รู้หรือไม่…ลดการเผาด้วยการจัดการระบบเกษตร

ปัญหาหมอกควันและการเผาส่งผลกระทบเป็นมุมกว้างต่อระบบนิเวศสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน โดยสาเหตุของปัญหาคือการเผาพื้นที่การเกษตร เนื่องจากเป็นวิธีที่ง่าย คุ้มค่า ใช้เวลาน้อย สะดวกสบาย และต้นทุนต่ำ โดยเฉพาะการเผาซังข้าวโพด ตอซังข้าว และเศษวัสดุหลังการเก็บเกี่ยว ในเกษตรกรบางรายยังมีความเชื่อเรื่องการเผาว่าง่ายต่อการควบคุมวัชพืชและการเตรียมดิน การเผาในพื้นที่เกษตรที่กล่าวมาข้างต้น เป็นแหล่งที่มาของจุดความร้อน เกิดฝุ่นควันที่เห็นได้ชัด โดยเฉพาะในช่วงหลังเก็บเกี่ยวและช่วงการเตรียมพื้นที่เพาะปลูก ฝุ่นละออง PM2.5 เพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน

1161
ลดการเผาป่าด้วยการจัดการระบบเกษตร

จากการศึกษากรณีตัวอย่างต้นแบบการปรับระบบการเกษตรยั่งยืนบนพื้นที่สูงในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงห้วยเป้า อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ในด้านการปรับเปลี่ยนรูปแบบระบบเกษตรที่เหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทของชุมชน พบว่าในอดีตเกษตรกรในชุมชนมีการทำเกษตรเชิงเดี่ยว คือ การปลูกข้าว ข้าวโพดและปลูกผัก ที่มีการใช้สารเคมีในการป้องกันและกำจัดศัตรูพืชที่เข้มข้นและปริมาณมาก ก่อให้เกิดปัญหาการเผาเตรียมพื้นที่และการเก็บเกี่ยวผลผลิต มีผลต่อสุขภาพอนามัยของเกษตรกร ทำให้เกิดแนวทางแก้ปัญหาด้วยการปรับระบบเกษตรเชิงเดี่ยวสู่ระบบการปลูกพืชผสมผสาน ระบบเกษตรแบบประณีต และการปลูกไม้ยืนต้นเพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำ มีแนวทางการจัดการปัญหาการเผาและหมอกควันบนพื้นที่สูงโดยการปรับระบบเกษตรแบบต่าง ๆ

ระบบเกษตรผสมผสาน  ( Integrated  farming  system ) เป็นระบบเกษตรที่มีการปลูกพืชและมีการเลี้ยงสัตว์หลากหลายชนิดในพื้นที่เดียวกันโดยที่กิจกรรมการผลิตแต่ละชนิด เกื้อกูลประโยชน์ต่อกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในไร่นาอย่างเหมาะสม เกิดประโยชน์สูงสุด มีความสมดุลต่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง และเกิดการเพิ่มพูนความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ การเกื้อกูลกันระหว่างพืชและสัตว์ เศษซากพืช และผลพลอยได้จากการปลูกพืชจะเป็นประโยชน์ต่อกิจกรรมการเลี้ยงสัตว์ และผลพลอยได้จากการเลี้ยงสัตว์ก็จะเป็นประโยชน์ต่อพืชเช่นกัน ระบบเกษตรผสมผสานเป็นระบบเกษตรกรรมที่จะนำไปสู่การเกษตรยั่งยืน

ระบบเกษตรประณีต เป็นการทำเกษตรเพื่อผลิตอาหารและปัจจัยที่จำเป็นในการดำรงชีวิต ทำให้เกษตรกรไม่ต้องวิ่งตามกระแสของตลาด อาหารที่ผลิตได้ปลอดภัยจากสารพิษ แถมเป็นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม สามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างกลมกลืนแบบพึ่งพากันด้วย

“เกษตรประณีต” เป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ที่ดินอันจำกัดอย่างคุ้มค่า สามารถพึ่งตนเอง ด้วยการนำองค์ความรู้ต่าง ๆ ในการทำเกษตร มาบริหารจัดการทำเกษตรแบบใหม่ โดยเฉพาะการบริหารจัดการทรัพยากรทั้ง 4 ด้าน ที่มีความสำคัญต่อการทำเกษตร นั่นคือ พืช ดิน น้ำ และสัตว์ ในรูปแบบของการออมและใช้อย่างมีคุณค่ามากที่สุด ควบคู่กันไป เพื่อให้มีกินมีใช้บนฐานของการพึ่งตนเอง ช่วยลดหนี้สินในครัวเรือนได้อย่างยั่งยืน

การปลูกพืชในโรงเรือนหรือการเกษตรในร่ม( Indoor farming ) เป็นรูปแบบการเกษตรที่ช่วยประหยัดการใช้ทรัพยากร ทั้งน้ำ ปุ๋ย พื้นที่เพาะปลูกและแรงงาน รวมถึงยังสามารถควบคุมปริมาณและคุณภาพผลผลิตได้ตามที่ต้องการ สามารถปลูกพืชได้หลายรุ่นในรอบปี จึงช่วยลดความ ผันผวนในด้านปริมาณและคุณภาพของผลผลิตได้ดีกว่าการเกษตรแบบดั้งเดิม 

อย่างไรก็ดี การปลูกพืชในโรงเรือนหรือ การเกษตรแบบ Indoor farming ต้องใช้เงินลงทุนสูงกว่าการเกษตรดั้งเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนระบบและเทคโนโลยีการเพาะปลูก ส่งผลให้ผู้ประกอบการที่ทำการเกษตรแบบการปลูกพืชในโรงเรือน (Indoor farming) ส่วนใหญ่เลือกเพาะปลูกพืชที่ให้กำไรสูง และสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในระยะเวลาสั้นเพื่อเพิ่มความถี่ในการเก็บเกี่ยวผลผลิต และขายสู่ตลาดได้หลายรอบ สร้างรายได้ตลอดปี

การปลูกไม้ผลทดแทนการปลูกพืชไร่ในพื้นที่ลาดชัน ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยลดการเผาพื้นที่เกษตรได้