เปิดวิธีเลือกทำเลสร้างฟาร์มเลี้ยงสัตว์อย่างมืออาชีพ

ในการเลี้ยงสัตว์ ถ้าเป็นการเลี้ยงแบบหลังบ้านหรือแบบงานอดิเรก ทำเลสร้างฟาร์มเลี้ยงสัตว์ไม่ค่อยมีปัญหา เพียงแต่เลือกที่ใดที่หนึ่งในบริเวณบ้านหรือที่ดินของตนให้เหมาะสม เนื่องจากปริมาณสัตว์ที่เลี้ยงไม่ค่อยมาก แต่ในการเลี้ยงเป็นอาชีพหลัก ทำเลหรือสถานที่ในการเลี้ยงนับว่าเป็นสิ่งสำคัญที่มีผลกระทบต่อความสำเร็จหรือล้มเหลวในการทำฟาร์มได้ ดังนั้น ผู้เลี้ยงจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยมีวิธีการเลือก ดังนี้ 

1.  สถานที่ควรอยู่ห่างไกลจากชุมชนและผู้เลี้ยงรายอื่น ๆ พอสมควร เนื่องจากการเลี้ยงสัตว์เป็นจำนวนมาก ปัญหาเรื่องกลิ่นมูลสัตว์และเสียงร้อง อาจรบกวนผู้อื่นเป็นปัญหาถึงขั้นต้องย้ายฟาร์มได้ และการทำฟาร์มในแหล่งที่มีการเลี้ยงสัตว์หนาแน่น หรือใกล้โรงงานฆ่าสัตว์ อาจเกิดปัญหาโรคระบาดมาสู่ฟาร์มได้ง่าย อีกทั้งปัจจุบันการจะทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์ในชุมชน จะต้องได้รับอนุญาตจาก เทศบาล หรือ อบต. ก่อน จึงจะสามารถสร้างฟาร์มได้ ควรต้องศึกษากฎระเบียบของพื้นที่ให้ดีก่อน

%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B9%83%E0%B8%95%E0%B9%89
วิธีเลือกทำเลสร้างฟาร์มเลี้ยงสัตว์

2. ต้องอยู่ในทำเลที่เหมาะสม ใกล้กับตลาด ชุมชน และสะดวกในการขนส่ง การอยู่ใกล้ตลาดรับซื้อและแหล่งผลิตอาหารสัตว์ ทำให้ประหยัดต้นทุนค่าขนส่ง ทั้งในด้านการขนส่งตัวสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ไปจำหน่าย และการซื้ออาหารสัตว์เข้ามาเลี้ยงสัตว์ในฟาร์ม ระบบไฟฟ้าและอินเตอร์เน็ตต้องดี เพื่อรองรับการทำตลาดแบบออนไลน์ ซึ่งช่วยกระตุ้นยอดขายให้กับฟาร์มได้อีกช่องทางหนึ่ง

%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B9%83%E0%B8%95%E0%B9%89 1
วิธีเลือกทำเลสร้างฟาร์มเลี้ยงสัตว์

3. ศัตรูของสัตว์ ควรเลือกพื้นที่ที่มีศัตรูของสัตว์ให้น้อยที่สุดหรือไม่มีเลย ศัตรูของสัตว์เลี้ยงนอกจากพวกสัตว์ด้วยกัน เช่น งู เหยี่ยว พังพอน สุนัข ฯลฯ แล้ว ศัตรูที่สำคัญที่สุดก็คือ คน ถ้าทำเลที่ตั้งฟาร์มอยู่ในแหล่งที่มีขโมยชุกชุม คนมีนิสัยไม่ดีคอยแกล้งหรือจ้องลักขโมยตลอดเวลา กิจการก็จะสะดุดได้

4. ดิน แม้ว่าในหลักการโดยทั่วไปจะพิจารณาว่าดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ปลูกพืชได้ไม่ดี จึงนำมาใช้ทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์ แต่ในทางปฏิบัติสำหรับผู้จะทำฟาร์ม โดยเฉพาะสัตว์ประเภทที่กินหญ้า หรือจำเป็นต้องปลูกพืชอาหารสัตว์เอง การเลือกทำเลที่ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง มีการระบายน้ำดี น้ำไม่ท่วม เป็นสิ่งจำเป็นในการผลิตพืชอาหารสัตว์ให้ได้ผลผลิตมากๆ เพียงพอสำหรับใช้ในการเลี้ยงสัตว์ในฟาร์ม หรือไว้จำหน่ายให้กับฟาร์มอื่นๆ ได้

5. น้ำ ควรมีน้ำคุณภาพดีและมีพอเพียง น้ำสะอาดเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสัตว์ในการเติบโตและให้ผลผลิต ฟาร์มบางแห่งต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงในการกรองน้ำหรือทำน้ำให้สะอาดพอให้สัตว์ดื่มกินได้ เนื่องจากคุณสมบัติของน้ำไม่เหมาะสม และบางแห่งก็จำเป็นต้องหยุดกิจการหรือลดขนาดของฟาร์มลง เนื่องจากปัญหาขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะในฤดูแล้ง การพิจารณาเลี้ยงสัตว์ที่ใช้น้ำไม่มาก เช่น สัตว์ปีก หรือสัตว์ขนาดเล็ก จึงเหมาะสมกับพื้นที่ที่มีน้ำน้อย หรือแห้งแล้ง

6. ควรมีพื้นที่เพียงพอ เพื่อไม่ให้สัตว์อยู่อย่างแออัด และสามารถขยายกิจการในอนาคตได้ เมื่อกิจการเจริญขึ้น การขยายกิจการฟาร์มโดยอยู่ในพื้นที่เดียวกัน นับว่าประหยัดและสะดวกในการควบคุมดูแลมากกว่าการแยกฟาร์มเป็น 2 หรือ 3 แห่ง

7. ทำเลที่ตั้งฟาร์มนั้นควรมีกลุ่มสหกรณ์ หรือกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากหากมีกลุ่มในพื้นที่ การเข้าร่วมกับกลุ่มจะช่วยลดความเสี่ยงต่างๆ ลงได้ อีกทั้งยังมีหน่วยงานของรัฐ และหน่วยงานต่างๆ เช่น ธกส. เกษตรและสหกรณ์จังหวัด คอยสนับสนุนหรือให้ความช่วยเหลือ ทำให้มีโอกาสประสบความสำเร็จได้ง่าย แต่หากไม่มีก็ค่อย ๆ รวบรวมสมาชิกแล้วจัดตั้งกลุ่มกันก็ยังไม่สายเกินไป 

ที่มา-สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ( องค์การมหาชน)