นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรโดยกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย ได้ขับเคลื่อนงานอารักขาพืชผ่านกลไกศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน หรือ ศจช. ซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช และถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยีด้านการจัดการศัตรูพืชให้กับเกษตรกรในพื้นที่
โดยกรมส่งเสริมการเกษตรได้ขับเคลื่อนการถ่ายทอดความรู้ต่อเนื่องจากการที่องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เข้ามาถ่ายทอดองค์ความรู้ 4+1 เทคโนโลยี ในการจัดการศัตรูข้าวและทำให้เกษตรกรสามารถทำนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย
1) เทคโนโลยีการปรับพื้นที่ด้วยระบบเลเซอร์ เป็นการปรับระดับพื้นที่นาข้าว โดยจะเกลี่ยดินจนกระทั่งพื้นที่แปลงนามีความสูง-ต่ำราบเรียบเสมอกันด้วยระบบเลเซอร์ ซึ่งนอกจากช่วยลดจำนวนวัชพืชแล้ว ยังลดการใช้ปุ๋ย ประหยัดน้ำที่ใช้ในการปลูกข้าวได้ประมาณ30-50% ช่วยให้เกษตรกรประหยัดต้นทุนค่าเชื้อเพลิงสูบน้ำเข้าแปลงนา และยังช่วยเพิ่มผลผลิตและคุณภาพข้าวด้วย
2) การทำนาแบบเปียกสลับแห้ง ซึ่งเป็นเทคนิคการทำนาที่ให้น้ำแก่ต้นข้าวในระยะที่ข้าวต้องการเท่านั้น โดยมีเครื่องมืออย่างง่ายเพื่อช่วยสังเกตระดับน้ำใต้ดินเป็นท่อพีวีซี (PVC) ที่มีขนาด 4 นิ้ว ยาวประมาณ 5 เซนติเมตร และเจาะรูรอบท่อประมาณ 4-5 แถว แต่ละแถวห่างกัน 5 เซนติเมตร ซึ่งการทำนาด้วยวิธีนี้จะช่วยให้ระบบรากข้าว การแตกกอ และความสมบูรณ์ของรวงข้าวดีขึ้น ประหยัดน้ำและลดระยะเวลาการขังน้ำไว้ในนามากเกินไป ทำให้เป็นแหล่งเพาะโรคแมลงต่าง ๆ ได้
3)การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินหรือปุ๋ยสั่งตัด เพื่อลดการใช้ปุ๋ยมากเกินความจำเป็น ทำให้ดินเสื่อมสภาพ และส่งผลกระทบต่อคุณภาพข้าวได้ โดยเกษตรกรสามารถสมัครเป็นสมาชิกและขอคำแนะนำในด้านการจัดการดินและปุ๋ยได้ที่ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนหรือ ศดปช. ใกล้บ้าน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
4) เทคโนโลยีการจัดการฟางและตอซัง โดยอัดเป็นฟางก้อน สำหรับเป็นอาหารสัตว์ หรือเป็นวัสดุเพาะพันธุ์พืช จากนั้นไถกลบตอซังแล้วปล่อยทิ้งไว้ 15 – 30 วัน ก่อนเตรียมดิน สามารถลดการใช้ปุ๋ยเคมีในนาข้าวในฤดูต่อ ๆ ไป โดยยังคงได้ผลผลิตมากเท่าเดิมและเป็นการหยุดเผาเพื่อป้องกันดินเสื่อมโทรมด้วย
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับอีกหนึ่งเทคโนโลยีสำคัญคือ การจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน หรือ IPM เป็นการควบคุมศัตรูพืช ที่ใช้หลายวิธี (อย่างน้อยสองวิธี) ไม่ว่าจะเป็นวิธีกล เช่น กับดักกาวเหนียว วิธีเขตกรรม เช่น การไถตากดินก่อนปลูกพืช วิธีการฟิสิกส์ การใช้กับดักหลอดไฟล่อตัวเต็มวัยมาทำลาย
การควบคุมโดยชีววิธี เช่น ใช้ชีวภัณฑ์และแมลงศัตรูธรรมชาติในการควบคุมศัตรูพืชและการใช้วิธีทางเคมี โดยใช้ร่วมกันอย่างเหมาะสมตามสถานการณ์ เพื่อลดปริมาณศัตรูพืชลงไม่ให้ก่อความเสียหายต่อพืช และผลผลิตพืชอย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่าต่อการลงทุน ได้กำไรสูงสุด ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตอื่นและสิ่งแวดล้อม
โดยศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน ตำบลเดิมบาง อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นพื้นที่นำร่องในการนำ 4+1เทคโนโลยี ดังกล่าว มาใช้แก้ปัญหาในพื้นที่ซึ่งประสบปัญหาการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลอย่างรุนแรง ประกอบกับสำรวจติดตามสถานการณ์ศัตรูพืช และร่วมกันผลิตขยายชีวภัณฑ์ด้วยตนเอง เพื่อใช้ในชุมชนมาจนถึงปัจจุบัน สามารถจัดการศัตรูข้าว
และทำนาอย่างมีประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการทำนาลงเกือบ 2,000 บาทต่อไร่ ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นเกือบ 300 กิโลกรัมต่อไร่ และล่าสุดได้รับรางวัลศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนดีเด่นระดับเขต ปี 2564 ซึ่งทางศูนย์ก็พร้อมจะทำหน้าที่เป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่ชาวนาที่ต้องการมาศึกษาดูงานต่อไป