“ครั่ง” เป็นแมลงเศรษฐกิจสำคัญที่กรมส่งเสริมการเกษตรให้การส่งเสริมการเลี้ยงเป็นอาชีพเสริมหรืออาชีพทางเลือกที่มั่นคงให้กับเกษตรกร
“ครั่ง” ในประเทศไทยนั้น มักขึ้นอยู่กับต้นจามจุรีหรือต้นฉำฉาหรือก้ามปู นอกจากนั้นยังมีการเพาะเลี้ยงครั่งกับต้นลิ้นจี่ ซึ่งพบมากทางเหนือโดยเฉพาะจังหวัดลำปาง
การเจริญเติบโต
ครั่ง มีการเจริญเติบโตจากไข่ เป็นตัวอ่อน ดักแด้ และตัวเต็มวัย ตามลำดับดังนี้
ไข่ มีสีแดง โดยครั่งตัวเมียจะวางไข่ในช่องว่างภายในเซลล์ มีอายุในสภาพไข่ประมาณ 8-20 นาที ไข่นั้นจะถูกฟักเป็นตัวอ่อนหรือเป็นลูกครั่งในช่องว่างนั้น และจะคลานออกมาทางช่องสืบพันธุ์
ตัวอ่อนหรือลูกครั่งจะไม่สามารถแยกเพศผู้หรือเพศเมียได้ ลูกครั่งจะหาที่ยึดเกาะบนกิ่งไม้ แล้วดูดกินน้ำเลี้ยงจากต้นไม้เป็นอาหาร โดยไม่เคลื่อนย้ายที่อยู่อีกต่อไป แต่จะเกาะเรียงตัวกันประมาณ 220 ตัวในพื้นที่ 1 ตามรางเซนติเมตร
ต่อจากนั้นจะขับสารเหนียวออกมาห่อหุ้มตัวและลอกคราบหลายครั้งเจริญเติบโตเปลี่ยนแปลงรูปร่างเป็นครั่งตัวผู้และครั่งตัวเมียเกาะจับกิ่งไม้สีขาวโพลน โดยทั่วไปครั่งตัวอ่อนจำนวน 100 ตัว จะมีอัตราส่วนระหว่างตัวผู้กับตัวเมียระหว่าง 30 : 70
ครั่งตัวผู้ จะโตเต็มที่เมื่อมีอายุ 55 วัน มี 2 ชนิด คือ ชนิดมีปีก และไม่มีปีก ตัวผู้มีปีกจะบินไปผสมกับครั่งบนกิ่งไม้ต้นอื่นได้ ส่วนตัวผู้ไม่มีปีกจะคลานไปผสมกับครั่งตัวเมียที่เกาะบนกิ่งเดียวกัน
ครั่งตัวเมีย รูปร่างคล้ายถุง มีสีแดงไม่มีขา จึงไม่มีการเคลื่อนที่นอกจากผลิตเรซินและขับถ่ายสารเหนียว จะโตเต็มที่พร้อมผสมพันธุ์ที่อายุ 60 วัน
เมื่อ ครั่ง มีอายุ 126-140 วัน รังไข่จะเจริญเต็มที่พร้อมวางไข่ และไข่จะฟักเป็นตัวออกมาทางช่องอวัยวะสืบพันธุ์
ครั่ง 1 ตัว จะออกลูกได้คราวละประมาณ 300 ตัว แล้วแม่ครั่งจะแห้งตายไป แต่ถ้าเป็นครั่งตัวเมียที่สมบูรณ์ยังสามารถสืบพันธุ์ต่อได้โดยไม่ต้องผสมพันธุ์ โดยให้อัตราส่วนตัวผู้ต่อตัวเมีย เป็นไปตามปกติ คือ 30 : 70
วิธีการเลี้ยงครั่ง
เริ่มจากการนำตัวอ่อนแมลงครั่งไปปล่อยบนกิ่งไม้ แต่การเลี้ยงให้ได้ผลผลิตสูง มีคุณภาพดี จะมีปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้องหลายอย่าง ดังนี้
1.พันธุ์ไม้
พันธุ์ไม้ที่ใช้เลี้ยงแมลงครั่งได้ดี ได้แก่ ต้นจามจุรี สะแก ปันแถ พุทราป่า มะแฮะนา มะเดื่อ อุทุมพร ควรเป็นต้นไม้ที่มีอายุ 4-5 ปีขึ้นไป เพราะถ้าต้นไม้ไม่ใหญ่และแข็งแรงพอ เมื่อแมลงครั่งจับทำรังมากไป อาจทำให้ต้นไม้ตายได้
2. การเตรียมต้นไม้ที่จะปล่อยแมลงครั่ง
มีความสำคัญอย่างยิ่ง ทรงพุ่มต้นไม้ต้องโปร่งเพื่อให้รังครั่งไม่อับชื้นเวลาฝนตก เพราะตัวอ่อนแมลงครั่งจะอาศัยอยู่ตามกิ่งอ่อน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กกว่า 1/2 นิ้ว จึงควรมีการตัดทอนกิ่งแก่เพื่อให้ต้นไม้แตกกิ่งอ่อนและทิ้งให้เจริญเติบโตประมาณ 6-12 เดือนก่อนปล่อยแมลงครั่ง
3.การเตรียมพันธุ์ครั่ง (brood lac)
พันธุ์ครั่งของไทยส่วนมากเป็นพันธุ์พื้นเมืองที่ใช้เลี้ยงต่อเนื่องกันมา ควรเลือกพันธุ์ครั่งที่ให้ปมหนา มีความสมบูรณ์ใช้ทำพันธุ์ ดังนี้
3.1 ตัดพันธุ์ครั่งเป็นท่อนยาวประมาณ 6-7 นิ้ว
3.2 ห่อด้วยฟางข้าวแล้วมัดด้วยตอกหรือเชือกที่ปลายทั้ง 2 ข้าง (พันธุ์ครั่ง 1 กก. ควรแบ่งห่อ 6-10 มัด)
3.3 นำพันธุ์ครั่งที่ห่อเรียบร้อยแล้ว 2 มัดผูกติดกันที่ปลายข้างหนึ่ง เพื่อสะดวกต่อการนำไปแขวนคร่อมบนกิ่งไม้
4.วิธีปล่อยพันธุ์ครั่ง
ควรปล่อยให้กระจายบนกิ่งทั่วต้น โดยปล่อยจากกิ่งล่างก่อน มี 2 วิธี
4.1 ใช้ไม้ง่ามช่วยแขวนพันธุ์ครั่งคร่อมกิ่งที่ต้องการปล่อย
4.2 ผูกพันธุ์ครั่งให้ขนานและแนบติดตามความยาวของกิ่งโดยวางรังครั่งด้านบนของโคนกิ่ง ควรเก็บพันธุ์ครั่งหลังแขวนแล้ว 3 สัปดาห์ เพื่อป้องกันแมลงศัตรูที่อาจมีติดมาด้วย และรังครั่งนั้นสามารถนำไปขายได้
5.การตัดครั่งทำพันธุ์และการเก็บผลผลิตครั่ง
5.1 การตัดครั่งทำพันธุ์ ควรตัดระยะครั่งออกตัว (ระยะที่ลูกครั่งฟักออกจากไข่และคลานออกจากรังไปหากิ่งใหม่) ประมาณเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน โดยมีระยะการออกตัวของลูกครั่งนาน 2-3 สัปดาห์จึงจะหมดรัง ถ้าลูกครั่งตัวไหนไม่สามารถหาที่อยู่หรือเกาะบนกิ่งไม้ได้จะตายภายใน 2-3 วัน โดยครั่งจะเริ่มออกตัวในตอนเช้า และออกมากในเวลากลางวัน
5.2 การเก็บผลผลิตครั่ง การตัดครั่งขายจะตัดเมื่อครั่งแก่เต็มที่แต่ยังไม่ถึงระยะที่ครั่งออกตัว โดยตัดด้านล่างกิ่งก่อน ดังนี้
ถ้ากิ่งเล็กกว่า 1 นิ้วให้ตัดชิดกิ่งใหญ่
ถ้ากิ่งขนาด 1-2 นิ้วให้ตัดเหลือตอไว้ประมาณ 11/2 ฟุต
ถ้ากิ่งขนาดโตกว่า 2 นิ้วให้ใช้มีดกะเทาะเอาครั่งออกแทนการตัดกิ่ง
5.3 วิธีเตรียมครั่งไว้ขาย เมื่อตัดครั่งลงจากต้นแล้ว ควรรีบกะเทาะครั่งออกจากกิ่งไม้ แล้วตากให้แห้งและรีบขายให้โรงงานทำครั่งเม็ดให้เร็วที่สุด
ในประเทศไทยการเลี้ยงครั่งทำได้สะดวกเนื่องจากสภาพดินฟ้าอากาศอำนวย ต้นไม้ที่ครั่งชอบซึ่งได้แก่ ตะกร้อ ทองกวาว สะแก จามจุรีและอื่น ๆ อีกหลายชนิดขึ้นได้งอกงามดีมาก ทำให้สามารถเก็บครั่งขายได้ถึงปีละสองครั้ง ในประเทศไทยมีการเลี้ยงครั่งกันมากในบางจังหวัดทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ตัวครั่ง มีประโยชน์ใช้ทำสีสำหรับย้อมผ้าไหมหรือย้อมหนังฟอกก็ได้
ส่วนรังครั่งมีประโยชน์ใช้ทำสิ่งของเครื่องใช้ได้หลายอย่าง ใช้เคลือบผ้าพันสายไฟฟ้าหรือเคลือบยาเม็ดยาให้เป็นมันหรือทำสีผสมอาหารก็ได้
ประโยชน์สำคัญที่สุดของรังครั่ง ก็คือ ใช้ทำเชลแล็กสำหรับทาไม้ให้ขึ้นเงางดงามใช้ได้ทนทาน
การแยกเชลแล็กจากรังครั่งทำได้ไม่ยากเมื่อครั่งทำรังโตได้ที่แล้ว ผู้เลี้ยงก็จะตัดกิ่งไม้ที่รังครั่งอยู่ลงมากะเทาะเอารังครั่งออก เรียกครั่งที่ได้นี้ว่าครั่งดิบ จากครั่งดิบต้องนำไปตากให้แห้งแล้วส่งเข้าโรงงานทำเป็นครั่งเม็ดต่อจากนั้นจึงนำไปทำเป็นเชลแล็ก
เชลแล็กมีลักษณะเป็นแผ่นบางใสมีสีต่าง ๆ กัน ตั้งแต่เหลืองเข้มจนถึงน้ำตาลแก่แล้วแต่สีของครั่งดิบกับสิ่งไม่บริสุทธิ์ซึ่งปะปนมากับเชลแล็กนั้น ครั่งดิบที่ดีที่สุดได้จากการเลี้ยงครั่งด้วยต้นตะกร้อส่วนสิ่งที่มักปะปนมากับเชลแล็ก ได้แก่ ตัวแมลงครั่งและเศษไม้ เชลแล็กที่มีราคาสูงมีสีเหลืองส้ม
ปีหนึ่ง ๆ ประเทศไทยส่งรังครั่งและสิ่งที่ได้จากครั่งไปขายต่างประเทศ ทั้งครั่งดิบ ครั่งเม็ดและเชลแล็กออกไปขายต่างประเทศแต่ส่วนมากเป็นครั่งเม็ด ได้เงินกลับเข้าประเทศจำนวนมาก ปัจจุบันมีโรงงานผลิตเชลแล็กและครั่งเม็ดภายในประเทศอยู่ประมาณ 20 โรงงาน และปัจจุบันทั้งตลาดในประเทศและตลาดโลกยังคงมีความต้องการ “ครั่ง” อยู่มาก