“ด้วงหนวดยาว” การระบาดของแมลงศัตรูชนิดนี้ เกิดขึ้นในลักษณะค่อย ๆ สะสมความรุนแรงแบบภัยมืด โดยชาวสวนไม่ทราบว่ามีการระบาดของศัตรูพืช เนื่องจากเป็นแมลงกลางคืนพฤติกรรมต่าง ๆ เกิดขึ้นในช่วงกลางคืนและส่วนใหญ่พบทำลาย “ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง” ตัวเต็มวัย
เพศเมียวางไข่โดยฝังไว้ใต้เปลือกตามลำต้นและกิ่งขนาดใหญ่ หนอนกัดกินชอนไชไปตามเปลือกไม้ด้านในไม่มีทิศทาง หรืออาจกัดควั่นเปลือกรอบต้น การทำลายที่เกิดจากหนอนขนาดเล็กไม่สามารถสังเกตได้จากภายนอก แต่เมื่อหนอนโตขึ้นจะพบขุยไม้ละเอียดซึ่งเป็นมูลของหนอนตามแนวรอยทำลาย หรือตรงบริเวณที่หนอนทำลายกัดกินเนื้อไม้อยู่ภายในจะเห็นมีของเหลวสีน้ำตาลแดงไหลเยิ้มอยู่ ในระยะต่อมาจึงจะพบมูลหนอนออกมากองเป็นกระจุกอยู่ข้างนอกเปลือก
เมื่อใช้มีดปลายแหลมแกะเปลือกไม้จะพบหนอนอยู่ภายใน เกษตรกรจะสังเกตพบรอยทำลายต่อเมื่อหนอนตัวโตและอาจเจาะเข้าเนื้อไม้ หรือกินควั่นรอบต้น “ทุเรียน” แล้วซึ่งจะมีผลทำให้ท่อน้ำท่ออาหารถูกตัดทำลายเป็นเหตุให้“ทุเรียน”เริ่มทรุดโทรม ใบเหลืองและร่วง และยืนต้นตายได้
ด้วงหนวดยาว มีพฤติกรรมชอบจับคู่ผสมพันธุ์วางไข่ในเวลากลางคืน โดยตัวเมียบินมาเกาะที่ต้นทุเรียนแล้วใช้ปากกัดเปลือกลำต้นให้เป็นแผลเล็ก ๆ แล้ววางไข่บนรอยแผล และชอบวางไข่ซ้ำบนต้นเดิม
ไข่ มีลักษณะยาวรีคล้ายเมล็ดข้าวสาร สีขาวขุ่น ระยะไข่ 7-14 วัน
หนอน ฟักออกจากไข่ใหม่ ๆ มีสีขาวครีม เริ่มกัดกินชอนใต้เปลือกไม้และถ่ายมูลออกมาเป็นขุยไม้ออกมาภายนอกเป็นระยะตามเส้นทางที่หนอนชอนไช หนอนโตเต็มที่ยาว 6-8 ซม.อายุหนอนประมาณ 280 วัน
ดักแด้ เมื่อหนอนโตเต็มที่จะเจาะเข้าเนื้อไม้แข็ง หดตัวและเข้าดักแด้อยู่ 24-29 วันจึงเป็นตัวเต็มวัยอาศัยอยู่ในโพรงอีก 7-8 วันจึงออกมาสู่โลกภายนอก
ตัวเต็มวัย เป็นด้วงหนวดยาวขนาด 4-6 ซม.ตัวผู้มีหนวดยาวกว่าลำตัว ส่วนตัวเมียหนวดยาวเท่ากับหรือสั้นกว่าลำตัว ตัวเต็มวัยมีอายุ 82 วัน
การป้องกันกำจัด
กำจัดแหล่งขยายพันธุ์ โดยตัด “ต้นทุเรียน” ที่ถูกทำลายรุนแรงจนไม่สามารถให้ผลผลิตเผาทิ้งและควรดูแลรักษา “ต้นทุเรียน” ให้มีความสมบูรณ์ แข็งแรงอยู่เสมอ
วิถีเกษตรอินทรีย์
1.หมั่นสำรวจการระบาดเข้าทำลาย เมื่อพบร่องรอยการทำลาย เช่น มีขุยไม้ที่คาคบหรือโคนต้นให้ใช้มีดหรือขวานเฉาะหาตัวหนอนมาทำลาย
2.กำจัดตัวเต็มวัย โดยใช้ไฟส่องจับตาม “ต้นทุเรียน” ในช่วงเวลา 20.00 น. ถึงช่วงเช้ามืด หรือใช้ตาข่ายดักปลาตาถี่พันรอบต้นหลาย ๆ ทบ เพื่อดักตัวด้วง หรือใช้อวนตาข่ายถี่พันรอบลำต้นป้องกันตัวเต็มวัยมาวางไข่
3.จับตัวเต็มวัยที่บินมาเล่นไฟทำลาย
4.ฉีดพ่นลำต้นทุเรียนด้วยไส้เดือนฝอย ในช่วงเวลาพลบค่ำเพื่อให้เข้าทำลายหนอนที่ฟักออกจากไข่
วิถีเกษตรปลอดภัย
ฉีดพ่นด้วยอิมิดาโคลพริด อัตราตามคำแนะนำที่ลำต้นทุเรียน ทุก 7-14 วัน เพื่อกำจัดหนอนที่ฟักออกจากไข่
แหล่งที่มีการระบาดรุนแรง ควรป้องกันการเข้าทำลายของ “ด้วงหนวดยาว” โดยพ่นสารฆ่าแมลง ไทอะมีทอกแซม/แลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน 14.1%/10.6% ZC อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ โคลไทอะนิดิน 16% SG อัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อิมิดาโคลพริด 10% SL อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อะซีทามิพริด 20% SP อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นให้โชกเฉพาะบริเวณลำต้น ตั้งแต่โคนจนถึงยอด และกิ่งขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ด้วงชอบวางไข่ พ่น 2 ครั้ง ห่างกัน 2 สัปดาห์ คิดเป็นค่าสารฆ่าแมลงเฉลี่ย 33 บาทต่อต้น และเมื่อติดตามและเฝ้าระวังการระบาดเป็นระยะ ๆ พบว่า ต้นทุเรียนสามารถฟื้นคืนสภาพดีจนเป็นที่น่าพอใจ
อย่างไรก็ตามวิธีป้องกันกำจัดด้วงหนวดยาวที่ได้ผลดีที่สุดคือ “เอาเงาของเจ้าของสวนไปทาบกับต้นทุเรียนบ่อย ๆ” ซึ่งก็คือการหมั่นเอาใจใส่ต่อต้นทุเรียนนั่นเอง