ชาวสวน ต้องเรียนรู้การใช้น้ำอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพในสวนผลไม้

พื้นที่ปลูกไม้ผลขยายมากขึ้นในขณะที่แหล่งน้ำมีเท่าเดิม เมื่อเข้าสู่ฤดูแล้งของทุกปีปัญหาการขาดแคลนน้ำและการแย่งชิงน้ำเพื่อใช้ในสวนไม้ผล จะทวีความรุนแรงมากขึ้น การใช้น้ำอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพจึงเป็นสิ่งที่ชาวสวนสามารถทำได้เพียงแต่ต้องอาศัยความเข้าใจเรื่องต่อไปนี้

#เข้าใจการใช้น้ำของพืช

ต้องเข้าใจว่าการดูดน้ำของพืช เริ่มจากปลายรากพืชโดยมีขนรากช่วยเพิ่มพื้นที่ในการดูดน้ำ การดูดน้ำของพืชเป็นแบบ osmosis คือ น้ำจากบริเวณที่มีความเข้มข้นน้อยเคลื่อนผ่านมายังบริเวณที่มีความเข้มข้นมาก บริเวณปลายรากพืชจะมีสารที่มีความเข้มข้นมากกว่าน้ำที่อยู่บริเวณด้านนอกน้ำจึงเคลื่อนที่เข้าสู่รากพืชได้ เมื่อน้ำเข้าสู่รากพืชแล้วจะมีการลำเลียงน้ำผ่านท่อน้ำ(ไซเลม)ขึ้นจากด้านล่างสู่ยอดในทิศทางเดียว การเคลื่อนที่ของน้ำอาศัยแรงดันรากและแรงดึงจากการคายน้ำ ดังนั้นเมื่ออากาศร้อนปากใบพืชปิด เราจึงไม่ควรให้น้ำช่วงนี้ ควรให้น้ำเช้าหรือเย็นแทน

316960664 476860997926453 1649347378346794128 n
ใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ

#เข้าใจสภาวะน้ำในดินที่พืชจะนำไปใช้ได้

ต้องเข้าใจว่าโครงสร้างของดินประกอบด้วยอนินทรีย์วัตถุ 45 % อินทรีย์วัตถุ 5% อากาศ 25%และน้ำ 25% น้ำในดินจะอยู่ตามส่วนที่เป็นช่องว่างในเนื้อดินและตามผิวของอนุภาคดินโดยมีแรงยึดของเม็ดดินและระหว่างน้ำด้วยกันยึดไว้ เมื่อเราให้น้ำปริมาณมาก น้ำจะอยู่เต็มช่องว่างในดินไปแทนที่อากาศเมื่อไม่มีอากาศรากพืชก็ไม่สามารถนำน้ำไปใช้ได้จนกว่าน้ำในช่องว่างขนาดใหญ่จะระบายออกเหลือเฉพาะน้ำในช่องว่างขนาดเล็กและมีอากาศเพียงพอ พืชจึงจะนำน้ำไปใช้ประโยชน์ได้ ดังนั้นการให้น้ำมากเกินไปจึงเป็นการสูญเปล่า

#เข้าใจความต้องการน้ำของพืช

ต้องเข้าใจว่าความต้องการน้ำของพืชสามารถคำนวณจากค่าอ้างอิงการใช้น้ำของพืชต่อวันคูณด้วยค่าสัมประสิทธิ์การใช้น้ำของพืช(kc) ยกตัวอย่างเช่นทุเรียนในระยะติดผลมีค่าสัมประสิทธิ์การใช้น้ำเท่ากับ 0.85 ในขณะที่เดือนเมษายนของจังหวัดจันทบุรีมีค่าอ้างอิงการใช้น้ำของพืชต่อวันอยู่ที่ 4.9 เมื่อคูณกันแล้วได้เท่ากับ 4.16 มม.หมายความว่าทุเรียนจังหวัดจันทบุรีในระยะติดผลมีความต้องการใช้น้ำ 4.16 มม.( 4.1 6 ลิตรต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร)

316942065 476860804593139 6675763001455264455 n

ดังนั้น ถ้าอยากทราบว่าต้นทุเรียนในสวนเราต้องการน้ำวันละกี่ลิตรก็คำนวณหาพื้นที่ใต้ทรงพุ่มแล้วเอา 4.16 คูณเข้าไปยกตัวอย่างเช่นต้นทุเรียนมีเส้นผ่าศูนย์กลางทรงพุ่ม 6 เมตรเท่ากับรัศมี 3 เมตรเอา3.14*(3*3)เท่ากับพื้นที่ใต้ทรงพุ่ม 28.26 ตารางเมตร*4.16 จะได้เท่ากับ117.56 ลิตรต่อต้นต่อวันเท่านั้นเอง ซึ่งหมายความว่า ถ้าเราให้น้ำต้นทุเรียนประมาณวันละ 120 ลิตรต่อต้นทุกวัน ก็เพียงพอแล้ว

#เข้าใจประสิทธิภาพของระบบน้ำ

ต้องเข้าใจว่าการให้น้ำแบบสปริงเกอร์มีประสิทธิภาพต่ำเพราะให้น้ำปริมาณมากเกินกว่าที่ดินจะซึมซาบได้ทันทำให้เกิดการไหลบ่าและสูญเสียน้ำมากในขณะที่ระบบน้ำแบบมินิสปริงเกอร์ที่เป็นละอองฝอยจะมีประสิทธิภาพสูงกว่าและประหยัดน้ำมากกว่าจึงควรปรับเปลี่ยนเป็นแบบมินิสปริงเกอร์ที่สามารถเปิดน้ำได้ครั้งละหลายหัวใช้แรงดันต่ำประหยัดทั้งน้ำและไฟฟ้า หัวใจสำคัญก็คือ การใช้น้ำอย่างประหยัดและคุ้มค่า

โดยสรุป ความต้องการใช้น้ำเพื่อการเพาะปลูก สามารถวิเคราะห์ได้จากปริมาณน้ำที่พืชใช้เพื่อการเจริญเติบโต โดยพื้นที่ที่ทำการเพาะปลูกนั้นอาจได้รับน้ำดังกล่าวจากน้ำฝน รวมกับน้ำที่จัดหามาเพิ่ม จากการบริหารจัดการน้ำและการพัฒนาแหล่งน้ำที่สร้างขึ้นหรือใช้แต่น้ำที่ได้มาจากงานพัฒนาแหล่งน้ำ ที่สร้างขึ้นเพียงอย่างเดียว ซึ่งปริมาณดังกล่าวเป็นน้ำ ที่พืชใช้ เพื่อการเจริญเติบโตในแปลงเพาะปลูก รวมกับน้ำที่สูญเสีย เนื่องจากการรั่วซึมลงในดิน และที่ไหลออกจากแปลงปลูกพืชไปตามผิวดินด้วย

ความต้องการน้ำสำหรับ พืชไร่ ผัก และต้นไม้ผล มีความต้องการน้ำมากหรือน้อย ในปริมาณ แตกต่างกัน นอกจากนั้น แต่ละช่วงของการเจริญ เติบโตสำหรับพืชต่าง ๆ ก็ต้องการน้ำในอัตราไม่เท่ากัน นั่นคือ ระยะแรกปลูก พืชมีความต้องการน้ำน้อย และจะต้องการเพิ่มมากขึ้น จนต้องการน้ำมากที่สุด เกษตรกรจึงต้องวางแผนการจัดการน้ำและพัฒนาแหล่งน้ำให้เหมาะสม

ที่มา-สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 +สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร ( องค์การมหาชน)