“เครื่องเคลือบเวียงกาหลง” GI ความวิจิตรบรรจงแห่งล้านนา

“เครื่องเคลือบเวียงกาหลง “(Wiang Kalong Pottery whอ Krueang Kleuab Wiang Kalong)หมายถึง เครื่องปั้นดินเผาชนิดเคลือบที่มีทั้งขนาดเล็ก ชนาดกลาง และขนาดใหญ่ ประกอบไปด้วยเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เครื่องใช้ในครัวเรือน และของประดับตกแต่ง ผลิตจากดินขาวและดินดำ ด้วยกรรมวิธีการเผา ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีพื้นผิวสีเขียวอมฟ้า เขียวไข่กา หรือสีขาวอมเหลือง เนื้อบาง ผิวเรียบใสแต่ไม่มัน มีการเขียนสีด้วยสีจากธรรมชาติ เป็นลวดลายต่างๆ ที่มีเอกลักษณ์ มีรอยแตกรานจากนำเคลือบ ผลิตในเขตพื้นที่ตำบลเวียงกาหลง อำเภอเวียงป่าเป้า ของจังหวัดเชียงราย ทั้งนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญา ประกาศให้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ( GI ) ” เครื่องเคลือบเวียงกาหลง “เมื่อ 12 ก.ค. 2564

475637538 639607411774824 1525930967277241763 n

กระบวนการผลิต

วัตถุดิบ

(1) ดินขาว คือ ดินที่มีสีขาวขุ่น เนื้อละเอียด มีความหนืดสูง คล้ายผงชอร์ค ในพื้นที่ตำบลเวียงกาหลงหรือพื้นที่ข้างเคียงที่มีลักษณะดินแบบเดียวกันในอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงรายเท่านั้น

(2) ดินดำ คือ ดินที่อยู่ใต้ชั้นดินทราย มีสีดำแกมเทา มีความละเอียดสูง และมีทรายปนเล็กน้อยมีความพรุนละเอียด ในพื้นที่ตำบลเวียงกาหลงหรือพื้นที่ข้างเคียงที่มีลักษณะดินแบบเดียวกันในอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงรายเท่านั้น

(3) น้ำเคลือบ ทำจากดินหน้านาและขี้เถ้าไม้ธรรมชาติ ในพื้นที่ตำบลเวียงกาหลงหรือพื้นที่ข้างเคียงที่มีลักษณะแบบเดียวกันในอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงรายเท่านั้น

(4) สีสำหรับเขียนลวดลาย ทำจากดินแดงซึ่งเป็นสีที่ได้จากธรรมชาติในพื้นที่

475457640 639683201767245 4200386647852345788 n


การเตรียมดิน

(1) ทำการทดสอบคุณภาพความเหนียวให้ได้ในระดับที่สามารถขึ้นรูปได้ การหดตัวของดินที่น้อยขณะที่เป็นดินดิบ

(2) นำดินที่ผ่านการทดสอบคุณภาพมาหมักในบ่อปูนซีเมนต์หรือภาชนะที่เหมาะสม มีฝาปิด ใส่น้ำให้ท่วมเนื้อดิน หมักทิ้งไว้ 1 – 2 คืน น้ำและดินจะแยกตัวออกเป็น 2 ส่วน โดยชั้นบนเป็นน้ำใส ๆ ชั้นล่างเป็นเนื้อดินละเอียดตกตะกอน เทน้ำใส ๆ ชั้นบนทิ้ง

(3) กรองดินโดยใช้ตะแกรง เพื่อนำเม็ดทราย เศษไม้ วัตถุปลอมปนออกจากเนื้อดิน จะได้เนื้อดินละเอียด

(4) นำดินที่ผ่านการกรองเทลงบนผ้าใบหรือวัสดุรองรับที่เหมาะสม ตากดินไว้ 2 – 3 วัน จะได้เนื้อดินที่แห้งสนิท จากนั้นให้เก็บเนื้อดินใส่ภาชนะที่เหมาะสม รอนำไปทำการขึ้นรูป

การขึ้นรูปและการตกแต่ง

(1) ก่อนการขึ้นรูปให้นำดินไปผมน้ำให้ได้ความหนืดพอสำหรับการขึ้บการขึ้นรูป

(2) ทำการขึ้นรูปด้วยแท่นหมุน หรืองานปั้นด้วยมือ หรือการหล่อจากแม่พิมพ์

(3) นำเครื่องปั้นที่ผ่านการขึ้นรูปวางไว้ในอุณหภูมิห้อง โดยใช้เวลา 1 วัน จากนั้นทำการตกแต่ง ลวดลายและเก็บรายละเอียด แล้ววางไว้ในอุณหภูมิห้องอีก 7 วัน หรือตามความเหมาะสม เพื่อรอนำเข้าเตาเผา

การเผาครั้งที่ 1 (การเผาดิบ Biscuit Firing)

(1) นำเครื่องปั้นเรียงใส่เตาเผา ทำการเผาที่อุณหภูมิในช่วง 750 – 800 องศาเซลเซียส ใช้เวลา 6 – 8 ชั่วโมงในช่วง 1 – 5 ชั่วโมงแรกจะเป็นการเผาแบบเลี้ยงไฟ คือ เผาอย่างช้าๆ ที่อุณหภูมิไม่เกิน 300 องศาเซลเซียส เพื่อให้ความชื้นในดินระเหยออก และค่อยๆ เร่งอุณหภูมิและทิ้งระยะเวลาการเผาให้อุณหภูมิในเตาเผาค่อยๆ ลดลงแบบช้าๆ จนถึงอุณหภูมิ 50 องศาจึงเปิดเตา

(2) กรรมวิธีการเผามี 2 แบบ คือ

(2.1) การเผาแบบรีดักชั่น (Reduction Firing) เป็นกรรมวิธีการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ โดยชิ้นงานที่ได้จะมีสีพื้นผิวเป็นสีต่างๆ เช่น สีเขียวอมฟ้า สีเขียวไข่กา สีขาวอมฟ้า

(2.2) การเผาแบบออกซิเดชั่น (Oxidation Fing) เป็นกรรมวิธีการเผาไหม้อย่างสมบูรณ์โดยชิ้นงานที่ได้จะมีสีพื้นผิวเป็นสีขาวอมเหลือง

(3) นำเครื่องปั้นดินเผาออกจากเตาเผา และทำการตรวจสอบรอยร้าวและตำหนิบนพื้นผิว

การเขียนสี

ทำการเขียนสีและลวดลายจากดินแดงซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ได้จากธรรมชาติในพื้นที่ เป็นลวดลายต่างๆที่เป็นเอกลักษณ์ เช่น ลวดลายศิลปะร่วมสมัย ลวดลายด้านการอนุรักษ์ หรือลวดลายดั้งเดิม ลวดลายรูปสัตว์มงคล ลวดลายพันธุ์พฤกษา ลวดลายตามตำนานในท้องถิ่น ลวดลายที่เกี่ยวข้องกับแนวความคิดทางปรัชญา เป็นต้น

การเคลือบ

(1) น้ำเคลือบผลิตจากไม้ยืนต้นในพื้นที่ ทำการเผาให้ไหม้จนเป็นผงขี้เถ้า

(2) นำผงขี้เถ้าไปร่อนบนตะแกรงจนเหลือแต่ผงขี้เถ้าละเอียด

(3) นำผงขี้เถ้าละเอียดไปผสมกับดินหน้านาและน้ำเปล่าในอัตราส่วนที่เหมาะสม จากนั้นคนน้ำเคลือบโดยวัดค่าความถ่วงจำเพาะให้ได้เท่ากับ 1.4

(4) นำน้ำเคลือบไปบดให้ละเอียดด้วยเครื่องบด ใช้เวลา 5 วัน วันละ 6 – 8 ชั่วโมง โดยวัดค่าความถ่วงจำเพาะให้ได้เท่ากับ 1.8

(5) นำน้ำเคลือบที่ผ่านการบดมากรองด้วยตาข่าย จะได้น้ำเคลือบสำหรับพร้อมชุบเครื่องปั้นดินเผา

(6) ทำการจุ่มเครื่องปั้นดินเผาทั้งชิ้นงานประมาณ 3 วินาทีแล้วยกขึ้น จากนั้นเก็บรายละเอียดตกแต่งโดยการเช็ดชิ้นงานด้วยฟองน้ำเพื่อเตรียมไปเผาเคลือบ

การเผาครั้งที่ 2

(1) นำเครื่องปั้นดินเผาที่ผ่านการเขียนลวดลายและเคลือบด้วยน้ำเคลือบแล้วเรียงใส่เตาเผา ทำการเผาที่อุณหภูมิในช่วง 1,200 – 1,250 องศาเซลเชียส ใช้เวลา 10 – 12 ชั่วโมง เมื่อสุกนำออกจากเตาเผา

(2) เก็บรายละเอียดเครื่องปั้นดินเผาให้เรียบร้อย จะได้เครื่องเคลือบเวียงกาหลงที่สมบูรณ์

ลักษณะภูมิประเทศ

อำเภอเวียงป่าเป้าเป็นอำเภอหนึ่งของ จ.เชียงราย มีลักษณะเป็นที่ราบสลับกับเทือกเขา พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าและมีภูเขาล้อมรอบ มีภูเขาฝีปันน้ำอยู่ทางทิศตะวันตกและทิศใต้ เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำลาว แม่น้ำแม่ฉางข้าว แม่น้ำแม่ปูน แม่น้ำแมโถและแม่น้ำแม่เจดีย์ เป็นอ๋าเภอเดียวของจังหวัดที่มีต้นกำเนิดแม่น้ำไหลย้อนกลับขึ้นไปและไปรวมกับแม่กก ดินในบริเวณอำเภอเวียงป่าเป้าเป็นดินลาวา สันนิษฐานว่าเคยเกิดการระเบิดของภูเขาไฟมาก่อนสะสมมานานหลายพันปีทำให้เกิดดินขาวและดินดำที่มีแร่ธาตุสะสมอยู่ในเนื้อดินมาก มีคุณสมบัติความพรุนละเอียด เมื่อนำมาทำภาชนะดินเผาจะได้เนื้อที่เบาแต่แกร่ง ทนความร้อนได้สูง น้ำหนักเบา แม้ใช้ไฟที่อุณหภูมิสูงมากก็ยังสามารถรักษารูปทรงเอาไว้ได้เป็นอย่างดี

ประวัติความเป็นมา

เวียงกาหลงเป็นชื่อของเมืองเก่า ตั้งอยู่ในตำบลเวียงกาหลง อำเภอเวียงป้าเป้า จังหวัดเชียงราย คำว่า”เวียง” ในภาษาล้านนาหมายถึง “เมือง” เวียงกาหลงตามการสันนิษฐานของนักโบราณคดีกล่าวว่าสร้างขึ้นช่วงพ.ศ.1500 – 1600 รูปแบบผังเมืองไม่เป็นรูปทรงเรขาคณิตเช่นเดียวกับเมืองโบราณส่วนใหญ่ในภาคเหนือ คูเมืองและกำแพงดินขุดเป็นรูปคล้ายตัววี หรือคล้ายปีกกา ทอดยาวตามแนวเหนือ-ใต้ กำแพงเป็นคันดินจากการขุดคูเมืองมาถมทั้งสองข้าง โดยชั้นในสูงกว่าชั้นนอก ดังนั้น ผู้ไม่ชำนาญเส้นทางจึงหลงทางได้ง่าย และเป็นที่มาของชื่อ”เวียงกาหลง”

ในอดีตเมืองเวียงกาหลงเป็นแหล่งผลิตเครื่องเคลือบดินเผาโบราณที่ใหญ่ที่สุดและรุ่งเรืองที่สุดของล้านนามีการขายไปยังต่างประเทศ ต่อมาเมืองเวียงกาหลงได้ล่มสลายด้วยภัยธรรมชาติและโรคระบาดทำให้การผลิตเครื่องเคลือบเวียงกาหลงได้หายไป ผู้คนอพยพออกจากเวียงกาหลง กลายเป็นเมืองร้าง

ปัจจุบันชุมชนเวียงกาหลงเป็นกลุ่มคนทื่อพยพเข้ามาอยู่บริเวณนี้ เมื่อราว 200 ปีที่ผ่านมา ซึ่งหมดยุคสมัยที่รุ่งเรืองของเวียงกาหลง เหลือเพียงแต่ซากและเศษชิ้นส่วนเครื่องเคลือบเวียงกาหลงโบราณที่พบเห็นได้ทั่วไปในเวียงกาหลง จนกระทั่ง เริ่มมีคนต้องการโบราณวัตถุ ชาวบ้านเวียงกาหลงจึงพากันชุดซากเตาโบราณและนำเครื่องเคลือบดินเผาที่สมบูรณ์ในเตาและเศษซากชิ้นส่วนไปขายกัน และเมื่อปี พ.ศ. 2526 นายทัน ธิจิตตัง (ประธานกลุ่มเครื่องเคลือบดินเผาเวียงกาหลง) และสมาชิกกลุ่มเครื่องเคลือบดินเผาเวียงกาหลง ได้เล็งเห็นคุณค่าและมีความรู้สึกสูญเสียทรัพย์สินอันมีค่าที่มีอยู่ในเวียงกาหลง จึงได้ใช้เวลาศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์ความเป็นมา ร่องรอยอารยธรรมอันเก่าแก่ของชุมชนเวียงกาหลง และได้ทดลองผลิตเครื่องเคลือบ โดยใช้วัตถุดิบที่หาได้ในพื้นที่ ตลอดจนศึกษาค้นคว้ากรรมวิธีที่จะผลิตเครื่องเคลือบให้มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับเครื่องเคลือบตั้งเดิม ทำให้เครื่องเคลือบเวียงกาหลงได้รับความนิยมในการนำไปตกแต่งเหมือนวัตถุโบราณทั้งในทั้งในประเทศและต่างประเทศ จนได้รับการคัดสรรเป็นสินค้าOTOP ระดับ 4 ดาวในปี พ.ศ. 2546 และได้ผ่านการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) เมื่อวันที่ 20กันยายน พ.ศ. 2562 รวมถึงได้รับการสนับสนุนด้านความรู้วิชาการและการบริหารจัดการในการดำเนินงาน OTOPจากกรมการพัฒนาชุมชน ทำให้สินค้าเครื่องเคลือบเวียงกาหลงเป็นสินค้าที่แพร่หลายและมีชื่อเสียงถึงปัจจุบัน ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งศิลปะชั้นสูงของชาวไทยที่ได้ตกทอดเป็นมรดกอันวิจิตรบรรจงส่งผ่านยุคสมัยและควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้สืบไป

ทั้งนี้พื้นที่การผลิตเครื่องเคลือบเวียงกาหลง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลเวียงกาหลง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย

GI64100158 page 0007ออออ