“ดินสอพองลพบุรี” (Lop Buri White Clay Filler หรือ Din Sor Pong Lop Buri) หมายถึง ดินสอพอง แบบก้อนและดินสอพองแบบผง ที่มีเนื้อละเอียด สีขาวขุ่น หรือขาวนวล ผลิตจากดินสีขาวที่มีส่วนประกอบสำคัญเป็นแคลเซียมคาร์บอเนต (ดินมาร์ล) ที่เกิดจากธรรมชาติ ซึ่งผ่านกระบวนการร่อนผสมน้ำ กรองให้ละเอียด แล้วทำให้แห้ง อันเป็นภูมิปัญญาของชาวลพบุรีที่สืบทอดกันมายาวนาน ผลิตในพื้นที่อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี ทั้งนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญา ประกาศให้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ( GI) ” ดินสอพองลพบุรี”เมื่อวันที่ 29 กันยายน 65
กระบวนการผลิต
วัตถุดิบ
แหล่งวัตถุดิบดินสอพองลพบุรี จะใช้วัตถุดิบจากแหล่งดินมาร์ลในเขตพื้นที่อำเภอเมืองลพบุรี 3 แห่ง ได้แก่ ตำบลท่าแค ตำบลกกโก และตำบลถนนใหญ่ อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี หรือแหล่งดินจากพื้นที่อื่นที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกัน ที่สามารถตรวจสอบได้ โดยดินที่นำมาผลิตได้ต้องมีลักษณะเนื้อดินเป็นสีขาว ค่อนข้างร่วนและเปราะ อาจพบกรวดดินมนหรือมีหินปูนปะปนอยู่ เมื่อนำเนื้อดินไปแช่ในน้ำแล้วต้องสามารถตกตะกอนเป็นโคลนได้ และมีลักษณะเป็นเนื้อโคลนละเอียด เนียน สีขาวขุ่น หรือสีขาวนวลการเตรียมสถานที่ผลิตดินสอพอง พื้นที่การผลิตดินสอพอง ต้องมีการจัดเตรียมพื้นที่ให้เพียงพอและเหมาะสม และมีแหล่งน้ำสำหรับการผลิตให้เพียงพอ โดยพื้นที่สำหรับผลิตดินสอพอง 1 บ่อ อย่างน้อยต้องประกอบด้วย
(1) พื้นที่สำหรับกองวัตถุดิบ ควรปรับพื้นให้ราบ มีขนาดความกว้างพอเหมาะกับกองดิน อยู่ในบริเวณที่โล่งและใกล้กับแหล่งน้ำ
(2) บ่อสำหรับละลายดิน ขุดบ่อหรือปรับพื้นที่ให้อยู่บริเวณด้านหน้ากองวัตถุดิบ ควรมีขนาดใหญ่พอเหมาะกับกองดิน และมีความลึกพอให้ขังน้ำได้ โดยให้ปากบ่ออยู่ระดับเดียวกับพื้นดิน
(3) บ่อหรือพื้นที่สำหรับทิ้งเศษกรวด ควรตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับบ่อละลายดิน อาจทำเป็นบ่อลึกหรือเป็นพื้นที่ราบก็ได้
(4) บ่อสำหรับใส่เนื้อโคลนดินสอพอง หรือเรียกว่า “บ่อเนื้อ” จำนวน 3 – 5 บ่อ หรือตามความเหมาะสมของพื้นที่ โดยควรอยู่ใกล้ หรือเรียงรอบบ่อละลายดิน เพื่อให้สะดวกในการดูดน้ำลงไป ควรให้ปากบ่อเสมอกับพื้นดินหรือสูงกว่าพอสมควร อาจจะก่อเป็นบ่อดินหรือบ่อปูนก็ได้ ส่วนมากนิยมไข้วงบ่อซีเมนต์จำนวน 2 – 3 วงก่อเรียงกันขึ้นมา
(5) พื้นที่ลานตาก ควรมีลานกว้างนพื้นที่ราบสำหรับผึ่งโคลนดินสอพอง และมีพื้นที่วางแคร่ไม้ไผ่หรืออุปกรณ์สำหรับตากดินสอพอง
เครื่องมือที่ใช้ในการผลิต
(1) ตะแกรงกรอง เป็นตะแกรงตาข่ายที่มีความละเอียดมาก ใช้ในการกรองเศษหิน เศษกรวด และสิ่งเจือปนต่างๆ ที่ผสมอยู่ในเนื้อดิน จะใช้ในขั้นตอนการกรองน้ำดินจากบ่อละลายดินลงสู่บ่อเนื้อ โดยทั่วไปจะทำเป็นกระบะทรงสี่เหลี่ยม หรือความเหมาะสมกับลักษณะของบ่อเนื้อ ด้านล่างของกระบะมีตะแกรงตาข่ายอะลูมิเนียมหรือโลหะที่ไม่เป็นสนิม ด้านบนมีแผ่นปิดขนาดกว้างพอประมาณ ป้องกันน้ำดินที่ยังไม่ได้กรอง กระเด็นลงบ่อ ด้านหน้าและด้านหลังของกระบะอาจต่อไม้ยาวสำหรับวางพาดบนขอบบ่อ หรือจะใช้ตัวกระบะพาดบนไม้ที่วางพาดบนขอบบ่อก็ได้
(2) แม่พิมพ์ดินสอพอง
(2.1) แม่พิมพ์ดินสอพองแบบแผ่น ใช้สำหรับขึ้นรูปโคลนดิน เพื่อผลิตเป็นดินสอพองแบบแผ่น นิยมทำเป็นพิมพ์วงกลมมีด้ามจับ ทำจากโลหะชนิดที่ไม่เป็นสนิม ส่วนใหญ่พิมพ์จะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 – 8 นิ้ว
(2.2) แม่พิมพ์ดินสอพองแบบเม็ด เป็นพิมพ์ที่ใช้สำหรับหยอดดินสอพองแบบเม็ด ที่เรียกว่า ดินดอกหรือดินตุ่ม ตัวพิมพ์จะมีหลายลักษณะทั้งที่เป็นกรวยคล้ายพิมพ์ทำขนมที่มีลวดลายเส้น หรือพิมพ์แบบกล่องที่เจาะรูด้านล่างให้เป็นแฉกช่องเล็กๆ สำหรับหยอดได้ครั้งละจำนวนมาก ส่วนมากจะมีแผ่นด้านบนสำหรับกดเนื้อดินขณะหยอด ในการทำดินสอพองแบบเม็ดนั้นต้องอาศัยความชำนาญในการหยอดเพื่อให้ได้รูปทรงที่สวยงามและมีขนาดใกล้เคียงกัน
(2.3) แคร่ตากดินสอพอง เป็นชั้นวางที่มีความลาดเอียง ใช้สำหรับตากดินสอพองให้แห้งสนิทส่วนมากทำจากไม้ไผ่ ที่นำมาสานขัดกันเป็นแผ่นแผ่นใหญ่พอประมาณ วางเรียงบนฐานรองด้านล่างที่ทำให้มีลักษณะลาดเอียง ซึ่งแคร่ลักษณะนี้จะมีความโปร่งที่ช่วยให้อากาศถ่ายเทได้ดี ทำให้ดินสอพองแห้งสนิททั่วทั้งแผ่น
(2.4) เครื่องโม่ดินสอพอง เป็นเครื่องมือสำหรับบดดินสอพองให้เป็นผงละเอียด ปัจจุบันเครื่องโม่ดินสอพองจะมีหลายรูปแบบ ที่นิยมใช้จะเป็นการบด 2 ขั้นตอน คือ การป่นแบบหยาบด้วยเครื่องตีหยาบ แล้วนำเข้าเครื่องโม่ละเอียดผ่านตะแกรงอีกครั้งเพื่อให้ได้ดินสอพองแบบผงมีความละเอียด
การผลิตดินสอพอง
(1) ทำการละลายดินสอพอง โดยตักดินใส่บ่อละลายดินแล้วปล่อยน้ำลงไปผสมให้ดินละลาย หรือใช้เครื่องฉีดน้ำฉีดกองดินให้ละลายลงในบ่อ ในกรณีที่ดินมีความเหนียว ต้องย่อยดินให้เป็นก้อนเล็กๆ แล้วคัดแยกกรวดทราย เศษไม้ เศษหญ้า ออกจากดิน อาจใช้ตะแกรงหรือบุ้งกี่ตักสิ่งปะปนออกไปทิ้งในพื้นพื้นที่ที่จัดเตรียมไว้
(2) เมื่อน้ำดินมีความข้นพอสมควร หรือมีลักษณะเป็นน้ำแป้ง ให้ตักหรือดูดน้ำดินในบ่อละลายดินใส่ลงไปในบ่อเนื้อ โดยผ่านตะแกรงหรือกรองที่มีความละเอียด เพื่อให้ได้เนื้อดินที่มีความละเอียด และไม่มีสิ่งเจือปนหลงเหลืออยู่
(3) ปล่อยให้น้ำดินตกตะกอนในบ่อเนื้อซึ่งใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 – 3 ชั่วโมง แล้วจึงตักหรือดน้ำใสด้านบนออกจนเหลือแต่เนื้อแป้งดินขาวขึ้นลักษณะเป็นดินโคลน จากนั้นทำขั้นตอนที่ (1) และ (2) ซ้ำ จนได้โคลนดินดินสอพองเต็มบ่อ โดยทั่วไปจะใช้เวลาประมาณ 3 – 4 วัน จึงจะเต็มบ่อ
การผลิตดินสอพองแบบก้อน
ดินสอพองแบบก้อนมี 3 ลักษณะ คือ
(1) ดินสอพองแบบแผ่น มีลักษณะเป็นแผ่นวงกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางในช่วง 5-8 นิ้ว มีความหนาพอประมาณ นิยมใช้สำหรับภาคอุตสาหกรรม โดยดำเนินการดังนี้
(1.1) ตักดินสอพองใส่แม่พิมพ์ และทำการหยอดลงบนผ้าที่วางบนพื้นให้เป็นแผ่นวงกลม เพื่อให้ผ้าช่วยดูดซับน้ำจากโคลนดินสอพอง ผึ่งแดดทิ้งไว้กลางแจ้ง ให้แห้งพอหมาดๆ พอเกาะกันเป็นก้อน
(1.2) นำแผ่นดินสอพองที่แห้งพอหมาดๆ แล้ว ไปวางเรียงบนแคร่ไม้ไผ่ หรืออุปกรณ์ตากที่มีลักษณะลาดเอียง ตากแดดจนแห้งสนิท หรืออาจน้ำไปผ่านกระบวนการที่ทำให้ดินสอพองแห้งสนิทก็ได้ โดยใช้เวลาไม่น้อยกว่า 5 – 7 วัน หรือขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ จากนั้นเก็บดินสอพองนำไปบรรจุเพื่อแปรรูปหรือจำหน่าย
(2) ดินสอพองแบบเม็ด (ดินตุ่มหรือดินดอก) เป็นดินสอพองที่มีลักษณะเป็นเม็ดขนาดเล็ก นิยมทำเป็นรูปทรงกรวยคว่ำ คล้ายขนมอาลัว นิยมนำไปใช้เป็นเครื่องหอม หรือนำไปผสมน้ำใช้ในเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งผู้ผลิตมักจะทำเฉพาะในช่วงก่อนปีใหม่ หรือเทศกาลสูงกรานต์ โดยดำเนินการดังนี้
(2.1) นำโคลนดินสอพองที่มีความเหลวพอประมาณมาตีหรือกวนจนมีความเหนียวมากพอที่จะหยอดลงพิมพ์ได้
(2.2) ตักดินสอพองเทลงแม่พิมพ์ และทำการบีบหยอดเป็นเม็ดเล็กๆ ลงบนผ้าที่วางบนพื้นโดยแม่พิมพ์ที่ใช้จะมีลักษณะเป็นกรวยคล้ายแม่พิมพ์ทำหน้าขนนนมเค้กที่มีลวดลายเส้น หรือแม่พิมพ์แบบกล่องที่สามารถหยอดได้ครั้งละจำนวนมาก
(2.3) ตากแดดทิ้งไว้กลางแจ้งให้แห้งสนิท จากนั้นเก็บดินสอพองนำไปบรรจุเพื่อจำหน่าย
(3) ดินสอพองรูปร่างอื่นๆ นิยมทำเป็นของฝากหรือของที่ระลึก โดยนำโคลนดินสอพองที่มีความเหลวพอประมาณมาตีหรือกวนให้มีความเหนียวมากพอที่จะหยอดลงแม่พิมพ์ได้ ตักดินสอพองหยอดลงแม่พิมพ์ แล้วนำไปตากแดดให้แห้งสนิท จากนั้นเก็บดินสอพองนำไปบรรจุเพื่อจำหน่าย
การผลิตดินสอพองแบบผง
นำดินสอพองแบบแผ่นที่แห้งสนิทแล้ว เข้าเครื่องโม่หรือผ่านกระบวนการบดให้เป็นผงจนเนื้อละเอียดโดยทั่วไปจะทำการตีด้วยเครื่องตีเรียกว่า “การตีหยาบ” ก่อน แล้วจึงนำเข้าเครื่องโม่ละเอียดผ่านตะแกรงอีกครั้งเพื่อให้ได้ผงดินสอพองที่มีความละเอียด ไม่มีสิ่งเจือปน เมื่อได้ดินสอพองแบบผงแล้วอาจนำมาร่อน คั่ว หรือสะตุเพื่อผลิตเป็นดินสอพองที่มีคุณภาพดี การคั่วหรือการสะตุจะช่วยกำจัดความชื้นและฆ่าเชื้อโรคได้ จึงเหมาะสำหรับใช้ทำเครื่องสำอางและทำเป็นยา
ลักษณะภูมิประเทศ
จังหวัดลพบุรี ตั้งอยู่ในเขตภาคกลางตอนบน มีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสลับเนินเขาและภูเขาพื้นที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูกและเป็นจังหวัดที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่น่าสนใจหลายอย่าง โดยเฉพาะในเขตพื้นที่อำเภอเมืองลพบุรี ที่ละติจูด 14 องศา 47 ลิปดา 53 ลิปดาเหนือ และลองจิจุดที่ 100 องศา 39 ลิปดา 13 ฟิลิปดาตะวันออก เป็นแหล่งดินสีขาวที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นดินที่เกิดจากการผพังของหินปูน และถูกนำพัดพามาสะสมอยู่ตามเชิงเขาหรือบริเวณแหล่งที่ลุ่มโดยดินมาร์ลที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตดินสอพองส่วนใหญ่เป็นดินในพื้นที่ตำบลท่าแค ตำบลกกโก และตำบลถนนใหญ่ อำเภอเมืองลพบุรี ซึ่งชุดดินที่พบมากที่สุดในพื้นที่ คือ ชุดดินลพบุรี มีลักษณะดินเป็นดินเหนียว พบชั้นปูนมาร์ลในระดับลึก 80 เซนติเมตรลงไป ปฏิกิริยาดินเป็นด่างปานกลางถึงด่างจัด (pH 8.0 – 9.0) และมีบางส่วนเป็นชุดดินตาคลี ที่มีดินเป็นดินร่วนปนดินเหนียวหรือดินร่วนเหนียวปนทรายแป้ง และมีเม็ดปูนปน มีสีขาวของผงปูนทุติยภูมิหรือปูนมาร์ล ปฏิกิริยาดินเป็นด่างปานกลาง(pH 8.0)ใต้ชั้นดินลงไปเป็นชั้นปูนมาร์ลสีขาวทั้งที่เป็นเม็ดและที่เชื่อมต่อกันหนาแน่น ชุดดินเหล่านี้เมื่อขุดลงไปในระดับที่เหมาะสมก็จะพบดินมาร์ลสีขาวเนื้อละเอียด
ประกอบกับพื้นที่อำเภอเมืองลพบุรี ตั้งอยู่ในเขต 2 ลุ่มน้ำหลัก คือ ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำน้ำสัก ซึ่งมีโครงการชลประทานขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็กประเภทต่างๆ จำนวนมาก ทำให้มีแหล่งน้ำและปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับการผลิตดินสอพองโดยผู้ผลิตส่วนใหญ่ที่อยู่บ้านหินสองก้อนจะอยู่เลียบแนวคลองชลประทาน จึงสามารถใช้น้ำจากคลองชลประทานในกระบวนการผลิตได้อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้จังหวัดลพบุรี มีสภาพภูมิอากาศที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุม 2 ชนิด คือ ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งพัดจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือปกคลุมในช่วงฤดูหนาว ส่งผลให้จังหวัดลพบุรีมีอากาศหนาวเย็นและแห้ง และลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งพัดปกคลุมในช่วงฤดูฝนทำให้อากาศชุ่มชื้นและมีฝนตกทั่วไปจึงมีอุณหภูมิค่อนข้างสูงและอากาศร้อนอบอ้าวมากในฤดูร้อน
ด้วยลักษณะพื้นที่และแหล่งภูมิศาสตร์ดังกล่าว ทำให้พื้นที่อำเภอเมืองลพบุรีเป็นแหล่งที่พบดินมาร์ลคุณภาพดี มีค่าแคลเซียมคาร์บอเนตอยู่ในระดับสูง มีค่าความเป็นด่างในระดับที่เหมาะสม ประกอบกับมีแหล่งน้ำสำหรับใช้ในกระบวนการผลิตมากเพียงพอ และมีลักษณะภูมิอากาศที่ไม่ได้มีฝนตกชุกนัก อากาศร้อนและแห้งยาวนาน ทำให้ดินสอพองที่ผลิตได้มีความขาวละเอียดเนียน แห้งสนิท คุณภาพเหมาะสมกับการนำไปใช้ประโยชน์ และอยู่ในแหล่งภูมิศาสตร์ที่เหมาะสมจึงสามารถผลิตดินสอพองได้อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ทำให้จังหวัดลพบุรีได้ชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตดินสอพองที่ดีที่สุดในประเทศไทย และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป
ประวัติความเป็นมา
ดินสอพอง ถือเป็นสมุนไพรที่อยู่คู่เมืองไทยมาช้านาน จัดอยู่ในสมุนไพรจำพวกแร่ธาตุหรือเรียกว่าเครื่องยาธาตุวัตถุ แต่ถ้าสืบค้นไปก็จะพบว่าดินสอพองเป็นยาสมุนไพรตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชจาก “ตำราพระโอสถพระนารายณ์” ซึ่งถือว่าดินสอพองเป็นยาสมุนไพรที่เก่าแก่ รักษาโรคให้กับผู้คนในสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี
การผลิตดินสอพองนับว่ามีความหมายอย่างมากในแง่ประวัติชุมชน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และภูมิปัญญาของท้องถิ่นที่สามารถคิดแปรรูปทรัพยากรที่มีอยู่อย่างมากมายให้เป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มโดยกรรมวิธีง่ายๆ และเหมาะสมกับบริบทของชุมชน ปัจจุบันการผลิตดินสอพองลพบุรี มีแหล่งผลิตสำคัญ คือ บ้านหินสองก้อน ตำบลทะเลชุบศร และตำบลถนนใหญ่ อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี และมีแหล่งวัตถุดิบดินมาร์ลคุณภาพดีอยู่ในพื้นที่ ทำให้จังหวัดลพบุรีเป็นแหล่งผลิตเพียงแหล่งเดียวในประเทศที่สามารถผลิตดินสอพองที่มีคุณภาพ ประกอบกับมีการถ่ายทอดภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่นมายาวนานนับนับร้อยปี จึงทำให้ดินสอพองลพบุรี เป็นสินค้าที่สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดลพบุรีมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน