ปัจจุบัน ธุรกิจขนส่งทางอากาศ (Air Freight Business) กำลังทวีบทบาทสำคัญมากขึ้นในระบบการค้าและโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ ยิ่งท่ามกลางสภาวะธุรกิจการค้ายุคใหม่ที่ทั่วโลกต้องปรับตัวจากผลกระทบของโควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการในการขนส่งสินค้าทางอากาศเติบโตเพิ่มขึ้น และคาดว่าแนวโน้มธุรกิจแอร์ คาร์โกจะยังคงเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับที่นครหนานหนิงที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดี
ล่าสุด เมื่อ 25 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา สายการบิน YTO Airline (圆通货运航空有限公司) ใช้เครื่องบินลำเลียงสินค้า รุ่น B77-200F บรรทุกสินค้าเต็มลำ ทยานออกจากท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีหนานหนิง หรือ Nanning Wuxu International Airport (รหัสท่าอากาศยาน IATA : NNG) โดยมีจุดหมายอยู่ที่กรุงเทพฯ
ปัจจุบัน เที่ยวบินขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ หรือ All Cargo Flight เส้นทาง “นครหนานหนิง – กรุงเทพฯ” มีสายการบินที่ให้บริการหลายราย อาทิ สายการบินเทียนจิน (天津货运航空有限公司) สายการบิน Zhongyuan Longhao Airlines (中原龙浩航空) และสายการบิน YTO Airline (圆通货运航空有限公司)
ข้อมูลจากต้นปี จนถึงวันที่ 25 กรกฎาคม 2565 เที่ยวบินขนส่งสินค้า “นครหนานหนิง – กรุงเทพฯ” มีปริมาณการลำเลียงสินค้ารวม 4,217 ตัน คิดเป็น 2.7 เท่าของปีที่แล้ว โดยเฉพาะนับตั้งแต่ที่ “สนามบินหนานหนิง” สามารถนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศได้อย่างเป็นทางการ (ตั้งแต่ 1 เมษายน 2565) ทำให้ความต้องการตลาด (market demand) ที่มีต่อเที่ยวบินขนส่งสินค้า “นครหนานหนิง – กรุงเทพฯ” เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“Cargo Flight (เช่าเหมาลำ) เส้นทางนครหนานหนิง – กรุงเทพฯ มีความถี่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากเดิมเฉลี่ยสัปดาห์ละ 3 เที่ยว เพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ยสัปดาห์ละ 10 เที่ยว”
สินค้าที่ใช้บริการของสายการบิน YTO Airline แบ่งเป็นสินค้าส่งออกไปไทย ส่วนใหญ่เป็นสินค้าทั่วไป (รูปแบบการค้าสากล) และสินค้าที่เป็น Cross-border e-Commerce ขณะที่สินค้านำเข้าจากไทย หลัก ๆ เป็นผลไม้และสินค้าทั่วไป
ตามรายงานในช่วง 6 เดือนแรก ปี 2565 การส่งออกสินค้าที่เป็น Cross-border e-Commerce ของจีนมายังอาเซียนมีอัตราการขยายตัวสูงถึง 98.5% ในมุมมองของกว่างซี การเพิ่มความถี่ของเที่ยวบิน “นครหนานหนิง – กรุงเทพฯ” ช่วยส่งเสริมการหมุนเวียนแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจในพื้นที่สองฝ่าย ช่วยตอบสนองความต้องการที่พุ่งสูงขึ้นของการค้าที่เป็น Cross-border e-Commerce ได้ในระดับหนึ่ง เป็นส่วนช่วยขยายตลาดสินค้าในประเทศไทย และบุกเบิกตลาดที่มีศักยภาพในอาเซียน
ขณะเดียวกัน ก็ช่วยขยายขนาดการนำเข้า “ผลไม้ไทย” ให้เพิ่มมากขึ้น และช่วยเสริมสร้างบทบาทการเป็น “ด่านนำเข้าสินค้าสดและมีชีวิต” ของด่านสนามบินหนานหนิงได้อีกด้วย
มีข้อสังเกตว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นหนึ่งในผลลัพธ์จากที่เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง กับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งชาติจีน หรือ CAAC (China Aviation Administration of China) ได้ร่วมลงนามข้อตกลงกรอบความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการพัฒนาด้านการบินพลเรือนของกว่างซี ซึ่งสาระสำคัญส่วนหนึ่งได้ระบุถึงการสนับสนุนให้สนามบินหนานหนิง ขยายเส้นทางบินและเพิ่มความถี่ของเที่ยวบินระหว่างนครหนานหนิงกับกลุ่มประเทศอาเซียน รวมถึงการใช้ประโยขน์จากทรัพยากรร่วมกันระหว่างเครื่องบินขนส่งสินค้าและพื้นที่ระวางใต้ท้องเครื่องของเครื่องบินผู้โดยสาร
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2565 สายการบินนกแอร์ ได้รับอนุญาตให้กลับมาทำการบินขนส่งผู้โดยสารในเส้นทาง “กรุงเทพฯ – นครหนานหนิง” แล้ว (ปัจจุบัน มีบริการเดือนละ 1 เที่ยว)
จึงกล่าวได้ว่า “สนามบินหนานหนิง” เป็นอีกหนึ่ง ‘ทางเลือก’ ที่ช่วยสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจสำหรับผู้ส่งออกไทยไปยังประเทศจีน เนื่องจากท่าอากาศยานแห่งนี้มีข้อได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้งใกล้ไทย ใช้เวลาทำการบินเพียงประมาณ 2 ชั่วโมง เป็นตลาดใหม่ที่ยังมีคู่แข่งไม่มาก โดยผู้ส่งออกไทยสามารถใช้โครงข่ายคมนาคมขนส่งที่มีความสมบูรณ์ทันสมัยของ “นครหนานหนิง” ในการกระจายสินค้าไปจำหน่ายยังพื้นที่อี่นทั่วประเทศจีนได้
ข้อมูล จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง