“เครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียง” GI งานหัตถกรรมที่มีรูปทรง ลวดลาย เฉพาะโดดเด่น

“เครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียง” (Ban Chiang Pottery หมายถึง ภาชนะเครื่องปั้นดินเผาที่ผลิตในตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ซึ่งมีรูปทรงการปั้นและเขียนลายเส้นโค้ง ลายเชือกทาบ ลายก้านขด ก้นหอย ลายรูปเรขาคณิต ลักษณะเดียวกับภาชนะเครื่องปั้นโบราณที่ขุดค้นพบในบริเวณดังกล่าว

40446778 1902603936428769 6718425248720486400 n

 

การค้นพบโบราณวัตถุ “เครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียง” ที่มีความสำคัญทางโบราณคดีและก่อนประวัติศาสตร์ในบริเวณหมู่บ้านบ้านเชียงนั้น เริ่มต้นประมาณเมื่อพ.ศ.2500 เมื่อราษฎรชาวบ้านเชียง สังเกตเห็นและมีความสนใจเศษภาชนะดินเผาที่มีลวดลายเขียนสีแดงที่มักพบเสมอเมื่อมีการขุดพื้นดินในบริเวณหมู่บ้านจึงได้นำไปเก็บรักษาไว้ที่โรงเรียนประชาบาลประจำหมู่บ้านและจัดแสดงให้ผู้คนสนใจได้เข้าชม

พ.ศ.2509 นายสตีเฟน ยัง นักศึกษาวิชาสังคมศสาสตร์ จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ได้เดินทางมาศึกษาเรื่องราวของวิถีชีวิตชาวบ้านเชียงจึงได้พบเห็นเศษภาชนะดินเผาเขียนสีกระจายเกลื่อนอยู่ทั่วไปตามผิวดินของหมู่บ้าน จึงได้เก็บไปให้ ศาสตราจารย์ชิน อยู่ดี ผู้เชี่ยวชาญโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ประจำกองโบราณคดีกรมศิลปากร ศึกษาวิเคราะห์และได้ลงความเห็นว่าเป็นเศษภาชนะดินเผาสมัยก่อนประวัติศาสตร์ยุคหินใหม่ ใน พ.ศ. 2510 กองโบราณคดี กรมศิลปากร จึงดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีบ้านเชียงอย่างจริงจังและส่งโบราณวัตถุไปหาอายุด้วยวิธีเทอร์โมลูมิเนสเซนส์(c-14) ที่มหาวิทยาลัยเพนซินเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าโบราณวัตถุเหล่านั้นมีอายุประมาณ 2,600ปีมาแล้ว

40358138 1902603559762140 490753374241685504 n

เครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียง แบ่งออกเป็น3สมัยดังนี้

1. เครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียงสมัยตอนต้น (อายุราวประมาณ5,600-3,000ปี)

เป็นภาชนะดินเผาสีดำ ตกแต่งด้วยลายขูดขีดและลายเชือกทาบ รูปทรงมักเป็นหม้อก้นกลม ปากผายกว้างเชิงสูง มีทั้งชนิดปลายสอบเข้าและผายออก

2. เครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียงสมัยกลาง (อายุราวประมาณ3,000-2,300ปี)

ภาชนะส่วนใหญ่มีเนื้อดินสีขาว ไหลาลู่ลำตัวกลมและหักเป็นสัน ก้นภาชนะทั้งกลมและแหลมมักไม่มีการตกแต่งลวดลาย แต่บางชิ้นมีการตกแต่งด้วยลายขูดขีดและเขียนลวดลายสีแดงที่บริเวณไหล่ของภาชนะ

3.เครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียงสมัยปลาย (อายุราวประมาณ 2,300-1,800ปี)

รูปทรงของภาชนะทั้งชนิดก้นกลมและชนิดมีเชิงสูงปลายผาย ขอบปากมีสัน มีการตกแต่งด้วยการเขียนลวดลายสีแดงสีที่ใช้เขียนเรียกว่า “สีดินเทศ” ลวดลาย ที่เขียนส่วนใหญ่เป็นลายเรขาคณิต ลายสี่เหลี่ยม ลายวงกลม ลายขด ลายก้นหอย

ทั้งนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญาประกาศให้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ( GI) “เครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียง”เมื่อ 10 มิถุนายน 2552

ลักษณะภูมิประเทศ

พื้นที่ส่วนใหญ่ เป็นพื้นที่ทำนาซึ่งตั้งอยู่บนเนินดินรูปไข่ ที่ราบยาวตามแนวทิศตะวันออกถึงตะวันตก ลาดเอียงสู่ทางทิศเหนือ มีห้วยหลายสายไหลผ่าน ลักษณะภูมิอากาศแบบเมืองร้อนเฉพาะฤดู ทำให้อากาศเย็นสบาย แต่มีอากาศหนาวในฤดูหนาว ลักษณะของดิน สภาพโดยทั่วไปเป็นดินร่วนปนทราย มีอินทรียวัตถุต่ำ เป็นดินที่มีปริมาณเกลือค่อนข้างสูง มีความเหมาะสมกับการทำนาและเพาะปลูก โดยมีผลการสำรวจพบแหล่งแร่ หินเกลือและโปรแตซ ทรัพยากรน้ำ มีทั้งแหล่งน้ำผิวดิน ใต้ผิวดิน และใต้ดิน ลึกประมาณ 40-45 เมตร

ประวัติความเป็นมา

ในปี พ.ศ. 2510 ได้เริ่มดำเนินการขุดค้นพบวัตถุโบราณที่บ้านเชียง โดยกรมศิลปากร และได้ขุดค้นอย่างจริงจังในปี พ.ศ. 2515 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นหลักฐานทางโบราณคดีเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ที่มีลักษณะพิเศษเป็นของตนเอง ที่เรียกว่า วัฒนธรรมบ้านเชียง จึงได้ก่อสร้างพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติบ้านเชียงและหลุมขุดสาธิตในบริเวณวัดโพธิ์ตรีในขึ้น ซึ่งเป็นแหล่งภูมิศาสตร์ของเครื่องปั้นดินเผาที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของผู้บริโภค ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเป็นอย่างดี คือ เครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียง จากปัจจัยทางธรรมชาติและปัจจัยจากมนุษย์ ทำให้เครื่องปั้นดินเผาที่ผลิตขึ้นในแหล่งภูมิศาสตร์นี้มีลักษณะที่แตกต่างจาก เครื่องปั้นดินเผาที่ผลิตจากที่อื่น คือ รูปร่าง รูปทรงรวมทั้งลวดลายเฉพาะที่โดดเด่นตามยุคสมัยที่ขุดคันพบโบราณวัตถุของจริง

ทั้งนี้พื้นที่การผลิตเครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียง อยู่ในตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี

Thailand Udon Thani location map