หากเกิดภาวะขาดแคลนน้ำจำเป็นต้องมีการจัดการเพื่อรักษาชีวิตต้นลำไยให้รอดพ้นฤดูแล้งที่รุนแรงนี้เพราะหากปล่อยให้ยืนต้นตายต้องใช้เวลาปลูกใหม่อีกอย่างน้อย 3 ปีกว่าจะให้ผลผลิต
วิธีการจัดการรักษาต้นลำไยในภาวะแล้ง
1.ตัดแต่งกิ่งแบบ hard pruning เพื่อลดจำนวนกิ่งและใบลงเป็นการลดการทำงานของกระบวนการต่าง ๆ ของต้นพืช ทั้งนี้การตัดแต่งกิ่งในช่วงหน้าแล้งที่แสงแดดมีความร้อนมากต้องระวังการเกิดอาการซันเบิร์นทำลายกิ่งด้วย อาจลดความรุนแรงด้วยการทาปูนขาวบริเวณหลังกิ่งหรือใช้กิ่งที่ตัดทิ้งปกคลุมไว้
2.คลุมโคนต้นให้หนาด้วยกิ่งใบที่ตัดลงมาหรือหาเศษวัชพืช ฟางข้าวหรือวัสดุที่อุ้มน้ำได้ดีเช่นขุยมะพร้าว ทะลายปาล์ม เพื่อรักษาความชื้นดินบริเวณใต้ทรงพุ่ม อย่าปล่อยให้โคนต้นโล่งเตียน
3.ฉีดพ่นทางใบด้วย สารไมโครคริสตอไรซ์ แวกซ์ ชื่อการค้าเช่น ไมโครไจแอนท์ เพื่อลดการคายน้ำของพืช
4.กรณียังพอมีน้ำเหลืออยู่ให้เปลี่ยนช่วงเวลาให้น้ำเป็นช่วงเย็นหรือกลางคืน โดยให้ครั้งละน้อยเว้นช่วงห่างเพื่อประทังชีวิตเท่านั้น ทั้งนี้ต้องคอยสังเกตอาการพืชอย่างใกล้ชิดอย่าให้พืชขาดน้ำจนแสดงอาการเหี่ยวถาวร
5.กรณีไม่มีน้ำเหลือพอที่รดทางดินได้ ให้ใช้น้ำเปล่าฉีดพ่นทางใบในช่วงเย็นหรือกลางคืนบ่อย ๆ เพื่อรักษาความสดชื่นให้ต้นพืช วิธีการดังกล่าวอาจพอช่วยให้ต้นลำไยหรือพืชอื่นมีชีวิตรอดพ้นฤดูแล้งนี้ได้บ้าง
การตัดแต่งช่อผลลำไย
หัวใจสำคัญของการผลิตลำไยให้มีคุณภาพคือการตัดแต่งช่อผลให้เหลือปริมาณที่เหมาะสมกับสภาพความสมบูรณ์ของต้น
ภายหลังจากดอกบานและโรยแล้ว เราต้องเร่งการขึ้นลูกซึ่งได้นำเสนอไปในครั้งก่อนแล้วจากนั้นต้องรีบตัดแต่งช่อผลซึ่งทำดังนี้
1.ตัดแต่งช่อที่ติดผลไม่สมบูรณ์ทิ้งทั้งช่อ เช่น ช่อผลที่ติดผลต่อช่อน้อยเกินไป ช่อผลสั้น ช่อผลที่มีกิ่งขนาดเล็กไม่สมบูรณ์
2.ตัดแต่งช่อผลที่ติดผลมากเกินไปออกให้เหลือจำนวนผลต่อช่อประมาณ 40 ผลโดยการตัดปลายช่อออก
หลังจากตัดแต่งช่อผลเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้ระวังการเข้าทำลายของหนอนเจาะผลและเพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอยที่มักเข้าทำลายในระยะนี้
ควรจดบันทึกข้อมูลตามหลักปฎิบัติ GAP เพื่อใช้เป็นข้อมูลการไว้ผลในปีต่อไปด้วย
อีกเรื่องที่สำคัญ ชาวสวนผู้ปลูกลำไยควรเรียนรู้โรค-แมลงศัตรูพืชสำคัญของลำไย รวมทั้งแนวทางป้องกัน เพื่อควบคุมปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาขาดทุนในอนาคต
ศัตรูพืชสำคัญของลำไย
แมลงค่อมทอง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hypomeces squamosus Fab. มักเข้าทำลายกัดกินใบอ่อนและดอกลำไย ทำให้ต้นลำไยเสียหาย ชะงักการเจริญเติบโต มักพบการแพร่ระบาดของแมลงค่อมทองได้ง่ายช่วงระหว่างเดือนกุมภาพันธ์- มีนาคม หลังจากนั้นจะพบเห็นแมลงค่อมทองน้อยลงในเดือนเมษายน และพบน้อยมากระหว่างฤดูฝน
แมลงค่อมทอง จัดอยู่ในกลุ่มด้วงปีกแข็ง ตัวสีเหลืองถึงเขียวอ่อน มีปากกัดกินเป็นงวงยื่นเห็นได้ชัด ชอบอาศัยอยู่ใต้ใบเวลาถูกตัวหรือได้รับความกระเทือนจะทิ้งตัวลง ตัวแก่จะวางไข่ไว้ในดินเมื่อฟักและเจริญเป็นตัวหนอนจะอาศัยกินราก พืชอยู่ในดินและเป็นดักแด้อยู่ในดินจนกระทั่งเจริญเป็นตัวแก่ จะออกมากัดกินพืชและทำการผสมพันธุ์ต่อไป ระยะเป็นไข่กินเวลา 10 – 11 วัน ระยะหนอนอยู่ในดินนาน 5 – 6 เดือน ระยะเป็นดักแด้ 14 – 15 วัน
วิธีการป้องกันกำจัดแมลงค่อมทอง เริ่มจาก เขย่าต้นให้แมลงหล่นลงไปแล้วนำไปทำลาย โดยใช้ยาฆ่าแมลงพวกคาร์บาริล ในอัตรา 30 – 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คาร์บาเมท (แลนเนท) ในอัตรา 10 – 15 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หากพบการแพร่ระบาดมาก แนะนำให้ใช้ยาโมโนโครโตฟอส ในอัตรา 15 – 20 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร
ผีเสื้อมวนหวาน
ผีเสื้อมวนหวาน ( Fruit piercing moth ) ทางภาคเหนือเรียกว่า “กำเบ้อแดง” มักพบการแพร่ระบาดในระยะที่ผลลำไยเริ่มแก่และใกล้เก็บเกี่ยว ผีเสื้อมวนหวาน ทำลายผลผลิตโดยใช้ปากเจาะแทงเข้าไปในผลไม้ที่ใกล้สุก ทำให้ผลลำไยหลุดร่วงภายใน 3 – 4 วัน ผลลำไยร่วงเมื่อนำมาบีบจะมีน้ำหวานไหลเยิ้มออกมาตามรูที่ถูกเจาะ ส่วนเนื้อในลำไยจะเน่าเสีย จากเชื้อโรคหรือเชื้อยีสต์เข้าทำลาย ผีเสื้อมวนหวาน ออกหากินในเวลากลางคืน โดยเฉพาะช่วงระยะเวลา 20.00 – 24.00 น.
ตัวเต็มวัยของผีเสื้อมวนหวาน เป็นผีเสื้อกลางคืนขนาดใหญ่ ปีกคู่หน้ามีสีน้ำตาลปนเทา ปีกคู่หลังมีสีเหลืองส้ม ขอบปีกด้านนอกสีดำ และกลางปีกมีแถบสีดำคล้ายรูปพระจันทร์เสี้ยวข้างละ 1 อัน เมื่อกางปีกทั้งสองข้างมีขนาดประมาณ 8.5-9.0 เซนติเมตร ไข่ ผีเสื้อวางไข่เป็นฟองเดี่ยว ๆ บนใบพืชได้ประมาณ 200-300 ฟอง ไข่มีลักษณะทรงกลมสีเหลืองอ่อน เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.0 มิลลิเมตร ระยะไข่ 2-3 วัน
ตัวอ่อน ที่ฟักออกจากไข่จะมีสีเขียวใสยาวประมาณ 0.5 เซนติเมตร หนอนมี 7 ระยะ เมื่อหนอนโตเต็มที่จะมีสีน้ำตาลปนดำ ด้านข้างของท้องปล้องที่ 2 และ 3 จะมีลายวงกลมสีขาวและส้ม นอกจากนี้ ยังมีจุดขาวแดงอมส้มและฟ้าซึ่งเป็นจุดเล็ก ๆ กระจายอยู่ทั่วตัว ระยะหนอน 12-21 วัน ดักแด้ หนอนจะนำใบพืชมาห่อหุ้มตัวแล้วเข้าดักแด้อยู่ภายในระยะดักแด้ 10-12 วัน
พืชอาหารของผีเสื้อมวนหวานในระยะหนอน คือ ใบย่านาง ใบข้าวสาร และใบบอระเพ็ด ส่วนระยะตัวเต็มวัย พืชอาหารสุดโปรดของ ผีเสื้อมวนหวาน คือ ส้มเขียวหวาน ส้มโอ มะนาว เงาะ ลำไย ลิ้นจี่ มะม่วง องุ่น กล้วย ลางสาด ลองกอง พุทรา มังคุด และไม้ผลอื่น ๆ
แนวทางป้องกันกำจัด ผีเสื้อมวนหวาน ทำได้หลายวิธี ได้แก่
กำจัดวัชพืชและพืชอาหารในระยะหนอน เช่น ใบย่านาง ใบข้าวสาร ที่อยู่ในบริเวณแปลงปลูก เพื่อไม่ให้เป็นที่อาศัย และเป็นอาหารของหนอน
ใช้กับดักแสงไฟ black light ล่อตัวเต็มวัย ในช่วง 20.00-22.00 น. เป็นช่วงที่ตัวเต็มวัยออกหากินมากที่สุด หากพบผีเสื้อมวนหวานให้ใช้มือจับหรือสวิงโฉบ อย่างไรก็ตามผลไม้ก็ได้ถูกผีเสื้อเจาะทำลายไปแล้ว การจับผีเสื้ออาจจะลดประชากรลงในฤดูกาลต่อไป
ใช้เหยื่อพิษล่อตัวเต็มวัย โดยใช้ผลไม้สุกที่มีกลิ่นหอม เช่น ลูกตาลสุก หรือสับปะรดตัดเป็นชิ้น ๆ หนาประมาณ 1 นิ้ว แล้วจุ่มในสารฆ่าแมลง carbaryl ( Sevin 85% WP) อัตรา 2 กรัมผสมน้ำ 1 ลิตรแช่ทิ้งประมาณ 5 นาที นำเหยื่อพิษไปแขวนไว้ที่ต้น
โรคพุ่มแจ้หรือไม้กวาดแจ้
โรคพุ่มแจ้ หรือไม้กวาดแจ้(witches’ broom) ซึ่งเกิดจากเชื้อมายโคพลาสม่า (mycoplasma) ระบาด ลักษณะอาการเหมือนพุ่มไม้กวาดลำไยที่เป็นโรครุนแรงจะโทรม เมื่อออกดอกติดผลน้อยพันธุ์ลำไยที่อ่อนแอต่อโรคนี้เคยพบในพันธุ์เบี้ยวเขียวก้านอ่อน ต้นลำไยที่ติดโรคชนิดนี้จะมีอาการปรากฎที่ส่วนยอดและส่วนที่เป็นตา โดยเริ่มแรกใบยอดแตกใบออกเป็นฝอย มีลักษณะเหมือนพุ่มไม้กวาด ใบมีขนาดเล็กเรียวยาว ใบแข็งกระด้างไม่คลี่ออก กลายเป็ยกระจุกสั้น ๆ ขึ้นตามส่วนยอด หากยอดที่เป็นโรคเมื่อถึงคราวออกช่อดอก ถ้าไม่รุนแรงก็จะออกช่อชนิดหนึ่งติดใบบนดอกและช่อสั้น ๆ ซึ่งอาจติดผลได้ 4-5 ผลถ้าเป็นโรครุนแรงต้นจะออกดอกติดผลน้อย พันธุ์ลำไยที่อ่อนแอต่อนโรคนี้ คือ พันธุ์เบี้ยวเขียวก้านอ่อน
โรคพุ่มแจ้ หรือไม้กวาดแจ้ สามารถแพร่ระบาดได้ทางกรรมพันธุ์คือ สามารถแพร่ระบาดไปโดยการตอนกิ่งลำไยจากต้นที่เป็นโรค โรคนี้มีแมลงพวกเพลี้ยจั๊กจั่นสีน้ำตาลเป็นพาหะนำเชื้อโรคไปสู่ต้นอื่น ๆ ได้
แนวทางป้องกันและกำจัด โรคพุ่มแจ้ ได้แก่
1.คัดเลือกกิ่งพันธุ์จากต้นที่ไม่เป็นโรคไปปลูก
2.ป้องกันแมลงจำพวกปากดูดพวกเพลี้ยจั๊กจั่นสีน้ำตาล โดยใช้สารเคมีเช่น ฟอสซ์ อัตรา 50 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ มิพซิน อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือลอร์สแมน อัตรา 80 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร
3.สำหรับต้นที่เป็นโรคถ้าเป็นไม่มาก ควรตัดกิ่งที่เป็นโรคนำมาเผาทำลายซึ่งชาวสวนจะต้องพร้อมใจกันและกำจัดทุก ๆ สวน เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคแพร่ระบาด
มวนลำไย ( Longan Stink Bug ) ชาวบ้านนิยมเรียกว่า แมลงแกง, แมงแคง แมลงชนิดนี้ สร้างความเสียหายให้กับแหล่งปลูกลำไย โดยดูดกินน้ำเลี้ยงจากยอดอ่อน ใบอ่อน ช่อดอก และผลอ่อนทำให้ยอดอ่อนและใบอ่อนแห้งเหี่ยว ดอกเสียหาย ไม่ติดผลหรือทำให้ผลร่วงหล่นตั้งแต่ผลอ่อน
มวนลำไย ที่เป็นตัวเต็มวัย มีสีน้ำตาลปนเหลือง รูปร่างลักษณะคล้ายโล่ มีขนาดยาวประมาณ 25 – 31 ซม. และส่วนกว้างประมาณ 15 – 17 ซม. ตัวเต็มวัยตัวเมียวางไข่เป็นกลุ่มตามใบหรือเรียงตามก้านดอก ไข่กลุ่มหนึ่งจะมีจำนวนโดยเฉลี่ย 14 ฟอง ไข่จะฟักออกมาเป็นตัวอ่อนประมาณ 7 – 14 วัน ตัวอ่อนจะมีสีแดงมีการลอกคราบ 5 ครั้ง ระยะตัวอ่อนกินเวลาประมาณ 61 – 74 จึงจะเจริญออกมาเป็นตัวเต็มวัย “แตนเบียนไข่ ” คือ ศัตรูธรรมชาติของมวนลำไย โดยจะเป็นตัวทำลายไข่ ของมวนลำไยในธรรมชาติ
แนวทาง ป้องกันกำจัด มวนลำไย ได้แก่ 1. ตัดแต่งกิ่งลำไยไม่ให้ต้นหนาจนเกินไป จนเป็นที่หลบซ่อน และพักอาศัยของตัวเต็มวัย 2. จับตัวเต็มวัย ตัวอ่อน และไข่ไปทำลาย 3. ถ้าพบระบาดมากใช้ยาฆ่าแมลงพวก โมโนโครโตฟอส ฉีดพ่นในอัตรา 20 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร หรือยาฆ่าแมลงคาร์บาริล อัตรา 45 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร โดยฉีดพ่นในช่วงระหว่างเดือนมกราคมถึงเมษายน ช่วงเวลาที่ลำไยกำลังเกิดช่อดอกและติดผล ซึ่งช่วงดังกล่าว จะพบทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัย สำหรับยาฆ่าแมลงพวกคาร์บาริลจะใช้ได้ผลดีในระยะที่แมลง เป็นตัวอ่อนในวัย 1 – 2 เท่านั้น ถ้าพ่นในวัยอื่นจะไม่ได้ผล
ด้วงหนวดพู่
ด้วงหนวดพู่ (Long-horned beetle) หรือเรียกว่า ด้วงหนวดยาวทหาร วงจรชีวิตของด้วงหนวดพู่ หนอนที่ฟักใหม่สีขาวครีม เริ่มกัดกินไชชอนใต้เปลือกไม้ ถ่ายมูลออกมาเป็นขุยไม้ติดอยู่ภายนอกเป็นระยะๆ ตามเส้นทางที่หนอนไชชอนอยู่ใต้เปลือกไม้ หนอนโตเต็มที่มีขนาดยาว 8 – 10 เซนติเมตร ระยะหนอน 280 วัน จากนั้นจะเริ่มเจาะเข้าเนื้อไม้แข็ง หดตัวและเข้าดักแด้ เป็นตัวเต็มวัยใช้เวลา 24 – 29 วัน
ด้วงหนวดพู่
ด้วงหนวดพู่ ที่เป็นตัวเต็มวัย มีขนาดเล็กไม่ถึงหัวนิ้วโป้งมือ แต่สามารถทำลายต้นไม้ตายได้ โดยกัดกินไชชอนจากเปลือกไม้ สู่เนื้อไม้ เจาะทำลายไม้ขนาดใหญ่ให้ตายได้ภายในไม่กี่เดือน พืชอาหารของด้วงหนวดยาว มีหลากหลาย เช่น ต้นสนทะเล สนประดิพัทธ์ พะยูง นนทรี ตะแบก ยูคาลิปตัส อินทนิลน้ำ กุหลาบ รวมทั้ง ลำไย ลักษณะการทำลายต้นลำไย ตัวแก่ของด้วงหนวดพู่จะกัดแทะผิวเปลือก ก้านช่อใบ ทำให้ช่อใบแห้ง รวมทั้ง เจาะกิ่ง และลำต้นทำให้กิ่งแห้ง
แนวทางป้องกันและกำจัด ด้วงในระยะหนอน แนะนำให้ใช้ imidacloprid (Confidor 100SL 10%SL) acetamiprid (Molan 20%SP) และ thiametoxam (Actara 25% WG) อัตรา 30 มิลลิลิตร 30 และ 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร จะได้ผลดีในการกำจัด ส่วนระยะไข่ หากฉีดพ่นสาร dinotefuran (Starkle 10%WP) อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ก็ได้ผลดีเช่นกัน