“โอ่งมังกรราชบุรี” GI หัตถกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัด

51748929 2002574949791643 7576576636632432640 n

“โอ่งมังกรราชบุรี” (Ratchaburi Dragon Jar และ/หรือ Ong Mang-gon Ratchaburi) หมายถึง เครื่องปั้นดินเผาที่ผลิตจากดินเหนียวสีน้ำตาลแดงสลับจุดขาวหรือดินสีมันปูที่พบในเขตพื้นที่อำเภอเมืองราชบุรี และอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ทั้งประเภทเคลือบและไม่เคลือบด้วยน้ำเคลือบขี้เถ้า มีการตกแต่งลวดลายเป็นลายมังกรหรือลายอื่น ๆ ทั้งแบบเรียบและแบบนูน รวมทั้งไม่มีการตกแต่งลวดลายซึ่งผลิตตามกรรมวิธีและขั้นตอนดั้งเดิมแบบจีนที่ถ่ายทอดกันมาผนวกกับภูมิปัญญาของคนราชบุรีในพื้นที่อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี ทั้งนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญาประกาศให้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ( GI) “โอ่งมังกรราชบุรี” เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2563

ขั้นตอนการผลิต

-นำดินเหนียวที่มีคุณสมบัติที่สามารถปั้นเป็นโอ่งได้มาหมักในบ่อหมักแล้วแช่น้ำไว้ประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อให้น้ำซึมเข้าไปในเนื้อดินทำให้เนื้อดินอ่อนตัวและเป็นการล้างดินด้วย

-ตักดินขึ้นมากองแล้วตัดให้มีขนาดพอเหมาะกับขนาดชิ้นงาน ปั้นขึ้นรูปส่วนฐานโอ่ง ท้องโอ่ง และปากโอ่งโดยเมื่อปั้นเสร็จแต่ละส่วนต้องรอให้ส่วนนั้นแห้งก่อนจึงจะปั้นส่วนอื่นต่อไป

-เมื่อปั้นเสร็จแล้วจึงนำมาทุบให้ได้รูป

-เมื่อได้รูปแล้วก็จะนำไปขึ้นลายแยกเป็นลายของส่วนต่างๆ

-นำไปเคลือบยังช่วยสมานรอยและรูระหว่างเนื้อดินเมื่อนำโอ่งไปใส่น้ำ น้ำก็จะไม่ซึมออกมานอกโอ่ง

-เผาโอ่งทิ้งไว้ 2 วันโดยไม่ต้องเติมเชื้อไฟ จากนั้นนำออกมารอให้แห้ง 10 ถึง 15 ชั่วโมง

unnamed

ลักษณะภูมิประเทศ

จังหวัดราชบุรี เป็นพื้นที่ชายแดนติดกับประเทศพม่า โดยมีเทือกเขาตะนาวศรีเป็นแนวพรมแดนสันปันน้ำ สภาพพื้นที่โดยทั่วไปแบ่งได้เป็น 4 ลักษณะ คือ พื้นที่ภูเขาสูง พื้นที่ราบสูง ที่ราบลุ่ม และที่ราบลุ่มต่ำ โดยบริเวณเขตอำเภอเมืองราชบุรีและอำเภอโพธาราม เป็นที่ราบลุ่มบริเวณสองฝั่งแม่น้ำแม่กลองมีความอุดมสมบูรณ์ ลักษณะดินเป็นดินร่วน ดินร่วนปนดินเหนียว หรือดินเหนียวที่มีเนื้อดินเหนียวละเอียดมีสีน้ำตาลแดงสลับจุดขาว หรือดินสีมันปูซึ่งมีแร่เหล็กผสมอยู่ในปริมาณมาก มีคุณสมบัติพิเศษ คือ เผาไฟด้วยความร้อนสูงได้ เมื่อผ่านการเผาแล้วมีความแกร่งสูงสามารถเก็บน้ำได้ดี ทำให้เมื่อนำมาผลิตเป็นสินค้าโอ่งมังกรราชบุรีแล้ว จะได้เครื่องปั้นดินเผาที่มีลักษณะเฉพาะและเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดราชบุรีคือ มีพื้นสีน้ำตาลและลวดลายเป็นสีเหลือง

ประวัติความเป็นมา

“โอ่งมังกรราชบุรี” มีจุดกำเนิดจากการบุกเบิกของชาวจีนโพ้นทะเล 2คน ชื่อนายจือเหม็ง แซ่อึ้ง และนายซ่งฮง แซ่เตีย ซึ่งมีภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่อำเภอแต้จิ๋ว หมู่บ้านปังโคย ประเทศจีน ที่หมู่บ้านปังโคยเป็นหมู่บ้านที่ผลิตเครื่องปั้นดินเผา เมื่อท่านอายุได้ 23 ปี ได้เดินทางมาประเทศไทย ทำงานเป็นช่างวาดลวดลายที่โรงงานเครื่องปั้นดินเผาเฮ็งเส็งเชิงสะพานซังฮี้ฝั่งธนบุรี วันหนึ่งได้เดินทางมาเยี่ยมญาติที่จังหวัดราชบุรีและได้พบแหล่งดินสำหรับทำเครื่องปั้นดินเผาโดยบังเอิญเมื่อเดินไปตามท้องนาและได้สังเกตเห็นดินจากปากรูปู มีสีส้มออกเหลืองดูน่าสนใจจึงเก็บกลับไปยังโรงงานที่กรุงเทพฯ และทดลองปั้นเป็นภาชนะเล็กๆ แล้วนำไปเผา ผลผลิตที่ออกมาได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพดี มีสีสันสวยงาม ในราวปี พ.ศ..2477จึงชักชวนนายซ่งฮง แซ่เตียและเพื่อนที่จังหวัดราชบุรีเข้าหุ้นตั้งโรงงาน “เถ้าเซ่งหลี” เป็นโรงงานผลิต เครื่องปั้นดินเผาแห่งแรกของจังหวัดราชบุรี

ในระยะแรกมีปัญหาในการทำงานตลอดเนื่องจากเวลานั้นคนในท้องถิ่นไม่มีความรู้เรื่องเครื่องปั้นดินเผา ประมาณปี พ.ศ.2489 นายจือเหม็งจึงขอถอนหุ้นและร่วมลงทุนกับนายซิ่งฮง ตั้งโรงงานใหม่ชื่อว่า “เถ้าแซ่ไถ่” โดยมีช่างชาวจีนมาร่วมงานด้วยหลายคนจนกิจการของโรงงานเครื่องปั้นดินเผาในจังหวัดราชบุรีดีขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สินค้าอุปโภคบริโภคขาดแคลนและมีราคาแพง โอ่งใส่น้ำเริ่มขาดตลาดซึ่งในสมัยนั้นเป็นสินค้านำเข้าจากประเทศจีน นายจือเหม็งได้ทดลองปั้นโอ่งใส่น้ำขาย โดยโอ่งที่ปั้นยังไม่มีลวดลาย รูปทรงไม่สวยหนาและมีน้ำหนักมาก คนไม่นิยม โรงงานต่าง ๆ ได้พยายามพัฒนาจนโอ่งใส่น้ำมีวิวัฒนาการและลวดลายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากคนซื้อต้องการลายใหม่ ๆ ช่างเขียนลายจึงต้องคิดลวดลายใหม่ ๆ มาติดบนโอ่งราชบุรีจนมาถึงลายมังกร ซึ่งผู้บริโภคนิยมซื้อโอ่งเคลือบที่มีลวดลายเป็นรูปมังกรเลื้อยพันรอบโอ่ง และในที่สุดโรงโอ่งทุกแห่งในจังหวัดราชบุรีให้ผลิตโอ่งที่มีลวดลายเป็นมังกร “ลายมังกร” จึงเป็นสัญลักษณ์ของเครื่องปั้นดินเผาของจังหวัดราชบุรีทั้งนี้พื้นที่การผลิตโอ่งมังกรราชบุรี ครอบคลุมอำเภอเมืองราชบุรีของจังหวัดราชบุรี

GI63100141 page6