ในระยะผลไม้ก่อนเก็บเกี่ยว ชาวสวนมักประสบปัญหาว่ามีผลไม้หลายชนิดชอบแตกอยู่เป็นประจำ เช่น เงาะโรงเรียน มังคุด ลำไย ลองกอง กระท้อน ฯลฯ สร้างความเสียหายและเสียดายเพราะกำลังจะเก็บขายได้เงินอยู่แล้วแต่ดันมาแตกเสียก่อน ผลไม้ยิ้มแต่ชาวสวนไม่ยิ้มด้วย
อย่างในกรณีของลำไย อาการผลแตกมักจะเกิดในช่วงที่ผลลำไยกำลังสร้างเนื้อ หรือผลใกล้จะแก่ เช่นในช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน ลำไยที่ประสบปัญหาผลแตกมักจะเป็นลำไยที่ติดผลดก มีลูกขนาดเล็ก และเปลือกมีขนาดบาง ธาตุอาหารที่เกี่ยวข้องกับอาการผลแตกของลำไยคือธาตุแคลเซียม สาเหตุของปัญหา เกิดจากปริมาณน้ำที่ได้รับไม่สม่ำเสมอในช่วงที่ผลกำลังพัฒนาโดยเฉพาะในช่วงสร้างเนื้อหรือผลใกล้แก่ หากลำไยไม่ได้รับน้ำอย่างสม่ำเสมอจะทำให้เกิดอาการผลแตกได้ง่าย
เช่น ลำไยที่กระทบแล้ง ช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน ประกอบกับอุณหภูมิในช่วงดังกล่าวร้อนจัด เช่น 40 องศาเซลเซียส ทำให้ลำไยมีการคายน้ำมากจึงต้องการน้ำในปริมาณมากไปชดเชย หากได้รับน้ำไม่เพียงพอทำให้ผลลำไยเจริญเติบโตช้า เมื่อลำไยกระทบฝนโดยเฉพาะฝนแรกในช่วงเดือนเมษายน- พฤษภาคม ปริมาณน้ำที่ได้รับมีมากกว่าในช่วงที่ผ่านมา เนื้อของผลจะขยายขนาดได้เร็วกว่าเปลือกเนื่องจากลักษณะทางกายภาพที่แตกต่างกัน ทำให้เปลือกผลแสดงอาการแตกและร่วงอย่างเห็นได้ชัด
การผ่านสภาพแล้งตามธรรมชาติแล้วกระทบฝน จะมีโอกาสทำให้ลำไยเกิดอาการผลแตกได้ แต่ในบางกรณีแม้จะผ่านช่วงแล้งตามธรรมชาติมาแล้วและย่างเข้าฤดูฝนแล้วก็ตาม หากฝนทิ้งช่วงหรือประสบกับภาวะฝนแล้ง เมื่อกลับมาได้รับน้ำฝนอีกครั้ง ลำไยก็จะสามารถเกิดอาการผลแตกได้เช่นเดียวกัน ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการให้ลำไยได้รับน้ำอย่างสม่ำเสมอระหว่างการพัฒนาของผล จะช่วยลดปัญหาอาการผลแตกของลำไยได้
และกรณีลำไยมักจะพบว่าต้นลำไยที่ติดผลดก ลูกมีขนาดเล็กและเปลือกบาง มักจะถูกชักนำจากสภาพแวดล้อมให้แสดงอาการผลแตกได้ง่ายและมากกว่า ต้นที่ติดผลปานกลางหรือน้อย
หรือกรณีเงาะเมื่อใกล้สุกผลจะแตก เกิดจากการให้น้ำไม่สม่ำเสมอ เงาะกระทบแล้งหรือขาดน้ำ เกิดการชะงักแคละแกร็น หรือเกิดได้รับน้ำในปริมาณมาก ๆ ทันทีซึ่งอาจจะเกิดจากการที่มีฝนตกหนักหรือการให้น้ำในปริมาณมากๆ ทันที ผลก็จะแตก ดังนั้นต้องดูแลไม่ให้พืชเกิดการชะงักแคละแกร็นขาดน้ำนาน ๆ ค่อยๆ ให้น้ำอย่างสม่ำเสมอเป็นช่วง ๆ
โดยสรุปโดยภาพรวมสาเหตุการแตกของผลไม้หลายชนิด อาการแตกของผลเป็นอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ ดังนี้
1.ความไม่สมดุลของการขยายตัวของส่วนเปลือกกับเนื้อ โดยส่วนเนื้อมีการขยายรวดเร็วมากกว่าการขยายของเปลือกจึงทำให้เปลือกปริร้าวแตกออก
2.เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในแต่ละพื้นที่ เช่น ร้อนแล้งสลับฝน ทำให้พืชได้รับน้ำไม่สม่ำเสมอ ในภาวะอากาศร้อนแล้งผนังเซลส์พืชจะมีอาการเหี่ยวเมื่อได้รับน้ำปริมาณมากกระทันหัน เกิดการขยายตัวอย่างรวดเร็วจนพืชปรับตัวไม่ทันจึงเกิดการปริแตกของผนังเซลส์
3.เกิดจากความไม่สมดุลของธาตุอาหารในพืช ผนังเซลส์พืชไม่แข็งแรง
4.เกิดจากสาเหตุอื่น ๆ เช่นการไว้ผลดกมากเกินไป อาหารไม่เพียงพอทำให้เปลือกผลบางแตกง่าย หรือการเข้าทำลายของเชื้อราและแมลงที่เปลือกผลเกิดรอยแผลก็ทำให้แตกได้ง่ายเช่นกัน
วิธีการป้องกันผลแตก
1.รักษาระดับความชื้นให้คงที่ด้วยการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอและเพียงพอต่อความต้องการของพืช ให้น้ำครั้งละน้อยแต่บ่อยครั้งไม่เว้นช่วงให้น้ำห่างเกินไป
2.ให้ธาตุอาหารรองแคลเซียมแก่พืชอย่างเพียงพอเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของผนังเซลส์พืช
3.ตัดแต่งผลให้เหลือปริมาณที่เหมาะสมกับสภาพความสมบูรณ์ต้น และดูแลป้องกันกำจัดโรค-แมลงที่ทำลายผล