​พาณิชย์ ชี้เป้าส่งออก “อาหารและผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์เลี้ยง” เจาะตลาดฟิลิปปินส์

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ชี้เป้าส่งออก “อาหารและผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์เลี้ยง” ขยายตลาดในฟิลิปปินส์ หลังชาวฟิลิปปินส์นิยมเลี้ยงสัตว์ ทำให้มีความต้องการสินค้ากลุ่มนี้เพิ่มสูงขึ้น แนะต้องรักษาจุดแข็งในเรื่องคุณภาพ มาตรฐาน กำหนดกลยุทธ์ด้านราคาอย่างเหมาะสม เพื่อจับตลาดแมส แต่อย่าทิ้งตลาดกลาง-บน ที่เน้นคุณภาพ ส่วนช่องทางขาย เน้นผ่านซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านสัตว์เลี้ยง ออนไลน์ และควรเข้าร่วมงานแฟร์ เพื่อหาคู่ค้า ย้ำต้องจัดโปรโมชันและโปรโมตต่อเนื่องด้วย
         

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า ตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้มอบหมายให้กรมฯ สำรวจลู่ทางและโอกาสการส่งออกสินค้าไทยในประเทศต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้รับข้อมูลจากน.ส.จันทนา โชติมุณี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา ถึงโอกาสการขยายตลาดสินค้าอาหารและผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์เลี้ยงในตลาดฟิลิปปินส์ ที่กำลังขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการที่ชาวฟิลิปปินส์หันมาเลี้ยงสัตว์กันมากขึ้น ทำให้มีความต้องการอาหารและผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้น
         

dog food 5168940 960 720
อาหารสัตว์เลี้ยง

โดยทูตพาณิชย์ได้รายงานว่า ชาวฟิลิปปินส์นิยมเลี้ยงสัตว์ โดยเลี้ยงสุนัขมากที่สุด รองลงมา คือ แมว นก ปลาทอง ปลาเขตร้อน กระต่าย หนูแฮมสเตอร์ สัตว์เลื้อยคลาย แมลงต่าง ๆ และสัตว์อื่น ๆ และฟิลิปปินส์ยังได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงแห่งสุนัขของเอเชียตะวันออก มีสุนัขมากเป็นลำดับ 5 ของโลก ประมาณ 20.3 ล้านตัว มีอัตราส่วนการเลี้ยง 1.6 ตัวต่อ 1 ครัวเรือน หรือ 64% ของครัวเรือนมีการเลี้ยงสุนัข ทำให้มีความต้องการอาหารและผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์เลี้ยงเพิ่มสูงขึ้น “จากปัจจัยบวกหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นอัตราการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงที่ค่อนข้างสูง แนวโน้มการมองสัตว์เลี้ยงเป็นสมาชิกในครอบครัว ข้อได้เปรียบในด้านสิทธิประโยชน์ทางการค้า ทำให้ฟิลิปปินส์เป็นตลาดที่มีศักยภาพในการขยายการส่งออกอาหารและผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยงของไทย”นายภูสิตกล่าว
         

นายภูสิต กล่าวว่า ในการขยายตลาดอาหารและผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์เลี้ยงเข้าสู่ตลาดฟิลิปปินส์ ผู้ประกอบการไทยควรรักษาจุดแข็งในเรื่องมาตรฐานและความน่าเชื่อถือของสินค้า ควรมีการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน และสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคชาวฟิลิปปินส์ได้อย่างหลากหลาย ส่วนการเข้าสู่ตลาด ควรกำหนดกลยุทธ์ด้านราคาอย่างเหมาะสม และสามารถจับต้องได้ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ของประเทศ แต่ก็ควรพิจารณาเจาะตลาดในระดับกลาง-บนมากขึ้น เนื่องจากสินค้าระดับพรีเมียมเริ่มได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งมีการแข่งขันด้านราคาน้อยกว่า

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยอาจร่วมกับคู่ค้าในฟิลิปปินส์ พิจารณาใช้กลยุทธ์การทำการตลาดแบบผูกปิ่นโต หรือ Subscription.box เพื่อให้ดึงดูดผู้บริโภคและกระตุ้นยอดขายให้เพิ่มมากขึ้น โดยจุดขายหรืออรรถประโยชน์หลักที่ผู้ประกอบการควรพิจารณา ได้แก่ ความคุ้มค่าของราคา คุณค่าทางโภชนาการ และสุขภาพของสัตว์เลี้ยง ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และความน่าเชื่อถือของแบรนด์ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อ
         

สำหรับช่องทางที่เป็นที่นิยมในการจัดจำหน่ายและกระจายสินค้าสำหรับตลาดอาหารและผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยง ได้แก่ ซุปเปอร์มาร์เก็ต และร้านที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะ รวมถึงช่องทางออนไลน์ ส่วนการหาผู้นำเข้าหรือผู้จัดจำหน่ายที่มีศักยภาพในฟิลิปปินส์ สามารถดำเนินการได้หลายแนวทาง โดยเฉพาะการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าสำคัญที่เกี่ยวข้องกับตลาดอาหารและผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยง เช่น งาน Pet.Summit Philippines งาน Philippine Pet Expo เป็นต้น หรืองานแสดงสินค้า Thailand Week จัดโดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ณ กรุงมะนิลา กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ การขอคำแนะนำ คำปรึกษา และรายชื่อผู้นำเข้าในฟิลิปปินส์ จาก สคต. ณ กรุงมะนิลา เป็นต้น
         

ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการไทยควรร่วมกับคู่ค้า ผู้นำเข้า ในฟิลิปปินส์ จัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างภาพลักษณ์และความตระหนักรู้ในแบรนด์สินค้าให้เป็นที่จดจำ เนื่องจากผู้บริโภคชาวฟิลิปปินส์ ให้ความสำคัญกับแบรนด์สินค้าค่อนข้างมาก เช่น การจัดกิจกรรมให้ส่วนลดในช่วงเทศกาลต่าง ๆ การใช้บุคคล หรือดารานักแสดงที่มีชื่อเสียง อินฟลูเอนเซอร์ มาเป็นพรีเซนเตอร์ช่วยโปรโมตสินค้า ซึ่งถือเป็นเครื่องมือทางการแข่งขันที่มีประสิทธิภาพในตลาดฟิลิปปินส์ และควรร่วมกับคู่ค้าในฟิลิปปินส์ผลักดันการจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มเติม เพื่อให้ครอบคลุมพฤติกรรมผู้บริโภคชาวฟิลิปปินส์ที่เปลี่ยนแปลงไป