นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า หลังจากการปลดล็อกพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติด ซึ่งทำให้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ ประชาชนหันมาปลูกและมีการซื้อขายกันเป็นจำนวนมาก พืชอีกตัวหนึ่งซึ่งทาง ป.ป.ส.กำลังศึกษาและทำการวิจัยถึงประโยชน์ คือ เห็ดขี้ควาย หรือเห็ดวิเศษ ปัจจุบันถูกกำหนดให้เป็นยาเสพติดประเภท 5 มีงานวิจัยหลายชิ้นที่พูดถึงการทดลองเห็ดขี้ควาย ซึ่งมีสารสกัดสำคัญต่อต้านอาการซึมเศร้า ที่เรียกว่า ไซโลไซบิน (Psilocybin) และยังพบว่าสามารถช่วยรักษาอาการติดเหล้าและบุหรี่ได้อีกด้วย โดยที่ผ่านมามีบริษัทยายักษ์ใหญ่ทั้งทางฝั่งอเมริกา และยุโรป จดสิทธิบัตรกับองค์กรการแพทย์ เพื่อทำการทดลองการใช้เห็ดขี้ควายสกัดเป็นยาในการรักษา
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า จากตำราหมอไทยโบราณมีการใช้เห็ดขี้ควายเป็นยาทำให้ง่วงแก้โรคนอนไม่หลับ แต่ถ้าใครกินหรือสูบเข้าไปจำนวนมากจะทำให้มีอาการมึนเมา ประสาทหลอน และการเต้นของหัวใจผิดปกติ ซึ่งขณะนี้ ทาง ป.ป.ส. ได้จัดทำ พ.ร.ฎ.กำหนดพื้นที่ทดลองเพาะปลูกเห็ดขี้ควาย ตามโครงการศึกษาและวิจัยทดลองเพื่อต่อยอดไปสู่การใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ โดยขณะนี้มี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ร่วมมือทำการวิจัยศึกษาและทดลองการสกัดสารจากเห็ดขี้ควาย ซึ่งทาง ป.ป.ส.จะขยายขอบเขตการวิจัยไปยังมหาวิทยาลัยต่างๆให้ครบทั้ง 4 ภาค เพื่อศึกษารายละเอียดต่างๆอย่างถี่ถ้วน
“ในต่างประเทศมีการวิจัยเรื่องนี้อย่างกว้างขวาง ซึ่งเห็ดขี้ควายในบ้านเราก็มีขึ้นอยู่จำนวนมากในทุกภาคของไทย ดังนั้นนี่คือโอกาสที่เราจะสามารถวิจัยเพื่อผลิตยารักษาโรคผู้ป่วยทางจิตเวชได้ หากประสบผลสำเร็จก็อาจจะเป็นการสร้างอาชีพใหม่อีกอาชีพหนึ่ง เพราะจากรายงานของ ป.ป.ส. พบว่ามีการซื้อขายกันในราคาประมาณ 500 บาทต่อกิโลกรัมสำหรับเห็ดสด และ 5,000 บาทสำหรับเห็ดแห้ง และมีวัยรุ่นหลายกลุ่มนำมาเสพ ซึ่งตนก็ต้องขอเตือนว่า เห็ดขี้ควายยังเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ผู้ขายมีโทษจำคุกตั้งแต่ 2-15 ปี และปรับตั้งแต่ 200,000-1,500,000 บาท ถ้าเป็นผู้เสพ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากเสพมากเกินไปมีอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้” นายสมศักดิ์ กล่าว
สำหรับ “ เห็ดขี้ควาย” มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Psilocybe cubensis Sing วงศ์ Strophariaceae สารเคมีที่สำคัญในเห็ดขี้ควายมี 2 ชนิด คือ psilocybine และ psilocine ซี่งเมื่อ psilocybine เข้าร่างกายจะถูกเปลี่ยนเป็น psilocine ทั้ง psilocybine และ psilocine ไม่มีประโยชน์ทางการแพทย์
ชื่อสามัญ/ชื่อเรียกทั่วไป เห็ดขี้ควาย / Psilocybe mushroom / บางแห่งเรียกเห็ดโอสถลวงจิต ในบรรดานักเที่ยวอาจเรียกเห็ดขี้ควายว่า “Magic Mushroom” / Buffalo dung Mushroom
ลักษณะ หมวกเป็นรูปกระทะคว่ำแล้วแบนลง เส้นผ่าศูนย์กลาง 6.5-8.8 เซนติเมตร ผิวสีฟางข้าวอมเหลือง กลางหมวกมีสีน้ำตาลอมเหลือง มีเกล็ดเล็กๆ กระจายออกไปยังขอบหมวก ขอบมีริ้วสั้น ๆ โดยรอบ ครีบสีน้ำตาลดำ ส่วนกลางกว้างกว่า ปลายทั้งสองข้าง ไม่ยึดติดกับก้าน
ก้าน ยาว 4.5-8 เซนติเมตรความสูงของลำต้นประมาณ 5.5-8 ซม. โคนใหญ่กว่าเล็กน้อย สปอร์ รูปรี สีน้ำตาลดำ ผนังหนา ผิวเรียบ ด้านบนมีปลายตัดเป็นรูเล็ก ๆ
พบได้บริเวณ เห็ดขี้ควาย มีขึ้นอยู่ทั่วไปในแทบทุกภาคของประเทศไทย เห็ดชนิดนี้ชอบขึ้นเป็นดอกเดี่ยวกลุ่มละ 4-5 ดอก บนพื้นดินที่มีมูลสัตว์พวกมูลวัว มูลควายแห้ง
การเสพ มีผู้นำไปเสพทั้งรูปแบบสดและแห้ง บางครั้งนำมาปรุงเป็นเมนูอาหารหรือเครื่องดื่ม เช่น ไข่เจียวเห็ด และเห็ดปั่นผสมเหล้า หรือคอกเทลสำหรับใช้เสพ ในกลุ่มนักท่องเที่ยวบางกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณอำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี อย่างไรก็ตามคนทั่วไปมักทราบ และรู้ว่าเห็ดนี้ เป็นเห็ดพิษ รับประทานแล้วจะมึนเมา จึงไม่มีการนำมารับประทาน
อาการผู้เสพ : เมื่อบริโภคเข้าไปจะทำให้มีอาการเมา เคลิบเคลิ้มและบ้าคลั่งในที่สุด เนื่องจากสาร psilocybine และ psilocine มีฤทธิ์ต่อระบบประสาทอย่างรุนแรง ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ประสาทหลอน เห็นภาพแสงสีต่างๆ ลวงตา เช่น เห็นแมงมุมหรือสัตว์ประหลาดลงไปในท้อง รู้สึกมีเข็มมาทิ่มแทงตามตัว ได้ยินเสียงฟ้าร้อง ฟ้าผ่า สับสน ไม่สามารถลำดับทิศทางได้ มีความคิดและอารมณ์เปลี่ยนแปลง มีอาการคล้ายผู้ที่เสพ LSD คนที่ใช้มานานๆ จะเพลินต่อความรู้สึกต่างๆ ร่างกายจะเกิดการต้านยา ต้องเพิ่มขนาดการเสพขึ้นเรื่อยๆ
การควบคุมตามกฎหมาย
1.เห็ดขี้ควาย ซึ่งหมายถึงพืชที่ให้สาร psilocybine หรือ psilocine และรวมถึงส่วนต่างๆ ของพืชดังกล่าว เป็นต้นว่า ดอกเห็ด ก้านเห็ด สปอร์ของเห็ดดังกล่าว จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
2.สาร psilocybine และ psilocine เป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518
– ผู้ใดผลิต ขาย นำเข้า หรือส่งออก ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5-20 ปี และปรับตั้งแต่
100,000-400,000 บาท
– ครอบครองหรือใช้ประโยชน์โดยมิได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-5 ปี และปรับ
ตั้งแต่ 20,000 – 100,000 บาท