“ญอกมละบริน่าน” GI ถุงย่ามที่มีความเหนียวเป็นพิเศษ จากภูมิปัญญาของชนเผ่าพื้นเมือง

“ญอกมละบริน่าน” (YOK MLABRI NAN) หมายถึง ถุงย่ามของชาวมละบริที่ผลิตในเขตอำเภอบ่อเกลือ อำเภอเวียงสา อำเภอบ้านหลวง และอำเภอเมือง จังหวัดน่าน ซึ่งทำจากเถาวัลย์(ทะแปต) ด้วยประสบการณ์ในเรื่องพืชพันธุ์ของนักเดินป่าและภูมิปัญญาของชาวมละบริที่รู้ว่าเถาวัลย์ชนิดนี้มีความเหนียว ทนทาน เมื่อนำมาถักเป็นถุงย่ามตามกรรมวิธีที่สืบทอดต่อกันมา จะได้ถุงย่ามที่มีความเหนียวเป็นพิเศษสามารถใส่ของหนักได้ ทั้งนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญา ประกาศให้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ( GI) “ญอกมละบริน่าน” เมื่อ 15 พ.ย. 2554

463378275 9

ลักษณะของสินค้า

-รูปทรง เป็นถุงย่ามรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสหรือสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดเล็กหรือใหญ่ขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งาน

-ลวดลาย ถุงย่ามมละบริมีช่องถักหรือตาสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนช่องเล็กๆ ขนาดเดียวกันหมดทั้งใบ จากลักษณะถักหรือการผูกทำให้เกิดปุ่มเงื่อนหรือปมเล็ก ซึ่งทำให้ถุงย่ามสวยงามและโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของถุงย่ามมละบริ

-สีสัน เป็นสีธรรรมชาติจากใบไม้ เปลือกไม้ หรือรากไม้ ถุงย่ามอาจทำการสลับสีเป็นแถบตามแนวนอน การสลับสีเส้นเชือกขณะที่กำลังถัก เช่น ม่วงสลับขาว น้ำตาลสลับแดง หรือเขียวสลับขาว

480526447 1185625233563399 1968553772700799646 n

กระบวนการผลิต

วัตถุดิบ

1. เถาวัลย์(ทะแปต) เป็นไม้เถาเลื้อยพบได้ในบริเวณริมน้ำตามเชิงเขาในภาคเหนือ (เชียงใหม่ ลำปาง น่าน) เถาวัลย์(ทะแปต) ที่นำมาใช้ผลิตถุงย่ามนั้น ชาวมละบริหาจากแหล่งพื้นที่ป่าที่อยู่ไม่ไกลจากที่อาศัยซึ่งอยู่ในพื้นที่ของอำเภอบ่อเกลือ อำเภอเวียงสา อำเภอบ้านหลวง และอำเภอเมือง จังหวัดน่าน

2.พืชที่นำมาย้อมสีเส้นเชือก ใช้สีธรรมชาติจากต้นไม้ รากไม้ ใบไม้ หรือการผสมสีธรรมชาติเหล่านั้นกับสีธรรมชาติของถุงย่ามมละบริ ได้แก่

สีแดง เป็นสีที่ได้จากรากไม้(ลำแซวร์) โดยรากมีเนื้อในสีเหลือง ใช้มีดขูดให้ละเอียดผสมกับขี้เถ้าจะได้สีแดง

สีฟ้า เป็นสีที่ได้จากไม้เถาเลื้อย(ทรอม) ยางของเถาเมื่อสัมผัสอากาศจะให้สีฟ้า นำใบมาบดให้ละเอียดผสมกับน้ำเล็กน้อยก่อนนำไปย้อม

สีม่วง เป็นสีที่ได้จากเมล็ดผักปัง ที่เกษตรกรปลูกไว้เพื่อเด็ดยอดมาทำอาหาร

สีเหลือง เป็นสีที่ได้จากขมิ้น ใช้เหง้าซึ่งมีเนื้อในสีเหลืองมาทาเส้นเชือก

การทำเส้นเชือกและย้อมสี

(1) เส้นเชือก นำเถาวัลย์(ทะแปต) มาผ่าซีกตามแนวยาว ลอกไส้ออกและขูดผิวสีเขียวทิ้ง ใช้เฉพาะเส้นใยสีขาวนำมามัดรวมกันและตากให้แห้ง(เบรอทะแปต)

(2.)การปั่นเส้นชือก นำเส้นใยเถาวัลย์ที่ตากแห้งแล้วมาปั่น(ตืรเลต) โดยใช้วิธีการหมุนเส้นใยไปในทิศทางเดียวกัน ปั่นไปจนสุดลายความยาวของเถาวัลย์ เมื่อต้องการต่อกับท่อนใหม่จะนำเส้นใยเถาวัลย์ชิ้นใหม่มาทาบ แล้วปั่นหรือหมุนเกลียวต่อไป จนได้เส้นเชือกที่ต่อกันเป็นเส้นยาว

(3) การเก็บเส้นเชือก นำเส้นเชือกที่ปั่นแล้วมาพันในกระสวย ที่ทำจากไม้ไผ่มีลักษณะเป็นง่าม ปลายแหลมทั้งสองข้าง

(4)การย้อมสี นำเส้นเชือกที่ปั่นเสร็จแล้วมาย้อมสี โดยใช้วัตถุดิบเป็นสีธรรมชาติจากต้นไม้ ใบไม้ เปลือกไม้หรือรากไม้ทำตามกระบวนการของมละบริก่อนนำไปทาลงบนเส้นเชือก

การถักถุงย่ามและการทำสายสะพาย

(1) การถักตัวถุงย่าม ถุงย่ามมละบริมีลักษณะเด่น คือ เป็นถุงย่ามที่มีช่องถักหรือตาสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนช่องเล็กๆ ขนาดเดียวกันทั้งใบ ด้วยขนาดของไม้ไผ่เล็กๆ เป็นเสมือนไม้ knitting เป็นตัวบังคับช่อง และเนื่องด้วยลักษณะของการถักหรือการผูกนี้เอง ทำให้เกิดปุ่มเงื่อนหรือปมเล็กๆ ซึ่งทำให้ถุงย่ามสวยงามและโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของถุงย่ามมละบริ

(2) สีสันของถุงย่าม ถุงย่ามมละบริอาจทำสลับสีได้ เช่น ม่วงสลับขาว น้ำตาลสลับแดง หรือเขียวสลับขาว การสลับสีจะมีลักษณะเป็นแถบตามแนวนอน ซึ่งเกิดจากการสลับสีเส้นเชือกขณะที่กำลังถัก ความมีสีสันของถุงย่าม มีความเรียบง่ายจากการใช้สิ่งของตามธรรมชาติมาเพิ่มความงาม

(3) การทำสายสะพายหรือหูถุง นำไม้ไม่ทำเป็นโครงหรือตั้งฉากสี่เหลี่ยม นำเชือกหรือเถาวัลย์ที่พันไว้แล้วมาทำเป็นสายตรงให้ใต้ตามขนาดของถุงย่าม และนำอีกเส้นหนึ่งพันกันกับเครื่องมือไม้ไผ่ที่ลนไฟ เหลาหัวท้ายให้เป็นเงี่ยงแหลม ใช้งัดเส้นด้ายขึ้นลง(จวาก) หรือไม้ไผ่สี่เหลี่ยมให้มากที่สุด โดยทำจากข้างล่างสลับเส้นตรงและสอดให้ควบเส้นตรงจากซ้ายขวาขึ้นไปเรื่อยๆ การทำสายถุงย่ามนี้ต้องพันเส้นยาวมากๆ ทำขึ้นไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงฐานข้างบน สายถุงย่ามมีความกว้างประมาณ 1 นิ้ว ความยาวประมาณ 3-4 ฟุต ยาวพอที่จะใช้สะพายพาดไหล่หรือคล้องคอได้ และแข็งแรงพอที่จะรับน้ำหนักสิ่งของที่อยู่ในถุง โดยจะผูกปลายแยกจากกันเป็น 2 แฉกเล็กๆ เสมือนเป็นเส้นสายที่นำมาตกแต่งถุงย่ามให้น่าดูยิ่งขึ้น

(4) การทำปลายแฉกสายสะพาย เพื่อทำให้เส้นเถาวัลย์ไม่หลุด โดยการนำปลายแฉกเส้นที่ทำไว้มาควั่นกันพอประมาณและมัดปลายสุดท้าย

(5) การต่อสายสะพายกับปากถุง นำสายสะพายที่เสร็จแล้ว วัดให้พอดีกับด้านข้างของถุงย่าม และเย็บติดกับปากถุงย่ามด้านในหรือด้านนอกก็ได้

(6) ลวดลายปากถุง การเสริมแต่งปากถุงย่ามด้วยการถักลวดลายให้เป็นห่วงเล็กๆ ชิดกันคล้องไปตามแนวนอนยาวตลอดปากถุง เพื่อแยกความแตกต่างของลายตัวถุงย่ามกับปากถุง และการถักส่วนบนของถุงย่ามนี้จะถักผูกยึดสายสะพายเข้ากับถุงย่ามอย่างกลมกลืนกัน

ลักษณะภูมิประเทศ

จังหวัดน่านมีสภาพภูมิประเทศโดยรอบเป็นหุบเขาและภูเขาสูงชันมาก มีทิวเขาหลวงพระบางและทิวเขาผีปันน้ำทอดผ่านทั่วจังหวัด พื้นที่ส่วนใหญ่มีสภาพเป็นลูกคลื่นลอนชัน ที่ราบลุ่มน้อย มีพื้นที่เป็นบำไม้มาก ด้วยสภาพนิเวศแบบภูเขาทำให้ดินในเขตลุ่มน้ำน่านตอนบน มีลักษณะเป็นดินทรายและดินที่เกิดจากการตกตะกอนเหมาะสมต่อการเกษตรน้อย ชุมชนจำนวนมากอาศัยพื้นที่นั้นเพื่อทำการเกษตรเลี้ยงชีพ โดยเฉพาะเขตพื้นที่ป่าเขาของจังหวัดน่าน มีชุมชนหลายกลุ่มทั้งชุมชนเกษตรในพื้นราบและบนพื้นที่สูง รวมถึงชาวมละบริที่อาศัยทรัพยากรจากผืนป่าด้วย

ลักษณะภูมิอากาศ

มีความแตกต่างกันของฤดูกาล โดยอากาศจะร้อนอบอ้าวในฤดูร้อน และหนาวเย็นในฤดูหนาว ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ พัดพาความชุ่มชื้นมาสู่ภูมิภาค ทำให้มีฝนตกชุกในเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายนในฤดูฝน และได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ พัดพาความหนาวเย็นสู่ภูมิภาคในเดือนตุลาคมถึงกุมภาพันธ์ และในช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน จะได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้มีสภาพอากาศร้อน

ประวัติความเป็นมา

“ญอกมละบริน่าน”หรือ”ถุงย่ามมละบริ” เป็นหัตถกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์มละบริหรือมลาบริ มีความหมายว่า”คนป่า” มละ แปลว่า”คน” ส่วน บริ แปลว่า”ป่า” เป็นระยะเวลานานมากแล้วที่ชนเผ่านี้ได้ดำรงชีวิตอยู่ในป่าตามแม่น้ำลำธาร และไหล่เขา โดยการใช้ใบตองกล้วยป่ามาปกปิดร่างกายแทนเสื้อผ้าตลอดจนใช้สร้างที่อยู่แดดกันฝน ชาวมละบริหาหัวเผือกหัวมันตามบริเวณป่ามาบริโภค เพื่อประทังชีวิตของตนเอง และครอบครัว เมื่อใดที่แหล่งอาหารหมดและใบตองกล้วยเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ก็จะทำการอพยพโยกย้ายหาแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยและเป็นกลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเก่าแก่ที่ได้อพยพมาจากเมืองไชยบุรี ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไดยประชาชนลาวเมื่อราว 100 กว่าปีที่ผ่านมา และในปีพ.ศ.2551 มละบริประมาณ 10 ครอบครัวได้อพยพมาอยู่บริเวณพื้นที่ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ไม่ต้องเร่ร่อนต่อไป โดยได้รับการส่งเสริมให้ดำรงชีวิตตามวิถีวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์เดิม

การถักถุงย่ามมละบริดั้งเดิม เป็นอาชีพที่ถือเป็นรายได้เสริมของผู้หญิงมละบริ ถุงย่ามหรือ”ญอก” ทำจากเถาวัลย์หรือ “ทะแปต” ที่ขึ้นในที่ชื้นแฉะบริเวณแหล่งน้ำ ในพื้นที่จังหวัดน่าน มละบริรู้จักเถาวัลย์ชนิดนี้ รู้ว่าเส้นใยมีความเหนียวและคงทน รู้ว่าต้นขนาดไหนจะตัดมาใช้เพื่อทำถุงย่าม ผนวกกับภูมิปัญญาที่ได้สั่งสมกันมารุ่นต่อรุ่น กันมานานแล้วตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย คนสมัยก่อนจะใช้ย่ามใส่หัวเผือกหัวมันตัวตุ่น ย่ามใบหนึ่งมีอายุการใช้งานได้ 5-6 ปี ทำไว้ใช้กันเองหรือทำขึ้นเพื่อนำไปแลกของ ปัจจุบันมีการใช้น้อยลงเพราะมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งไม่ย้ายไปไหน จึงทอเพื่อขายให้ผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมศูนย์ภูฟ้าพัฒนา ราคาของถุงย่ามที่จำหน่ายประมาณ 200-500 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดของถุงย่าม จากภูมิปัญญาสู่การสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ ที่บ่งบอกถึงคุณค่าของความเป็นหัตถกรรมที่เกี่ยวข้องกับเอกลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์มละบริจังหวัดน่าน ที่ผลิตขึ้นด้วยความวิริยะอุตสาหะและด้วยภูมิปัญญาอย่างแท้จริง จึงเป็นที่รู้จักในชื่อ “ญอกมละบริน่าน”

การผลิต” ญอกมละบริน่าน” อยู่ในเขตพื้นที่อำเภอบ่อเกลือ อำเภอเวียงสา อำเภอบ้านหลวง และอำเภอเมืองจังหวัดน่าน

แก