“เครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ด”(Kohkret Pottery)หมายถึงเครื่องปั้นดินเผาแบบพื้นบ้านชนิดไม่เคลือบที่ผลิตขึ้นในพื้นที่ 12 ตำบลของ อ.ปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี มีลักษณะเฉพาะถิ่นที่โดดเด่นทั้งกระบวนการผลิตและการแกะสลักหรือฉลุลายอย่างวิจิตรบรรจง และได้รับการยกย่องให้เป็นตราประจำจังหวัดนนทบุรี คือ หม้อน้ำลายวิจิตร ซึ่งประกอบด้วย ตัวหม้อ ฝาหม้อและฐานรองหม้อ

ลักษณะของสินค้า
1) ประเภทของเครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ด
- ประเภทเครื่องใช้ ได้แก่ โอ่ง อ่าง ครก กระปุก
- ประเภทสวยงาม ได้แก่ เครื่องปั้นดินเผาที่เป็นเครื่องบรรณาการ มีรูปทรงและสลักลวดลายสวยงามประณีตวิจิตร หม้อน้ำลายวิจิตร โอ่งลายวิจิตร
2) ลักษณะทางกายภาพ
- เนื้อดินละเอียด มีความแข็งแกร่งสูง คงรูป ทนทานและมีความเหนียว สามารถเก็บน้ำได้ดี
- มีขนาดใหญ่จนถึงขนาดเล็ก
- มีสีส้มอ่อนจนถึงสีแดงอมส้ม เมื่อเผาอุณหภูมิสูงขึ้นจะมีสีเข้มคล้ายเนื้อเหล็ก
- เครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ดเป็นประเภทไม่เคลือบเนื้อดิน
- ลวดลายที่ตกแต่งเครื่องปั้น จากการขีดหรือสลัก การตัดดินให้ลายเด่นชัด การกดหรือตีให้ลายนูนหรือต่ำลง การติดหรือกระแหนะ การฉลุโปร่ง
- ประเภทของลายที่ตกแต่ง ได้แก่ ลายกลีบบัวหรือ”กาวฮะเกาะฮ์” ลายเครือเถา ลายดอกไม้ ลายสร้อยคอ ลายใบไม้ ลายเทพพนม ลายพวงมาลัย ลายกากบาท
กระบวนการผลิต
การเตรียมดิน
(1) การหมักดิน โดยการนำดินใหม่เททับลงบนเศษเครื่องปั้นที่เสียหายก่อนการเผาในบ่อหมัก สลับกับการฉีดน้ำลงไปทีละชั้น
(2)ใช้เท้าเหยียบย่ำให้ทั่วเพื่อให้ดินเก่าและใหม่เข้ากัน เรียกว่า”การเซียมดิน”หรือการสไลด์ดินเป็นเล็กๆ เพื่อให้น้ำเข้าไปในดิน ทิ้งไว้ 1-2 คืน
(3) ทำการผสมดินกับทราย ในอัตราส่วนที่เหมาะสมกับขนาดของผลิตภัณฑ์ ผสมน้ำพอประมาณ และนำใส่เครื่องโม่ดินไฟฟ้า เพื่อให้ส่วนผสมเข้ากันได้ดีพอประมาณ
(4) รีดดินออกมาเป็นแท่งและตัดดินเป็นท่อนเล็กๆ ตามขนาดที่พอเหมาะกับการปั้น
การปั้น
(1) นำก้อนดินที่เตรียมไว้ วางตรงใจกลางแป้นหมุน
(2) เปิดก้อนดิน โดยการใช้มือกดที่จุดศูนย์กลางของก้อนดินพร้อมกับแบะกว้าง ให้ได้เส้นผ่าศูนย์กลางที่ต้องการ
(3) ทำการขึ้นรูป โดยไม้แผ่นหรือแผ่นโลหะในการประคองเพื่อดึงความสูงให้ได้แบบที่ต้องการ หรือขึ้นรูปแบบมอญโบราณจะใช้ผ้าดิบในการประคองเพื่อดึงความสูง
(4) จับขอบปาก โดยใช้มือกดรีดดินที่ขอบปากจากข้างบนลงข้างล่าง ซึ่งเตรียมไว้เข้ารูปที่ต้องการใช้ลวดตัดฐานเครื่องปั้นที่ได้ออก ยกเครื่องปั้นออกวางบนไม้กระดาน และนำไปเก็บไว้ที่ร่มผึ่งไว้ให้หมาดพอประมาณ
(5) นำเครื่องปั้นที่ได้ไปแกะสลัก โดยช่างที่มีความชำนาญ ด้วยเครื่องมือที่ทำจากเปลือกไม้ไม่ไผ่ เหล็ก หรือวัสดุอื่นๆ
การตกแต่งและแกะสลักลาย
การแกะสลักลายจะทำหลังจากได้เก็บเครื่องปั้นไว้ระยะหนึ่ง เนื้อดินไม่นิ่มหรือแข็งเกินไป ขัดผิวให้มันเรียบด้วยหินขัดหรือลูกสะบ้า และเก็บไว้ในที่ร่มไม่มีลมผ่าน ใช้ใบตองคลุมไว้อีกระยะหนึ่งจนเครื่องปั้นแห้งสนิทพร้อมที่จะนำไปเข้าเผาได้
วิธีการตกแต่ง
1) การสลักด้วยไม้สลัก
2) การตกแต่งลวดลายด้วยมีดปลายแหลม ให้ลายสลักเด่นขึ้น
3) การทำลวดลายด้วยแม่พิมพ์ไม้หนามทองหลางป่า ที่เป็นแม่พิมพ์ของลายต่างๆ ให้ลายนูน
4) การตีลายหรือกดลายลงบนเนื้อดิน
5) การแปะติดลายต่างๆ เรียกว่าการกระแหนะ
6) การตัดดินให้ลายเด่นชัดด้วยมีด โดยการฉลุโปร่งหรือไม่ฉลุโปร่ง
การเผา
การเผาเครื่องปั้น มอญเรียกว่า”จองพาว”เผาที่อุณหภูมิประมาณ800-1,400 องศาเซลเซียส มีการเผา 2 แบบคือ การเผาแบบโบราณ หรือแบบใช้แก๊ส
(1) การเผาแบบโบราณ
ใช้เตามอญ (เตาหลังเต่า) ใช้เวลาเผาประมาณ 3-15 วัน ขึ้นอยู่กับชนิดของผลิตภัณฑ์ซึ่งใช้เวลาเผาไม่เท่ากัน
ขั้นตอนการเผามี 3 ขั้นตอน
ขั้นตอนที่ 1 การใช้ไฟรุม ใช้ฟืนไม้เบญจพรรณสุมไว้ด้านหน้า เริ่มจากไฟอ่อน และให้ความร้อนค่อยๆ เพิ่มขึ้น
ขั้นตอนที่ 2 การเร่งไฟ โดยเร่งสุมไฟ สุมฟืนทางด้านหน้าให้มากและเร็วขึ้น
ขั้นตอนเที่ 3 ค่อยๆ เริ่มแหย่ทางมะพร้าวหรือไม้ฟืน เข้าเตาไฟตามช่องไฟตั้งแต่ช่องที่ 1 ไปเรื่อยๆช่องละประมาณ 1 ชั่วโมง พอถึงช่องกลางจะทำการปิดเตาด้านหน้าและแหย่ช่องอื่นๆตามลำดับจนปิดเตา
( 2 )การเผาแบบใช้เตาไฟฟ้าหรือเตาแก๊ส ใช้เวลาเผาประมาณ 24 ชั่วโมง จะใช้เผาสำหรับชิ้นงานที่ไม่ใหญ่นัก
การนำเครื่องปั้นดินเผาออกจากเตา
หลังจากปิดเตาแล้วต้องปล่อยพักเตาไว้ประมาณ 5-7 วัน ขึ้นอยู่กับขนาดและชนิดของเตา จึงเปิดเตานำเครื่องปั้นดินเผาออกได้ การเปิดเตาจะต้องค่อยๆ เปิดทีละน้อยๆ เพื่อมิให้อากาศเย็นจากภายนอกเข้าไปภายใน จะทำให้เครื่องปั้นแตกเสียหายได้ง่าย การนำเครื่องปั้นออกจากเตาเรียกว่า”ออกเตา”หรือ”ต๊าจก์พาว”
ลักษณะภูมิประเทศ
เกาะเกร็ด เป็นเกาะขนาดใหญ่กลางแม่น้ำเจ้าพระยา มีพื้นที่ประมาณ 2,820 ไร่ มีสถานะเป็นตำบล อยู่ในเขตอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี สภาพของพื้นที่บริเวณเกาะเกร็ดมีลักษณะเป็นดินเหนียวท้องนา เหมาะสมในการใช้ทำเครื่องปั้นดินเผา เนื้อดินละเอียด มีคุณภาพดี มีความเหนียว สีของดินก่อนเผามีสีน้ำตาลอ่อนปนสีเทาอมเหลือง และหลังจากเผาเนื้อดินที่ได้ส่วนใหญ่เป็นสีส้มอ่อนจนถึงสีแดงอมส้ม เนื้อดินจับกันเป็นก้อนแน่นไม่ร่วนซุย ไม่มีเศษวัชพืช ไม่มีกรวดทราย เมื่อนำเนื้อดินผสมน้ำและนวดจะมีความนุ่มและเหนียวมากเหมาะในการปั้น ในเนื้อดินจะมีธาตุเหล็กผสมอยู่เล็กน้อย เผาแล้วจึงมีสีแดง การผลิตโอ่ง อ่าง ครก จะมีความแข็งแกร่ง ทนทาน
ประวัติความเป็นมา
จังหวัดนนทบุรีเป็นแหล่งกำเนิดและผลิตงานศิลปหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาพื้นบ้านเกาะเกร็ด ซึ่งเริ่มจากชาวมอญเมืองสะเทิมอพยพหนีภัยสงครามเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ชาวบ้านที่ตั้งถิ่นฐานอยู่บนเกาะเกร็ด ประกอบอาชีพทำเครื่องปั้นดินเผา เช่นที่เคยทำที่เมืองมอญมาก่อนแล้ว ลูกหลานจึงได้ทำเครื่องปั้นดินเผาสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน ชื่อเสียงของเครื่องปั้นดินเผาในจังวัดนทบุรี เป็นที่ยอมรับของบุคคลทั่วไปและเป็นผลิตภัณฑ์ที่นำชื่อเสียงให้กับจังหวัดนนทบุรีจนเลื่องลือไปทั่วประเทศ
เกาะเกร็ด ได้ชื่อว่าเป็นชุมชนช่างเครื่องปั้นดินเผาชั้นเลิศมาแต่อดีตและเป็นที่รู้จักทั่วไปว่างดงามเหมาะแก่ประโยชน์ทนทาน สมบูรณ์ด้วยคุณภาพ ประเภทเครื่องใช้ ได้แก่ โอ่ง อ่าง ครก รวมถึงประเภทสวยงาม ได้แก่ โอ่งลายวิจิตร น้ำที่เน้นความงามของรูปทรงและการสลักลวดลาย ที่ช่างจะไม่ทำขาย แต่ทำเพื่อ “ฝากฝีมือ” ไว้นำไปถวายวัดหรือมอบไว้ไว้ไห้แก่ลูกหลาน
เครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ด มีลักษณะเฉพาะถิ่นที่โดดเด่น ทั้งกระบวนการผลิต กรรมวิธีการปั้นขึ้นรูปและการแกะสลักลวดลาย เน้นการตกแต่งที่ไหล่ ฐาน และฝาหม้อ ด้วยวิธีการกดแม่พิมพ์ การแกะลวดลายบนหม้อน้ำที่มีความละเอียดงดงาม สีแดง ผิวมัน และมีความประณีตมาก
ทั้งนี้ขอบเขตของการผลิตเครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ด อยู่ในพื้นที่ 12 ตำบลของอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี