“เครื่องปั้นดินเผาบ้านมอญ” (Ban Mon Pottery) หมายถึง เครื่องปั้นดินเผาชนิดไม่เคลือบเนื้อดิน แบ่งเป็นประเภทเครื่องใช้ที่มีขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่ และประเภทสวยงาม ที่มีรูปทรงและการแกะสลักลวดลายเฉพาะ ซึ่งเมื่อผ่านการเผาจะมีสีแดงอมส้ม แข็งแกร่ง ทนทาน เก็บน้ำได้ดี ผลิตตามกรรมวิธีการผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่เป็นเอกลักษณ์ของบ้านมอญในเขตพื้นที่ ตำบลบ้านแก่ง อำเภอเมือง ของจังหวัดนครสวรรค์ ทั้งนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ประกาศให้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI )” เครื่องปั้นดินเผาบ้านมอญ ” เมื่อ 27 มิถุนายน 2561
ขั้นตอนการทำเครื่องปั้นดินเผาบ้านมอญ
1. เริ่มขุดดินมาหมักไว้ในน้ำ 3 คืน เพื่อให้ดินอ่อนนุ่ม
2. นำดินมาผสมทรายโม่ให้เข้ากัน แล้วจัดเตรียมไว้เป็นท่อนกลมๆ (สมัยโบราณใช้ควายย่ำแทนการโม่ดิน)
3.นำดินที่โม่แล้วมาขึ้นรูปทำเครื่องปั้นดินเผารูปทรงตามต้องการ เช่น โอ่ง อ่าง กระถาง ไห หม้อดิน คนโท ฯลฯ
4.การเขียนลวดลาย ใช้วิธีการจิ้มลายและกดลายแบบโบราณ ซึ่งสามารถทำได้โดยวิธีการนำเศษกิ่งไม้สักชิ้นเล็กๆ มาแกะสลักเป็นลวดลาย หรือดอกที่ต้องการ เพื่อใช้เป็นแม่พิมพ์ นำแม่พิมพ์ไปจิ้มบนภาชนะเครื่องปั้นทีละดอกจนครบตามต้องการจะเกิดลวดลายหรือดอกที่สวยงาม(ใช้วัสดุท้องถิ่น)งานออกมาจึงมีความประณีต สวยงามมาก เป็นเสน่ห์ของเครื่องปั้นดินเผาบ้านมอญแบบโบราณ
5. จากนั้นนำไปผึ่งลมในที่ร่มโดยใช้เวลา 15 วัน
6. การเผา เมื่อผึ่งลมจนได้ที่เป็นเวลาครบกำหนด 15 วันแล้ว ก็นำเข้าเตาเผาเพื่อเผาให้แกร่ง การเผาใช้ไม้ไผ่แห้ง หรือไม้ยูคาลิปตัสแห้งทำฟืน ใช้เวลาสุมไฟนาน 3 วัน 2คืน ค่อย ๆ เร่งไฟให้แรงถึง 8oo องศาขึ้นไป จึงจะได้เครื่องปั้นที่แกร่ง สีสวย เคาะดังกังวาน มีความแข็งแรง คงทนในการใช้งาน
ลักษณะภูมิประเทศ
จังหวัดนครสวรรค์ตั้งอยู่บริเวณตอนกลางของประเทศไทย มีสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำสายสำคัญ คือ แม่น้ำปิง แม่น้ำยม และแม่น้ำน่าน ไหลผ่านช่วงกลางของจังหวัด โดยตำบลบ้านแก่ง ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของอำเภอเมือง มีลักษณะภูมิประเทศคล้ายแอ่งกระทะมีน้ำท่วมถึง ทำให้เกิดการดกตะกอนทับถม พื้นที่จึงมีความอุดมสมบูรณ์ ประกอบกับด้านตะวันออกติดกับแม่น้ำปิง มีบึงเขาดินตั้งอยู่ทางตอนเหนือ และมีคลองท่าขนมจีนไหลผ่านทางด้านทิศตะวันตก
ด้วยสภาพภูมิประเทศดังกล่าว ทำให้ได้วัตถุดิบหลักจากพื้นที่ ได้แก่ ดินเหนียวจากบึงเขาดินและบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงที่มีคุณสมบัติเนื้อละเอียด เหนียว และทรายจากแม่น้ำปิง ที่มีลักษณะเป็นทรายเนื้อละเอียด เหมาะกับการนำมาผลิตเป็นเครื่องปั้นดินเผาที่มีความแข็งแรงทนทาน
ประวัติความเป็นมา ชนชาวมอญที่ตั้งรกรากและอาศัยอยู่ที่บ้านมอญ หมู่ 1 ตำบลบ้านแก่ง อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ เป็นชาวมอญที่อพยพมาจากย่านปากเกร็ด จังหวัดนทบุรี และย่านสามโคก จังหวัดปทุมธานี ราว 200 ปีที่ผ่านมา เมื่อมีการอพยพมาตั้งรกรากใหม่ในพื้นที่ จึงเรียกขานกันโดยทั่วไปว่า “บ้านมอญ” ชาวมอญมีความชำนาญในการทำเครื่องปั้นดินเผา เนื่องจากภาชนะในครัวเรือนแทบทั้งสิ้นทำจากเครื่องปั้นดินเผา พบว่าแหล่งดินเหนียวในบริเวณดำบลบ้านแก่ง มีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับการนำมาทำเครื่องปั้นดินเผา จากที่มีการผลิตเพื่อใช้ในครัวเรือนสู่การผลิตเป็นอาชีพเพื่อค้าขายและแลกเปลี่ยนกันบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาตลอดทั้งสาย ปัจจุบันชาวไทยเชื้อสายมอญ ในตำบลบ้านแก่งมีการสืบทอดภูมิปัญญาและกรรมวิธีการผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่เป็นเอกลักษณ์ของบ้านมอญจากบรรพบุรุษสู่ลูกหลานต่อมา รวมถึงมีการสืบทอดประเพณีของชาวมอญมาจนถึงปัจบัน โดยเฉพาะประเพณีการกินข้าวแช่ ที่ภาชนะสำหรับใส่ข้าวแช่ต้องเป็นหม้อดินเผาเท่านั้น
ทั้งนี้ขอบเขตพื้นที่การผลิตเครื่องปั้นดินเผาบ้านมอญ ครอบคลุมพื้นที่ ตำบลบ้านแก่ง อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์