“ครกหินอ่างศิลา” (Angsila mortar stone) หมายถึง ครกและสากที่ผลิตจากหินแกรนิต เป็นครกทรงกลม รูปทรงโค้งสวยงามมีส่วนใช้จับหรือยก เป็นหูสองข้าง ผลิตตามกรรมวิธีโดยผู้มีฝีมือที่ชำนาญการ ที่เป็นภูมิปัญญาสืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ซึ่งผลิตในเขตพื้นที่ตำบลอ่างศิลา ตำบลเสม็ด และตำบลบ้านปึก อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี ทั้งนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญา ประกาศให้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ( GI ) “ครกหินอ่างศิลา” เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2556
กระบวนการผลิต
วัตถุดิบ
(1) กรณีหินแกรนิตในพื้นที่ คัดเลือกหินแกรนิตจากตำบลอ่างศิลา ที่มีเนื้อเหนียวแน่น แข็งแกร่ง มีสีขาว สีเหลืองมันปู หรือสีเหลืองส้ม ในเนื้อหินมีเกล็ดแวววาวคล้ายเกล็ดเพชร
(2) กรณีซื้อหินแกรนิตนอกพื้นที่ คัดเลือกหินแกรนิตให้ได้มาตรฐานตามลักษณะของหินแกรนิดที่ใช้ทำครกหินอ่างศิลา และต้องเป็นหินแกรนิตในเขตจังหวัดตากหรือจังหวัดเพชบูรณ์เท่านั้น ที่มีเนื้อเหนียวแน่น แข็งแกร่ง มีสีดำลายจุด สีขาว สีเทาลายจุดสีดำ หรือมีสีเขียวขี้ม้าอมเทาจุดสีดำ
เครื่องมือที่ใช้ในการผลิต
(1) ค้อนปอนด์
(2) เหล็กสกัดชนิดต่างๆ คือ เหล็กที่มีปลายแหลม หรือเหล็กจ้ำ
(3) เหล็กปลายเหลี่ยม หรือเหล็กแต้
(4) เหล็กสับให้ละเอียด หรือเหล็กพง
(5) เหล็กปลายแบน หรือเหล็กลิ่ม (พัก)
(6).เครื่องตัดเหล็ก ใบตัดเพชร
(7) หินขัด หินเจียร และน้ำมันวานิชเคลือบเงา
การทำครก
(1) นำก้อนหินก้อนใหญ่มาแบ่งเป็นก้อนตามขนาดครกที่ต้องการ โดยใช้เหล็กลิ่มและเหล็กปลายแบน (พัก)
(2) แบ่งหินและใช้เหล็กปลายเหลี่ยม (เหล็กแต้) แต่งให้เป็นครก
(3) เขียนรูปทรงครกลงบนหินด้วยหมึกสีดำ ให้ใต้ขนาดที่ต้องการ
(4) ใช้ใบตัดเพชรตัดเป็นร่องเล็กๆ แล้วสกัด (ตี) ให้เป็นรูปทรงครก และใช้เหล็กพงสับผิวด้านนอกให้ละเอียด สกัดด้วยมือตามกรมวิธีที่เป็นภูมิภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาดั้งเดิม
(5) ขัดผิวด้านในให้เรียบด้วยหินขัด
(6)กรณีเป็นหินแกรนิตที่ซื้อหินนอกพื้นที่(จากจังหวัดตากหรือจังหวัดเพชรบูรณ์) จะทาเคลือบผิวด้านนอกครกด้วยน้ำมันวานิชหรือแลคเกอร์ ทาจากฐานครกไปจนถึงขอบบนของครก โดยไม่ทาที่บริเวณปากครกและด้านในครก
การทำสาก
(1) นำก้อนหินก้อนใหญ่มาแบ่งเป็นหินสี่เหลี่ยมผืนผ้าตามขนาดสากที่ต้องการ
(2) นำหินมาสกัดให้ได้ขนาดพอเหมาะกับครกหิน
(3) กรณีเป็นหินแกรนิตที่ซื้อหินนอกพื้นที่ (จากจังหวัดตากหรือจังหวัดเพชรบูรณ์) จะทาเคลือบผิวเฉพาะด้านบนสาก โดยไม่เกินครึ่งหนึ่งของความยาวสาก เมื่อวัดจากปลายด้านบนลงมา
ลักษณะภูมิประเทศ
จังหวัดชลบุรี มีพื้นที่เป็นทั้งภูเขา ที่ราบลุ่ม ที่ราบชายชายฝั่งทะเล เนินเขา แหลมและเกาะ เทศบาลเมืองอ่างศิลาอยู่ค่อนไปทางตะวันออกเฉียงใต้ของอำเภอเมืองชลบุรี มีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มชายทะเล มีเนินเขาที่มีหินแกรนิตเป็นจำนวนมาก ลักษณะภูมิอากาศ แบบมรสุมเขตร้อน ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้
ประวัติความเป็นมา
สมัยก่อนชาวบ้านได้ใช้ไม้มาทำเป็นครกเพื่อใช้ตำเครื่องแกง อาหารอื่นและตำเคย (กุ้ง) ที่หาได้จากทะเล เพื่อทำเป็นกะปิ ประกอบอาหาร หลังจากนั้นเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มีช่างชาวจีนชื่อ นายเจ๊กฮั้ว แซ่ตั้ง เดินทางมารับจ้างทำเสาหินที่วัดอ่างศิลา และพบว่าหินบริเวณอ่างศิลามีความแกร่งทนทานสวยงาม จึงนำหินที่เหลือจากการทำเสาวัดมาตีเป็นครก เพื่อใช้ในครัวเรือน และพบว่าครกที่ทำจากหินอ่างศิลาสามารถใช้งานได้ดี มีคุณภาพ ตำแล้วไม่มีเศษหินแตกออก จึงได้ทำออกขายในหมู่บ้านจนเป็นที่ยอมรับของประชาชนในตำบลอ่างศิลาและละแวกใกล้เคียง จนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของผู้บริโภคทั่วไป
จากปัจจัยทางธรรมชาติและป้จจัยจากมนุษย์ ทำให้ครกหินอ่างศิลาที่ผลิตขึ้นในแหล่งภูมิศาสตร์นี้ มีลักษณะที่แตกต่างจาก
ครกหินที่ผลิดจากที่อื่น ด้วยรูปร่าง รูปทรง รวมทั้งลักษณะเฉพาะที่แตกต่าง คือ จะมีส่วนที่ใช้จับหรือยกเพื่อสะดวกในการย้ายและทำความสะอาด เป็นหูสองหูตรงข้ามกัน การผลิตจะทำด้วยมือโดยผู้มีฝีมือที่ชำนาญการสืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ