“ครกหินแกรนิตตาก” GI เอกลักษณ์เฉพาะตัว ของดีจังหวัดตาก

“ครกหินแกรนิตตาก” (Tak Granite Mortar หรือ Krok Hin Granite Tak) หมายถึง ครกและสากที่ผลิตจากหินแกรนิตเนื้อแน่น มีสีดำ สีดำลายจุดขาว สีเทาลายจุดสีดำ สีขาวลายจุดสีดำ มีเกล็ดแร่กระจายอยู่ทั่ว เป็นครกทรงกลม รูปทรงสมส่วนกลมกลืนเข้ารูป มีขอบด้านข้างใช้สำหรับจับหรือยก ผลิตด้วยเครื่องมือที่ทำให้ได้รูปทรงที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวและเป็นมาตรฐาน ผลิตในพื้นที่ 4 อำเภอ ของจังหวัดตาก ได้แก่ อำเภอเมืองตาก อำเภอบ้านตาก อำเภอสามเงา และอำเภอวังเจ้า ทั้งนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญาประกาศให้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI)” ครกหินแกรนิตตาก” เมื่อ 25 มกราคม 2565

S 5578772

กระบวนการผลิต

วัตถุดิบ

หินแกรนิตที่นำมาใช้ผลิตต้องมาจากในพื้นที่จังหวัดตากเท่านั้น ซึ่งจัดอยู่ในหินแกรนิตแนวตอนกลางของประเทศไทย เกิดเป็นมวลหินขนาดใหญ่ เป็นแนวยาวติดต่อกัน หินที่จะนำมาใช้ต้องมีลักษณะแข็งเหนียว ไม่เปราะ ไม่กะเทาะหลุดง่าย เนื้อแน่น แข็งแรงทนทาน เนื้อหินส่วนมากมีสีดำ มีเนื้อแร่สีขาวหรือสีเทาปนกระจายทั่วเนื้อหิน มีทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ หินแกรนิตที่พบในจังหวัดตากเป็นหินอัคนีมวลไพศาล สามารถแบ่งหินแกรนิตตามวิทยาหิน ได้ 5 ชนิด คือ 1) หินมอนโซไนต์ 2) หินฮอร์นเบลนด์แกรนิต 3) หินไบโอไทต์แกรนิต 4) หินควอร์ต-ไดออไรต์, ไดออไรต์ และแกรโนไดออไรต์ และ 5) หินลูโค-แครทตริกแกรนิต

images

เครื่องมือที่ใช้ในการผลิต

(1) เครื่องเจาะหิน (สว่านเจาะหิน)

(2) เครื่องตัดหิน

(3) เครื่องขัดหลุมหิน

(4) เครื่องกัดทรงครก หรือแท่นกลึง

(5) เครื่องแต่งทรงครกเก็บความเรียบร้อย
(6) เครื่องเจียร, หินเจียร, ถ้วยขัด
(7) ใบตัดหิน, กระบอกเจาะหิน, ชิกเมนต์, ค้อนปอนค์ และน้ำมันเคลือบเงา

การทำครก

(1) นำก้อนหินแกรนิตมายึดล็อคให้แน่น แล้วใช้เครื่องสว่านเจาะหินให้เป็นทรงกระบอกตามขนาดที่ต้องการ

(2) นำแท่งหินทรงกระบอกเข้าเครื่องตัด โดยทำการตัดหัวตัดท้ายเพื่อให้ได้ความสูงตามขนาดที่ต้องการ

(3) นำเครื่องสว่านเจาะด้านในเพื่อทำเป็นหลุมครก และเจาะด้านที่เป็นก้นครก

(4) นำหินที่เจาะหลุมครกแล้วมาขัดหลุมครกด้วยเครื่องขัดหลุมหินให้สวยงาม

(5) จากนั้นนำไปเข้าเครื่องกัดทรงครกให้ได้ทรงครกด้านข้างตามรูปแบบ

(6) แต่งครกเก็บความเรียบร้อยโดยใช้สว่านแท่นดัดแปลงให้ครกหมุน แล้วใช้เครื่องหินเจียร เจียรให้สวยงาม

(7) ตรวจสอบคุณภาพให้เรียบร้อย (อาจมีการเพ้นท์ลวดลายหรือทาเคลือบครก)

การทำสาก

(1) นำหินก้อนใหญ่มาตัดเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าตามขนาดสากที่ต้องการ

(2) นำหินที่ได้เข้าเครื่องตัดเกลาหินให้เป็นรูปทรงสาก

(3) นำสากที่ได้มามนหัวให้สวยงาม และเก็บความเรียบร้อยของสาก

ลักษณะภูมิประเทศ

จังหวัดตาก ตั้งอยู่ทางภาคเหนือตอนล่างของประเทศไทย สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นป่าและภูเขา มีเทือกเขาถนนธงชัยสลับซับซ้อนเป็นแกนกลางของจังหวัด รูปร่างยาวในแนวเหนือ-ใต้ มีความแตกต่างของลักษณะภูมิประเทศ โดยบริเวณทิศใต้จนถึงทิศตะวันตกเฉียงเหนือของพื้นที่เป็นสันเขาวางตัวในแนวตะวันตกเฉียงเหนือถึงตะวันออกเฉียงใต้และเปลี่ยนแนวการวางตัวเป็นแนวเหนือใต้ ทางทิศเหนือพื้นที่มีลักษณะภูมิประเทศประกอบด้วยที่ราบลุ่มแม่น้ำไปจนถึงเทือกเขาสูง ทำให้ธรณีวิทยามีความแตกต่างและซับซ้อนกันมาก

ในธรณีวิทยาประเทศไทย (กรมทรัพยากรธรณี, 2544, 2552) พื้นที่ของจังหวัดตาก เรียกว่า ธรณีวิทยาแนวดอยอินทนนท์-ตาก และตั้งอยู่ในแผ่นอนุทวีปฉานไทย ช่วงเวลาตั้งแต่มหายุคพรีแคมเบรียนจนถึงปัจจุบัน(ประมาณ มากกว่า 570 ล้านปี จนถึงปัจจุบัน) หินแกรนิตของจังหวัดตากจัดอยู่ในหินแกรนิตแนวตอนกลางของประเทศไทย เกิดเป็นมวลหินขนาดใหญ่ เป็นแนวยาวติดต่อกัน หินแกรนิตบางส่วนมีลักษณะผลึกแร่เรียงตัวเป็นแถบ เป็นแนวตรงและแถบคดโค้ง มีลักษณะการเรียงตัวของแร่คล้ายหินไนส์ จึงมักถูกเรียกว่า ในสิกแกรนิตซึ่งเชื่อว่าเกิดจากหินแกรนิตถูกบีบอัดตามแนวรอยเลื่อนขนาดใหญ่ หินแกรนิตในจังหวัดตากนี้ เรียกชื่อว่าหินแกรนิตตาก พบกระจายตัวกว้างขวางมาก พบมากทางด้านเหนือและตะวันตกเฉียงเหนือของพื้นที่ตั้งแต่อำเภอสามเงา อำเภอเมือง อำเภอวังเจ้า และอำเภออุ้มผาง

หินแกรนิตเหล่านี้ ประกอบด้วยหินแกรนิตเนื้อละเอียดถึงหยาบ มีผลึกเฟลด์สปาร์ขนาดใหญ่มาก หินแกรนิตบริเวณนี้ มักจะมีสัดส่วนของแร่สีขาวและแร่สีดำอยู่ในช่วงจำกัดแคบๆ จากการศึกษาอายุหินแกรนิตโดยวิธีไอโซโทปพบว่าหินแกรนิตตาก มีอายุตั้งแต่ 66.4-360 ล้านปี โดยจะพบว่าหินแกรนิตอายุอ่อนจะอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของจังหวัด ด้วยลักษณะพื้นที่และแหล่งภูมิศาสตร์ดังกล่าว ทำให้ได้หินแกรนิตที่มีลักษณะเฉพาะตัว มีคุณสมบัติแข็งแกร่ง แข็งแรงทนทาน เหล็กเล็บธรรมดาที่ใช้กลึงไม่สามารถกลึงได้ต้องใช้ฟันเลื่อยหิน (ซิกเมนท์) จึงจะสามารถกักกลึงเนื้อหินได้ ซึ่งเมื่อนำหินแกรนิตตากนี้มาผลิตมาเป็นครกและสาก ทำให้ได้สินค้าที่ดีมีคุณภาพคงทน แข็งแรง สวยงาม สะดวกในการใช้งาน และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า”ครกหินแกรนิตตาก”

ประวัติความเป็นมา

เมื่อปี พ.ศ. 2527 มีการเร่งพัฒนาพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม โดยคณะกรรมการเร่งรัดการจัดสร้างพุทธมณฑลและหน่วยงานราชการต่างๆ ได้ติดต่อ นายงิ้นไฮ้ แช่ลี้ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการทำหินที่อ่างศิลาจังหวัดชลบุรีในสมัยนั้น ทำการสำรวจตรวจหาแหล่งหิน และพบว่าแหล่งหินแกรนิตจากตำบลแม่สลิด อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก เป็นแหล่งหินแกรนิตคุณภาพดี เนื้อแข็ง คงทน และสวยงาม จึงนำมาผ่าสกัดเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการแกะสลักเป็นสังเวชนียสถาน 4 ตำบล ส่งมอบให้พุทธมณฑล

หลังจากนั้น นายงิ้นไฮ้ แซ่ลี้ เห็นว่าหินแกรนิตจากแหล่งดังกล่าวเป็นหินแกรนิตคุณภาพดี เหมาะในการนำมาทำครกหินและแกะสลักหินเป็นปฏิมากรรมต่างๆ จึงขึ้นขออนุญาตหน่วยงานราชการในการทำเหมืองหิน ระยะแรกได้สกัดหินในเหมืองออกมาเป็นก้อนๆ พอเหมาะแล้วส่งไปแปรรูปเป็นครกหินที่อ่างศิลา จังหวัดชลบุรี ต่อมาเนื่องจากระยะทางไกล และวัตถุดิบหนักขนได้น้อย เพื่อเป็นการประหยัดต้นทุนจึงสอนให้ชาวบ้านใช้เวลาว่างจากการทำนาทำไร่มาทำการตีครกหินและรับซื้อเพื่อไปจำหน่ายที่อ่างศิลา จังหวัดชลบุรี เมื่อมีการทำครกกันมากขึ้น มีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาสนับสนุน ทำให้เกิดเป็นอาชีพหลักในการผลิตครกหิน ระยะแรกในการผลิตนั้น จะใช้เครื่องไม้เครื่องมือดังเดิมที่สืบทอดมาจากช่างทำหินของอ่างศิลา ต่อมาได้มีการคิดค้นและพัฒนาดัดแปลงเครื่องไม้เครื่องมือในการทำครกให้ทันสมัย รวดเร็ว และเป็นมาตรฐานขึ้น ทำให้ได้รูปทรงที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และเป็นที่รู้จักแพร่หลายมาจนถึงปัจจุบัน

GI65100171 page 0006