“การได้ทำในสิ่งที่ตนรัก และลงมือปฏิบัติจริง ได้ลองผิดลองถูก คนที่ขยันอยู่ที่ไหนก็ไม่มีวันตาย เกษตรผสมผสานเป็นทางออกที่ดีที่สุดและได้ผลเร็วที่สุด ผมไม่คิดที่จะหวังรวย แต่คิดเสมอว่า ทำยังไงให้ครอบครัวพอมีพอกิน และมีรายได้ทุกวันแค่นี้ก็เพียงพอแล้วกับชีวิต” นายแสวง ทองสุข เกษตรกรต้นแบบปิดทองหลังพระฯ และครูภูมิปัญญาแห่งลุ่มน้ำยาว อ.สองแคว จ.น่าน
ลุงแสวง เล่าว่า บนพื้นที่ 2 ไร่ 4 ตารางวา ที่ลุงใช้ในการทำเกษตรผสมผสาน ปลูกกล้วยหอม กล้วยน้ำว้า มะนาว มะไฟ มะแขว่น ส้มโอ สับปะรด ไผ่ และพืชผักสวนครัวต่าง ๆ อยู่ทุกวันนี้ ในอดีตเคยเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดมาก่อน ซึ่งขณะนั้นรายได้ในแต่ละปีไม่ดีนัก ผนวกกับต้นทุนที่ต้องไปกู้ยืมมาจากสหกรณ์และเจอปัญหาขาดทุนในบางปีที่ดินฟ้าอากาศหรือกลไกตลาดไม่เป็นใจ ก็ทำให้ก่อหนี้ไม่รู้ตัว
ตอนนั้นเลยเก็บข้าวของเข้าไปหางานทำในกรุงเทพฯ เพื่อหาเงินใช้หนี้ใช้เวลา 4 ปี ก็หาเงินมาใช้หนี้ได้ จึงเดินทางกลับบ้านมาในปี 2549 เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ และจังหวะโชคดีเป็นปีเดียวกับที่มูลนิธิศุภนิมิตได้เข้ามาในหมู่บ้าน และรับสมัครเกษตรกรที่สนใจจะไปอบรมศึกษาดูงานที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่มาปรับใช้ในพื้นที่ของตนเอง
“ลุงแสวง” ได้ตัดสินใจสมัครเข้าร่วมการดูงานในครั้งนั้น เพราะหวังว่าจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อชีวิตเกษตรกรธรรมดา ๆ คนหนึ่ง ที่รักและสนใจในการทำเกษตรแบบผสมผสาน
หลังจากที่ได้ไปดูงานกลับมา “ลุงแสวง ” ได้เห็น ได้จำ มาถึงบ้านก็ “ทำ ทัน ที” ลุงแสวง เล่าให้ฟังว่า การทำเกษตรผสมผสานของลุง ยึดหลักการที่ให้มีความหลากหลายของกิจกรรม ทั้งในส่วนของการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ เพื่อสร้างรายได้ตลอดปี เพราะลุงมีพื้นที่จำกัด
ดังนั้น พืชและสัตว์ที่จะนำมาปลูกและเลี้ยง จึงต้องผ่านการศึกษาหาความรู้ก่อนเสมอ ทั้งในเรื่องการเจริญเติบโต ผลตอบแทน การหมุนเวียนและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรภายในสวน และความหลากหลายในการใช้ประโยชน์ เพื่อให้สวนเกษตรเป็นเสมือนห้างสรรพสินค้าใกล้บ้านที่มีทุกสิ่งให้เลือกสรร ไม่เพียงแต่ตนเองและครอบครัว แต่ยังเผื่อแผ่ไปถึงเพื่อนบ้านในหมู่บ้านยอดอีกด้วย
1.การเลี้ยงปลาดุก คือ สิ่งแรกที่ ลุงแสวง ลงมือ หลังกลับมาจากการดูงาน คือการขุดบ่อดินขนาด 3 x 3 x 2 เมตร ด้วยตนเองเพื่อที่จะใช้เลี้ยงปลาดุก เนื่องจากได้รับการสนับสนุนพันธุ์ปลาดุกให้คนที่ไปดูงานคนละ 200 ตัว อาหารที่ใช้เลี้ยงก็อาศัยจากธรรมชาติเศษใบไม้ จะให้อาหารเม็ดสำเร็จรูปบ้างตอนปลายังเล็กเพื่อเร่งการเจริญเติบโต จนทำให้ครอบครัวมีรายได้จากการขายปลาปีละ 5,000 บาท
กระทั่งในปี 2552 สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ได้เข้ามาในพื้นที่ ขณะนั้น ลุงแสวง ได้ขุดบ่อดินขนาด 4 x 4 x 3 เมตร เพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งบ่อ ซึ่งได้รับการสนับสนุนผ้ายาง PE ปูบ่อ และพันธุ์ปลากินพืชอย่าง ปลานิล ปลาไน ปลายี่สก รวมทั้งหมด 200 ตัว จากโครงการปิดทองหลังพระฯ การให้อาหารปลากินพืชของ ลุงแสวง เป็นสูตรเฉพาะตัวเรียกว่า “อาหารปลาสลับต้นสา” คือ จะให้อาหารเม็ดปริมาณ 1 ขันน้ำพลาสติกก่อน
จากนั้นอีกวันก็จะใช้รำละเอียดควบคู่กับต้นมันสำปะหลังที่คนเมืองเหนือรู้จักกันในชื่อต้นสา 3 -4 ต้น (หากเป็นกิ่งก็ 7 – 8 กิ่ง) สลับกันไปกับอาหารสำเร็จ ต้นสาไม่เพียงช่วยทำให้ปลาอิ่มท้องเท่านั้น แต่ยังมีสรรพคุณทางยาช่วยในเรื่องระบบขับถ่ายของปลาอีกด้วย
2. การเลี้ยงกบ ลุงแสวง ได้ทดลองเลี้ยงกบในบ่อซีเมนต์ เริ่มจากการซื้ออิฐบล็อกมาก่อเป็นบ่อขนาด 3 x 2 เมตร และซื้อพันธุ์กบ 100 ตัว ในราคาตัวละ 1.50 บาท ใช้อาหารเม็ดต้นทุนกระสอบละ 350 บาท 2 ถุง ระยะเวลา 3 เดือน กบก็สามารถขายได้แล้ว มีรายได้จากการขายกบปีละ 5,000 บาท ไม่เพียงแต่เลี้ยงกบขายอย่างเดียว ลุงแสวงยังสามารถขยายพันธุ์กบด้วยตัวเอง เพื่อลดต้นทุนในการซื้อพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ โดยมีเทคนิคคือ จับกบตัวผู้และตัวเมียแยกออกมาไว้อีกบ่อ เพื่อให้ผสมพันธุ์กัน เมื่อกบวางไข่ก็จะจับพ่อและแม่พันธุ์ออก แล้วคอยเปลี่ยนน้ำให้สะอาดอยู่ตลอด ให้อาหารเม็ดจนกว่าลูกอ็อดจะโตเต็มวัย แล้วเลี้ยงปกติ
3.การเลี้ยงหมูเหมยซาน ลุงแสวงได้รับการสนับสนุนหมูเหมยซานเพศเมีย 1 ตัว มาจากโครงการปิดทองหลังพระฯ เมื่อปี 2553 โดยมีข้อแม้ว่าเป็นการให้ยืมเมื่อหมูคลอดแล้วคนที่เลี้ยงจะต้องคืนลูกหมู 3 ตัว เพื่อที่จะเอาไปต่อยอดให้คนอื่นที่สนใจจะเลี้ยงต่อไปในลักษณะของกองทุน ซึ่งลุงแสวง ได้คืนลูกหมูให้กับโครงการฯ ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วตั้งแต่เมื่อปี 2554 และเลี้ยงมาเรื่อยปัจจุบันมีเหลือหมู อยู่ 2 ตัว รายได้จากการขายหมูอยู่ที่ปีละ 15,000 บาท โดยใน 1 ปีจะขายอยู่ 2 ครั้ง การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ลุงแสวง มีรายได้จากการทำเกษตรผสมผสานปีละไม่ต่ำกว่า 70,000 บาท
นอกจากนี้ ยังมีรายได้รายวันจากการจัดการแปลงเกษตรวันละไม่ต่ำกว่า 600 บาท ลดรายจ่ายค่าอาหารเดือนละ 1,000 บาท ไม่มีหนี้สิน และมีเงินเก็บออมปีละประมาณ 30,000 บาท