เราทราบกันดีว่าในแต่ละฤดูกาลพืชเจริญเติบโตไม่เท่ากัน
สำหรับคนที่ปลูกผัก…เคยชั่งน้ำหนักผักในแต่ละเดือนไว้ไหม วันนี้ลองมาใช้วิชาคณิตศาสตร์กันสักนิด
โจทย์ : ลูกค้าต้องการผักกาดฮ่องเต้ 100 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ ตลอดทั้งปี ในฤดูร้อนหรือฤดูหนาว ผักกาดฮ่องเต้ น้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 200 กรัมต่อต้น ส่วนฤดูฝน น้ำหนักจะเหลือประมาณ 50 กรัมต่อต้น (เพราะต้นยืด และทำให้ต้องเก็บเกี่ยวเร็วขึ้นด้วย) ในแต่ละฤดูเราจะต้องเพาะต้นกล้ากี่ต้นต่อสัปดาห์
วิธีคำนวณ : ผัก 1 กิโลกรัม ฤดูหนาวจะมีผัก 1,000 กรัม / 200 กรัม = 5 ต้นต่อกิโลกรัม
ส่วน ฤดูฝน จะมีผัก 1,000 กรัม/ 50 กรัม = 20 ต้นต่อกิโลกรัม
แสดงว่าต้องเพาะกล้า ในฤดูหนาว 100 กิโลกรัม x 5 ต้น = 500 ต้น ส่วนฤดูฝน 100 กิโลกรัม x 20 = 2,000 ต้น ซึ่งต้องเพิ่มจำนวน 4 เท่า ถ้าใช้ระยะปลูกเท่าเดิมก็แสดงว่าต้องเพิ่มพื้นที่ปลูกอีก 4 เท่า เช่นกัน
และนี่คือเหตุผลที่ว่า ทำไมน้ำหนักของผักแต่ละต้นจึงสำคัญ เราจำเป็นต้องรู้ว่าในแต่ละช่วง (เดือน) พืชผักจะมีน้ำหนักเฉลี่ยต่อต้น หรือน้ำหนักเฉลี่ยต่อกิโลกรัมเท่าไร จะสามารถทำให้เรานำมาคำนวณเพื่อวางแผนการปลูกได้แม่นยำยิ่งขึ้น
ซึ่งก็สามารถทำได้ง่ายมาก คือ สุ่มเก็บผักมาชั่งน้ำหนักทุกเดือน โดยใช้น้ำหนักหลังจากตัดแต่งเรียบร้อยแล้ว จะยิ่งทำให้การคำนวณใกล้เคียงความต้องการมากที่สุด
ขอกล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับประโยชน์ของ…ระยะปลูก เมื่อต้องปลูกพืชผักที่ไม่คุ้นเคย มักจะมีคำถามเกี่ยวกับ ระยะปลูก ซึ่งระยะปลูกสามารถค้นหาความรู้ได้จากตำราและอินเตอร์เน็ต ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นระยะปลูกในช่วงที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืชนั้น ๆ
ทั้งนี้ผู้ปลูกต้องหมั่นสังเกตด้วยว่าในพื้นที่ของเราพืชจะเจริญเติบโตได้ดีในช่วงไหน อย่างไร แล้วค่อยปรับระยะปลูกให้เหมาะสมอีกที
ประโยชน์ของ ระยะปลูก มีส่วนช่วยในการปลูกพืชผักให้ดีได้อย่างไร
1.ช่วยในการเจริญเติบโตของพืช เพราะพืชแต่ละชนิดเติบโตแตกต่างกัน ระยะปลูกที่เว้นไว้มีส่วนช่วยให้พืชเจริญเติบโตได้เต็มที่ แต่บางพืชอาจต้องปรับระยะปลูกในฤดูฝนให้น้อยกว่าในฤดูแล้ง เป็นต้น (โดยเฉพาะพืชจำพวกสลัดที่ไม่ห่อหัว ซึ่งบนดอยในฤดูฝน ฟ้าจะปิด ต้นจะยืดและต้นเล็กกว่าปกติ)
2.ช่วยลดปัญหาโรค-แมลง ซึ่งประเด็นนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละฤดูกาลด้วยเช่นกัน บางพืชระยะปลูกในฤดูฝนอาจจะมากกว่าในฤดูแล้ง เพื่อป้องกันการระบาดของโรค (ในฤดูฝนความชื้นสูง หากต้นพืชเบียดชิดติดกัน การระบายอากาศไม่ดี มักเกิดโรคได้ง่าย)
3.ช่วยให้คนปลูกทำงานได้สะดวก เช่น การวางระบบน้ำ การให้ปุ๋ย การพรวนดิน การเก็บเกี่ยว เป็นต้น
นอกจากนี้การเตรียมดินในการเพาะปลูกที่เหมาะสมกับพืชผักชนิดต่าง ๆ ก็เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าหากเราอยากให้พืชนั้นโตเร็วและปลอดโรคพืชเราก็ควรเลือกดินที่สะอาด เพราะสิ่งสำคัญอันดับต้น ๆ ที่ต้องใส่ใจ นั่นก็คือ เรื่องการเตรียมดินเพาะปลูกนั่นเอง การเตรียมดินที่ดีควรเริ่มจากการเช็กสภาพหน้าดินก่อนเป็นอันดับแรกว่าสภาพดินที่เราจะใช้ปลูกนั้นเหมาะกับพืชที่เราจะนำมาปลูกมากน้อยแค่ไหน สภาพแวดล้อมสามารถเข้าไปดูแลได้ถึงหรือไม่ แสงแดดเพียงพอต่อพื้นที่เพาะปลูกหรือไม่ ควรปรับหน้าดินก่อนหรือไม่ ดินมีสุขภาพดีเหมาะแก่การเพาะปลูกหรือไม่ หรืออาจจะมีการปรุงดินให้พร้อมต่อการเพาะปลูกเพื่อเพิ่มคุณค่าทางอาหารให้กับดิน และยังเป็นการเติมแร่ธาตุสารอาหารให้กับดิน
สุดท้าย การปลูกพืชผักก็ต้องหมั่นสังเกต เรียนรู้ และปรับให้ยืดหยุ่นตามสภาพแวดล้อมด้วย
ที่มา เว็บไซต์สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ( องค์การมหาชน)