“ครุน้อยบ้านสะอางศรีสะเกษ” หรือ Kru Noi Ban Sa-ang Si Sa Ket หมายถึง เครื่องจักสานขนาดเล็ก จำลองรูปทรงมาจากครุ (ภาชนะตักน้ำ) ผลิตจากไม้ไผ่นำมาจักตอกให้มีขนาดเล็กพิเศษ เรียบเสมอกันทั้งเส้นแล้วสานขึ้นรูปด้วยมือตามกรรมวิธีและภูมิปัญญาของชาวบ้านสะอาง รวมถึงผลิตภัณฑ์จากครุน้อยที่พัฒนารูปแบบ เช่น ของใช้ ของตกแต่ง ของที่ระลึก เป็นต้น ผลิตในพื้นที่อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ ทั้งนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญา ประกาศให้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ( GI ) “ครุน้อยบ้านสะอางศรีสะเกษ” เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566
วัตถุดิบและส่วนประกอบ
– ไม้ไผ่สีสุก
อุปกรณ์ทำครุน้อย
– ไม้ไผ่นวล ไม้ไผ่สีสุก ไม้ไผ่ลำมะลอก ชนิดใดชนิดหนึ่ง
– มีดโต้ ใช้ผ่าไม้ไผ่ให้เป็นชิ้น มีดตอกใช้สำหรับเหลาไม้ไผ่ให้เป็นเส้นตอกตามต้องการ
– กรรไกร สำหรรับตัดขอบปากครุน้อยเมื่อสานเสร็จเรียบร้อยแล้ว
– เข็มสำหรับเขี่ยเส้นตอกที่สานให้เข้าลายตามที่ต้องการ
– น้ำมันยาง สำหรับทาครุก่อนจะนำไปลงชัน เพื่อให้ชันเกาะติด
– ชัน ช่วยให้ครุไม่เกิดรอยรั่ว สามารถเก็บน้ำได้ มีวิธีการทำโดยนำครุที่ทาน้ำมันยางแล้วมาเคล้ากับชันที่บดเป็นผงละเอียด
ขั้นตอนการผลิต
ขั้นที่ ๑ นำไม้ไผ่มาจักเป็นเส้นตอกตามขนาดที่ต้องการ
ขั้นที่ ๒ นำตอกที่ได้มาเหลาให้เกิดความบางตามต้องการ
ขั้นที่ ๓ นำตอกที่บางตามต้องการแล้วนำมาจักเป็นเส้น
– เส้นแบน ใช้เนื้อไม้ไผ่ เพราะมีความอ่อนสามารถสานได้ง่าย ไว้สำหรับสานครุ
– เส้นแบบกลมใช้ตรงเปลือกไม้ไผ่ที่มีสีเขียวหรือที่เรียกว่าผิวไม้ไผ่ไว้สำหรับม้วนตัวครุ (มีความแข็ง ทำให้ครุมีรูปทรงที่สวยงาม)
ขั้นที่ ๔ นำตอกแบนมาตัดแบ่งตามขนาดของครุ เพื่อนำมาเริ่มต้นสานครุ
ขั้นที่ ๕ เมื่อนำตอกเส้นกลมมาสานเริ่มตัวครุสานจนรอบแล้ว ประมาณ ๒ รอบ ให้นำตอกแข็งมาขัดก้นครุทำขวางกันทั้ง ๒ ด้าน
ขั้นที่ ๖ เมื่อสานตัวครุได้ ประมาณ ๓ รอบ ให้เริ่มหักมุมก้นครุด้วยลายขึ้น ๑ ลง ๓ ไปเรื่อยๆ จนรอบตัวครุ
ขั้นที่ ๗ เมื่อสานตัวครุได้ขนาดตามต้องการแล้วตัดขอบปากให้ตอกมีความเสมอกัน
ขั้นที่ ๘ เมื่อตัดตอกมีความเสมอกันแล้วเริ่มสานขอบปากครุด้วยตอกกลม ๔ เส้น เริ่มต้นด้วยการ ขึ้น ๓ ลง ๕ ทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ทำพร้อม ๆ กัน ทั้ง ๔ เส้น จนได้ขนาด แล้วจึงตัดขอบปากออก
ขั้นที่ ๙ เมื่อสานขอบปากเสร็จเรียบร้อยแล้ว ตัดตอกที่เหลือออกให้เรียบร้อย
ขั้นที่ ๑๐ เมื่อตัดปากเรียบร้อยแล้วนำตอกกลมมาใส่เป็นขาครุทั้ง ๔ ข้าง
ขั้นที่ ๑๑ เมื่อใส่ขาเรียบร้อยแล้วเสียบ “งวง” ที่จับ ก็ได้ตัวครุน้อยที่สมบูรณ์
ขั้นที่ ๑๒ นำครุที่สานเรียบร้อยแล้ว นำมาชุบน้ำมันยาง โดยชุบให้ทั่วครุ
ขั้นที่ ๑๓ นำครุที่ชุบน้ำมันยางแล้วมาคลุกชันเพื่อกันรั่วแล้วนำไปผึ่งแดด ให้แห้งแล้วนำไปล้าง ด้วยน้ำมันก๊าดแล้วขัดเงาด้วยการทาแล็กเกอร์
วิธีสานครุน้อย
ขั้นที่ ๑ เริ่มจากการสานก้นครุก่อนโดยนำเอาตอกแบบที่ตัดไว้ตามขนาดที่ต้องการมาขึ้นก้นครุ โดยใช้ตอกแบน ๓ เส้น เป็นตัวยืนในการสาน กับเส้นที่หนึ่งเริ่มสานขึ้น ๑ ลง ๑ ทำสลับกันกับตัวยืน ๓ เส้น เช่นเดียวกับเส้นที่หนึ่ง ทำอย่างเส้นที่สองสลับกันไปจนครบ ๑๑ เส้น
ขั้นที่ ๒ นำตอกแบนมาสานต่อจากขั้นที่ ๑ โดยใช้ตอก ๑๑ เส้นเช่นเดียวกัน โดยเส้นที่หนึ่งจะขึ้นต้นด้วย ขึ้น ๒ ลง ๓ ขึ้น ๓ เส้นที่สองจะลง ๑ ขึ้น ๒ ลง ๓
ขั้นที่ ๓ นำตอกกลมมาสานเป็นตัวครุ เริ่มต้นด้วย ขึ้น ๑ ลง ๓ ขึ้น ๓ ลง ๓ ขึ้น ๑ ลง ๓ ทำเช่นนี้ จนรอบแล้วดึงเส้นยืน ๓ เส้นออก
นอกจากนี้ยังมีการแปรรูปผลิตภัณฑ์ “ครุน้อย” เป็นเครื่องประดับ, เข็มกลัดติดเสื้อ, ต่างหู, แจกันดอกไม้, ของที่ระลึก, กรอบรูปพวงองุ่น สร้างรายได้ให้กับตนเองหรือในรูปชุมชนได้อย่างดี