“ชามไก่ลำปาง”GI สินค้าเอกลักษณ์ของจังหวัดลำปาง สู่ตลาดต่างประเทศ

“ชามไก่ลำปาง” (Lampang Chicken Bowl หรือ Cham Kai Lampang) หมายถึง ผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาประเภทเครื่องใช้ บนโต๊ะอาหาร ที่ผลิตขึ้นในจังหวัดลำปาง มีลักษณะเฉพาะถิ่นที่โดดเด่นทั้งกระบวนการผลิตและลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดลำปาง

สกรีนช็อต 2023 10 10 112014

กระบวนการผลิต

การเตรียมดิน

(1) นำดินขาวลำปางผสมกับดินดำ และผสมวัตถุดิบอื่น ได้แก่ หินฟันม้า ทรายแก้ว

(2) นำส่วนผสมตาม (1) มาผสมกับน้ำให้เป็นน้ำดิน หรือนำมาอัดให้เป็นแท่ง เพื่อเตรียมขึ้นรูป

การขึ้นรูป

(1) การหล่อ (Slip Casting) โดยการเทน้ำดิน ลงในแม่พิมพ์ปูนพลาสเดอร์

(2) การปั้นจิกเกอร์ (Jiggering) นำดินแท่งมาขึ้นรูป โดยใช้เครื่องปั้น Jiggering

(3) ใช้มีดตกแต่งชิ้นงาน และใช้ฟองน้ำเช็ดชิ้นงาน

(4) นำชิ้นงานที่ได้ผึ่งให้แห้ง หรือทำการเผาดิบ (Biscuit Firing) ที่อุณหภูมิ 800 องศาเซลเซียส

HqNWPB6nL44bfMgVBfaj

การเคลือบ

(1) น้ำเคลือบใส มีส่วนประกอบของ หินฟันม้า ทรายแก้ว ดินขาว หินปูน
(2) การเคลือบผลิตภัณฑ์โดยการจุ่มหรือการพ่น

การวาดลวดลายและการเผา

(1) กรณีวาดลวดลายใต้เคลือบ

(1.1) นำผลิตภัณฑ์ที่ตกแต่งแล้วมาวาดลวดลาย ด้วยสีสำเร็จรูป (Color Stain) โดยมีองค์ประกอบลวดลายเป็นตัวไก่ ต้นกล้วย และดอกโบตั๋น

(1.2) นำผลิตภัณฑ์ที่ได้ไปเคลือบใส โดยการเคลือบแบบจุ่มหรือพ่น

(1.3) นำไปเผาแบบสันดาปสมบูรณ์ ที่อุณหภูมิ 1,200- 1,250 องศาสเซลเซียส เป็นเวลา 6-9 ชั่วโมง

(2) กรณีวาดลวดลายบนเคลือบ

(2.1) นำผลิตภัณฑ์ชุบเคลือบใส

(2.2) นำไปเผาในเตาอุณหภูมิ 1,200-1,230 องศาเซลเซียส

(2.3) นำผลิตภัณฑ์ที่เผาแล้วมาวาดลวดลาย และนำไปเผาซ้ำอีกครั้งที่อุณหภูมิ 800 องศาเซลเซียส


ลักษณะภูมิประเทศ

จังหวัดลำปาง มีลักษณะพื้นที่เป็นรูปยาวรี ภูมิประเทศทั่วไปเป็นที่ราบสูงมีภูเขาอยู่ทั่วไป สูงจากระดับน้ำทะเล 268.80 เมดร ตามลักษณะทางกายภาพด้านธรณีสัณฐานวิทยาเป็นแหล่งที่มีแร่ดินขาวและดินดำจำนวนมาก ซึ่งใช้เป็นวัตฤดิบที่สำคัญในการผลิตชามไก่ลำปาง

ประวัติความเป็นมา

มีการผลิตชามไก่ขึ้นในจังหวัดลำปาง เมื่อปี พ.ศ. 2500 โดยชาวจีนได้ร่วมกันก่อตั้ง ชื่อ โรงงานร่วมสามัคคี หลังจากได้มีการพบแหล่งดินขาวที่อำเภอแจ้ห่ม ในระหว่างปี พ.ศ. 2502-2505 มีกลุ่มชาวจีนได้ชวนกันมาก่อตั้งโรงงานเพิ่มขึ้น ทำให้กลายเป็นแหล่งผลิตชามไก่มากกว่าแหล่งอื่นในประเทศ

ต่อมาในราวปี พ.ศ.2505-2510 เป็นช่วงสำคัญของเซรามิกลำปาง เนื่องจากมีการเปิดโรงงานผลิตถ้วยชามเป็นจำนวนมากแต่ไม่ประสบความสำเร็จ เกิดการสูญเสียวัตถุดิบ คุณภาพสินค้าไม่สม่ำเสมอ ราคาจึงตกต่ำ ขายได้เฉพาะในท้องถิ่นเท่านั้น

ในปี พ.ศ.2516 มีการก่อตั้งชมรมเครื่องปั้นดินเผาลำปางขึ้น ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันราคาถ้วยชามตราไก่ให้มีมาตรฐานและไม่ให้มีการตัดราคากันเอง ในช่วงแรกของการก่อตั้งมีสมาชิกรวม 18 โรงงาน ความรุ่งโรจน์ของอุตสาหกรรมเซรามิกลำปางมีมาอย่างต่อเนื่อง มีการปรับปรุงและนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้เช่น มีการปรับเปลี่ยนระบบเชื้อเพลิง จากการใช้ไม้ฟืนมาเป็นใช้แก๊สแอลพีจี ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายทำให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพดีขึ้น ประหยัดเชื้อเพลิงและลดมลภาวะ สามารถส่งออกไปขายต่างประเทศ

ต่อมาในปี พ.ศ.2532 ได้มีการก่อตั้งสมาคมเครื่องปั้นดินเผาลำปางขึ้น มีวัตถุประสงค์เพื่อประสานงานกับภาครัฐให้แก่สมาชิกสมาคมฯ และจัดให้มีกิจกรรมเพื่อเผยแพร่อุตสาหกรรมเซรามิกให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย โดยสมาคมฯ ร่วมกับจังหวัดลำปาง จึงมีการจัดงาน “ลำปางเซรามิกแฟร์” ระหว่างวันที่ 1-10ธันวาคม ของทุกปี มีการจัดงานติดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน และได้บรรจุอยู่ในปฏิทินท่องเที่ยวประจำปีไปแล้ว เพราะสามารถดึงดูดความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ รวมทั้งสร้างรายได้ให้กับจังหวัดลำปางเป็นอันมาก ด้วยเอกลักษณ์เฉพาะของ “ชามไก่ลำปาง “ทำให้จังหวัดลำปางที่เป็นเมืองอู่อารยะธรรมอันเก่าแก่ของล้านนาไทย ที่น่าภาคภูมิใจอย่างที่สุด

สำหรับพื้นที่ผลิตชามไก่ลำปาง ครอบคลุมพื้นที่ทั้งจังหวัดลำปาง

Lampang2
แผนที่จังหวัดลำปาง