้อย่างมั่นคง และเป็นที่สร้างสปอโรคาร์ป ใบด้านบนปกคลุมด้วยขนแข็ง สีขาว แต่ละเส้นแยกออกเป็นแขนงย่อย 4 เส้น ที่ปลายเชื่อมกันเหมือนซี่กรงขนาดเล็ก ขนเหล่านี้อาจเสียหายหรือเห็นไม่ชัดเจนเมื่อใบแก่ ขนที่มีโครงสร้างพิเศษนี้ป้องกันมิให้ใบเปียกน้ำ ทําให้ไม่จมน้ำขณะที่ยังสดอยู่

การเจริญเติบโตของ “จอกหูหนูยักษ์” ส่วนที่เห็นได้ชัดเจน คือ ใบ ซึ่งมีขนาดเล็กถึงขนาดใหญ่ ยาวประมาณ 4 เซนติเมตร ใบอ่อนที่เกิดในช่วงที่ยังไม่มีการเบียดเสียดกันจะมีลักษณะกลม แบน ลอยอยู่ปิ่มน้ำ เมื่อมีจํานวนประชากรเพิ่มขึ้น หรือกลุ่มมีขนาดใหญ่ขึ้น ขอบใบจะม้วนขึ้น เป็นการตอบสนองต่อการแข่งขันกันเอง

ดังนั้นเมื่อโตเต็มที่ใบก็จะอยู่ในตําแหน่งแนวตั้ง อัดกันแน่นเป็นเสมือน “เสื่อผืนใหญ่”

“จอกหูหนูยักษ์ “ มีการขยายพันธุ์ที่มีประสิทธิภาพ คือ การแตกยอดใกล้จากซอกใบของต้นเดิม และสามารถแตกออกไปได้เรื่อย ๆ ลําต้นหักง่าย ส่วนที่หลุดออกไปก็สามารถเจริญเติบโตเป็นต้นใหม่ได้ เจริญเติบโตได้ดีในสภาพน้ำนิ่ง หรือกระแสน้ำไม่แรงนักในสภาพที่เหมาะสม “จอกหูหนูยักษ์ ” สามารถเจริญเติบโตเพิ่มปริมาณเป็น 2 เท่า ใน 2-4 วัน

“จอกหูหนูยักษ์” 1 ต้น อาจเจริญเติบโตเป็นแพปกคลุมพื้นที่มากกว่า 40 ตารางไมล์หรือ 64,750 ไร่ ในเวลาเพียง 3 เดือน น้ำหนักสดถึง 64 ตันต่อไร่ ซึ่งใกล้เคียงกับผักตบชวา

ปีที่แล้วสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศ ได้ตั้งคำถามถึงจอกหูหนูยักษ์ ผ่านทางเพจสมาคมไว้น่าสนใจ

วัชพืชน้ำร้ายแรง…”จอกหูหนูยักษ์” อาจได้อวดสายตาชาวโลกใน #งานมหกรรมพืชสวนโลก จ. อุดรธานี ปี 2569

แต่ปัญหายังติดอยู่ตรงที่..จอกหูหนูยักษ์ ยังติดอยู่ในบัญชีรายชื่อสิ่งต้องห้าม ตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 แก้ไข พ.ศ. 2521 2550 และ 2551 ซึ่งกรมวิชาการเกษตรเป็นผู้กำกับดูแล ได้ประกาศให้ “จอกหูหนูยักษ์” เป็น “สิ่งต้องห้าม”ลำดับที่ 349 ห้ามมิให้ผู้ใดนำเข้ามาในราชอาณาจักรไทยตั้งแต่ปี 2521แต่ขณะนั้นใช้ชื่อว่า”เฟิร์นน้ำซาลวิเนีย”

บทลงโทษ คือ “หากผู้ใดครอบครองสิ่งต้องห้าม จะต้องเป็นผู้ทำลาย และหากเจ้าหน้าที่เป็นผู้ทำลาย สามารถเรียกเก็บค่าเสียหายจากผู้ครอบครองได้ และผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ขัดขืน ขัดขวาง การกระทำ การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

ปี 2565 มีรายงานว่าพบ “จอกหูหนูยักษ์” ระบาดไปทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่หนองหาน-กุมภวาปี จ. อุดรธานี หรือ ชาวบ้านเรียกว่า “#ทะเลบัวแดง” พื้นที่ 22,000 ไร่ มีปริมาณจอกหูหนูยักษ์อยู่มากกว่า 2 ล้านตัน ทำให้เรือนำนักท่องเที่ยวชมความงามของทะเลบัวแดง ไม่สามารถวิ่งรับผู้โดยสารได้เพราะ มีจอกหูหนูยักษ์ มีความหนาแน่นมาก

ที่จริง.การระบาดของ “จอกหูหนูยักษ์” ใน จังหวัดอุดรธานี เริ่มต้นในปี 2560 ในจำนวนไม่มาก แต่”จอกหูหนูยักษ์” ขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว เพียง 1 ต้นสามารถ เพิ่มปริมาณครอบคลุมพื้นที่ 64,750 ไร่ ได้ ในระยะเวลาเพียง 3 เดือน ซึ่งเร็วกว่าผักตบชวาหลายเท่า ถึงแม้ว่าชุมชนร่วมแรง ร่วมใจ กันกำจัดโดยการเก็บต้นจอกหูหนูยักษ์ ไปทิ้งนอกพื้นที่แหล่งน้ำ ..แต่ก็ทำได้แค่เพียงปีละ 10% เท่านั้น

%E0%B8%88%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%AB%E0%B8%B9

การดูแลรักษาแหล่งน้ำ เป็นเรื่องที่มีหน่วยงานรับผิดชอบมากมาย ยกตัวอย่างเช่นในบริเวณเขื่อน อ่างเก็บน้ำ คลองส่งน้ำเพื่อใช้ในการเกษตร อยู่ในความรับผิดชอบของ #กรมชลประทาน

ส่วนในพื้นที่เพาะพันธุ์สัตว์น้ำเช่นบึงบอระเพ็ดและอีกหลายแห่งทั่วประเทศ อยู่ในความรับผิดชอบของ #กรมประมง

ในพื้นที่แม่น้ำที่ใช้สัญจรไปมาทางน้ำ อยู่ในความรับผิดชอบของ #กรมเจ้าท่า

ในพื้นที่ แหล่งน้ำของชุมชน อยู่ในความรับผิดชอบของ อบต. และ อบจ.

ดังนั้น การจัดการวัชพืชร้ายแรงตัวนี้คงไม่สามารถดำเนินการได้เฉพาะหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง หากทุกหน่วยงานทำงานร่วมกัน และบูรณาการวิธีป้องกันกำจัดที่มีประสิทธิภาพ เราคงกำจัด จอกหูหนูยักษ์” และวัชพืชน้ำชนิดอื่น ๆ ให้หมดไปจากประเทศไทยได้โดยเร็ว

สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ อีก 4 ปีข้างหน้า ในงานมหกรรมพืชสวนโลกที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพ เราคงไม่ได้อวดความงดงามของทะเลบัวแดง แต่อาจจะได้อวด “จอกหูหนูยักษ์ ..วัชพืชกักกันร้ายแรง “แทน

นอกจากจังหวัดอุดรธานีแล้ว ยังมีรายงานว่าพบ “จอกหูหนูยักษ์” ระบาดในพื้นที่แหล่งน้ำอีกหลายจังหวัดได้แก่ สกลนคร กาฬสินธุ์ ลำปาง เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ กาญจนบุรีสมุทรสงคราม สงขลา ที่เป็นพื้นที่รวมกันหลายหมื่นไร่ นอกจากนั้นยังพบว่า เจ้าหน้าที่ปล่อยให้มีการซื้อขายจอกหูหนูยักษ์ ทางออนไลน์ ใน Shopee และ Lazada อีกด้วย

แบบนี้เรายังสมควรเรียก “#จอกหูหนูยักษ์” ว่า เป็น “#สิ่งต้องห้าม” “#วัชพืชกักกัน” อยู่อีกหรือไม่ งานนี้..กรมวิชาการเกษตรเท่านั้น.ที่ต้องออกมาชี้แจงให้สังคมรับทราบ…..]

วันนี้ จอกหูหนูยักษ์ได้ได้ส่งผลต่อระบบนิเวศน์ในหลายพื้นที่เอางัยกันหละทีนี้….