วันที่ 13 พ.ย. 65 เพจกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้โพสต์ข้อความพร้อมรูปภาพ ว่า
ช้างเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่นอนน้อยที่สุดในโลก โดยช้างป่านอนเพียง 1-3 ชั่วโมงต่อวัน มีช่วงเวลานอน 1-2 ครั้ง (ช่วงเวลา 21.00 – 05.00 น.)
ลักษณะการนอนของช้าง : ช้างนอนอยู่ในท่ายืน ลำตัวโน้มไปข้างหน้าและแกว่งงวงเล็กน้อย ช้างที่นอนในท่ายืนส่วนใหญ่ คือ”ช้างแม่แปรก” เพื่อเฝ้าระวังภัยให้ปลอดภัยแก่ช้างในโขลง
ส่วนลูกช้างทั่วไป รวมทั้ง “เจ้าตุลา” จะนอนหลับในท่าตะแคงด้านข้าง และนอนวันละ 3-4 ครั้งเป็นเวลา 10 นาที – 2 ชั่วโมง
โดยช้างจะใช้เวลาที่เหลือจากการนอน กินอาหารและเดินเที่ยวป่า การหลับในท่ายืน คือ การจำกัดการหลับลึก ซึ่งเป็นช่วงที่มี การกรอกตาอย่างรวดเร็ว (REM: Rapid Eye Movement)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีคนเข้ามาให้ข้อมูลเพิ่ม ว่า “เจ้าตุลา” ช้างน้อยจะตะแคงข้างนอนและต้องมีอุปกรณ์หนุนนอน พร้อมเพลงฟัง สบาย ๆ สไตล์คุณชายด้วย
ส่วนอีกคน เข้ามาเขียนว่า ทีแรกได้อ่านข่าวน้องตุลาครั้งแรก ตี 1 เดินมาพบเจ้าหน้าที่และเจ้าหน้าที่ก็กลัวว่าแม่เขาจะตามหาไม่เจอ เจ้าหน้าที่ก็เลยเอากลับเข้าป่าพอสักพักผ่านไป 2 ชั่วโมง ตี 3 กลับมาหาเจ้าหน้าที่เหมือนเดิมเหมือนน้องมาขอความช่วยเหลือเพราะว่าแม่คงทิ้งไปนานแล้ว โชคดีมากเลยนะ น้องฉลาดที่มาให้คนอุปการะช่วยเหลือ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช้างอยู่ในสังคมที่มีลำดับโครงสร้าง การใช้ชีวิตในสังคมของช้างเพศผู้และเพศเมียมีความแตกต่างกันมาก โดยเพศเมียจะใช้เวลาทั้งชีวิตในกลุ่มครอบครัวหรือโขลง ที่มีความสัมพันธ์แน่นหนา ซึ่งประกอบด้วยแม่ ลูก พี่น้อง ป้าและน้า กลุ่มเหล่านี้จะถูกนำโดยเพศเมียตัวที่มีอายุมากที่สุด ซึ่งเรียกว่า แม่แปรก (matriarch) ในขณะที่เพศผู้ ตัวเต็มวัยใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่อย่างสันโดษ
วงสังคมของช้างเพศเมียมิได้สิ้นสุดลงด้วยหน่วยครอบครัวขนาดเล็ก นอกเหนือไปจากการพบปะกับช้างเพศผู้ท้องถิ่นซึ่งอยู่ตามริมโขลงตั้งแต่หนึ่งโขลงขึ้นไป ชีวิตของช้างเพศเมียยังมีปฏิสัมพันธ์กับครอบครัว เผ่าหรือกลุ่มประชากรย่อย กลุ่มครอบครัวใกล้ชิดส่วนใหญ่จะมีช้างตัวเต็มวัยระหว่างห้าถึงสิบห้าตัว เช่นเดียวกับช้างเพศผู้และเพศเมียที่ยังไม่โตเต็มวัยอีกจำนวนหนึ่ง เมื่อกลุ่มเริ่มมีขนาดใหญ่เกินไป ช้างเพศเมียที่มีอายุมากจำนวนหนึ่งจะแยกตัวออกไปและตั้งกลุ่มขนาดเล็กของตนเอง อย่างไรก็ตาม พวกมันยังคงรู้ว่าโขลงใดที่เป็นหมู่ญาติและโขลงใดที่ไม่ใช่
ชีวิตของช้างเพศผู้ ตัวเต็มวัยนั้นแตกต่างจากช้างเพศเมียอย่างมาก โดยเมื่อมันมีอายุมากขึ้น มันจะใช้เวลาที่ขอบของโขลงนานขึ้น โดยจะค่อย ๆ ปลีกตัวไปอยู่สันโดษคราวละหลายชั่วโมงหรือหลายวัน จนกระทั่งเมื่อช้างมีอายุได้ประมาณสิบสี่ปี ช้างเพศผู้ก็จะแยกตัวออกจากโขลงที่ตนกำเนิดขึ้นอย่างถาวร แต่แม้ว่าช้างเพศผู้จะใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่อย่างสันโดษ แต่พวกมันยังคงมีสายสัมพันธ์หลวม ๆ กับช้างเพศผู้ตัวอื่นด้วยเป็นบางครั้ง ช้างเพศผู้จะใช้เวลาไปกับการต่อสู้แย่งชิงความเป็นใหญ่มากกว่าเพศเมีย มีเพียงช้างเพศผู้ที่แข็งแกร่งที่สุดเท่านั้นที่จะสามารถผสมพันธุ์กับตัวเมียได้ ส่วนช้างเพศผู้ที่มีอำนาจน้อยกว่าจะต้องรอคอยจนกว่าจะถึงรอบของมัน ช้างเพศผู้ที่สืบพันธุ์มักจะมีอายุมากถึงสี่สิบห้าสิบปีแล้ว
การต่อสู้เพื่อแย่งชิงความเป็นใหญ่กันระหว่างเพศผู้นั้นอาจดูดุร้ายมาก แต่ที่จริงแล้วต่างฝ่ายต่างได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อยเท่านั้น การต่อสู้กันส่วนใหญ่นั้นเป็นรูปแบบของการแสดงท่าทีก้าวร้าวและการข่มขู่กัน โดยปกติแล้ว ช้างที่ตัวเล็กกว่า มีอายุน้อยกว่า และมีความมั่นใจน้อยกว่าจะหลีกเลี่ยงการต่อสู้กันก่อนที่จะเริ่มสู้กันจริง ๆ
อย่างไรก็ตาม ในช่วงฤดูผสมพันธุ์ การต่อสู้กันนี้อาจมีความก้าวร้าวอย่างมาก และในบางครั้งอาจมีช้างตัวใดตัวหนึ่งได้รับบาดเจ็บ ในช่วงฤดูนี้ ซึ่งรู้จักกันว่า ฤดูตกมัน ช้างเพศผู้ตัวเต็มวัยจะสู้กับช้างเพศผู้ตัวอื่นเกือบทุกตัวที่มันพบ และมันจะใช้เวลาส่วนใหญ่ในช่วงนี้เตร็ดเตร่อยู่รอบโขลงเพศเมีย โดยพยายามหาคู่ที่อาจเข้ากันได้
ที่มาภาพ : ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 ศรีราชา