การปลูกพืชเพื่อมุ่งหารายได้จากการค้า มักจะพบกับประเด็นปัญหาและคำถามว่า มุ่งทำเงินอย่างเดียวแต่ไม่ดูแลเรื่องอื่น ๆ สวพ.8 กรมวิชาการเกษตร จึงขอนำเสนอ “model 9 พืชผสมสานพอเพียง” เป็นการปลูกพืชในครัวเรือน ชุมชน ที่ตอบโจทย์เพื่อเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่เพื่อสังคมและเพื่อสิ่งแวดล้อม ดังนี้
1. กลุ่มพืชอาหาร
เป็นการปลูกพืชเพื่อความมั่นคงทางอาหาร ปลูกเองกินเอง ปลอดภัยและลดค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะการเพิ่มปริมาณการปลูกพืชอาหารที่ใช้เป็นเครื่องแกง พืชผัก และไม้ผล เพื่อบริโภคในครัวเรือน วิธีการพัฒนา สำรวจ ทำบัญชี พืชที่ต้องใช้เป็นอาหารประจำวัน แล้วปลูกเพิ่มชนิดที่ยังไม่พอ ทำแบบง่าย ๆ เช่น การปลูกในภาชนะต่าง ๆ ปลูกทุกอย่างที่จะกิน
2. กลุ่มพืชรายได้
เป็นพืชที่เป็นรายได้หลักครอบครัว วิธีการพัฒนา วิเคราะห์ประสิทธิภาพการผลิต หาเทคโนโลยีในการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต เพิ่มคุณภาพ แปรรูป และสร้างมูลค่าจากจุดเด่นต่าง ๆ
3. กลุ่มพืชสมุนไพรสุขภาพ
เป็นการเพิ่มปริมาณพืชและการใช้ประโยชน์พืชที่ใช้บรรเทาอาการเจ็บป่วยเบื้องต้นโดยไม่ต้องใช้ยาเคมีซึ่งหลายชนิดให้ผลข้างเคียงที่ทำลายสุขภาพ ตลอดจนสมุนไพรที่เป็นยาตำรับไทยใช้รักษาโรค
4. กลุ่มพืชสมุนไพรป้องกันกำจัดศัตรูพืช
เป็นการเพิ่มปริมาณพืชและการใช้ประโยชน์สารสกัดจากพืชเพื่อป้องกันกำจัดศัตรูพืช ใช้ทดแทนสารเคมี ปลูกพืชที่นำมาใช้ผลิตสารสกัดเช่น สะเดา ข่า ตะไคร้หอม เป็นต้น รวมทั้งมีการผลิตน้ำส้มควันไม้
5. กลุ่มพืชอนุรักษ์ดินและน้ำ
เป็นพืชที่ปลูกเพื่อบำรุงดิน ป้องกันการชะล้างดิน ช่วยรักษาความชื้นในดิน เช่น ปอเทือง แฝก พืชตระกูลถั่วต่าง ๆ
6. กลุ่มพืชอาหารสัตว์
เป็นการเพิ่มปริมาณพืชอาหารสัตว์ให้เพียงพอต่อการเลี้ยงสัตว์ ซึ่งนอกจากลดต้นทุนและยังทำให้สัตว์โตเร็ว เช่น อ้อยอาหารสัตว์ หญ้าหวายข้อ หญ้ามัน หญ้าแพงโกล่า หญ้าก้านแดง หญ้าขน เนเปียร์ปากช่อง และอื่น ๆ
7. กลุ่มพืชใช้สอย
เป็นการปลูกพืชเพื่อใช้เนื้อไม้ หรือทำค้าง ซึ่งสามารถปลูกเป็นแปลงและบนคันนา เช่น ตะเคียนทอง มะฮอกกานี กระถินเทพา ยางนา เป็นต้น
8. กลุ่มพืชอนุรักษ์พันธุกรรมท้องถิ่น
เป็นการปลูกพืชประจำถิ่น เพื่ออนุรักษ์ ขยายพันธุ์พืชที่กำลังสูญหายและจัดกิจกรรมรณรงค์ให้ชุมชนตระหนักถึงความสำคัญ เป็นพืชที่ให้คุณค่าทางสังคมและวัฒนธรรม
9. กลุ่มพืชพลังงานหรือเชื้อเพลิง
เป็นพืชที่นำมาใช้ประโยชน์ใกล้ตัวคือเป็นเชื้อเพลิง เช่น แคนา มะฮอกกานี สน หรือพืชทดแทนพลังงานอย่างปาล์มน้ำมัน รูปแบบการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ปลูกแบบผสมสานทั้งเป็นแปลงปลูกพืชและบนคันนา
ที่มา : สวพ.8 กรมวิชาการเกษตร