
“เครื่องจักสานพนัสนิคม”เป็นการจักสานไม้ไผ่ที่เกิดจากภูมิปัญญาที่ผสมผสานระหว่างเผ่าพันธุ์ ลาว ไทย จีน ในเมืองพนัสนิคม ในการเตรียมเส้นตอกสานและการจักสานผลิตภัณฑ์ไม้ไผ่ด้วยมือที่สืบทอดกันมาจนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น โดยการจักสานผลิตขึ้นในอำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ทั้งนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญาประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ( GI ) “เครื่องจักสานพนัสนิคม” เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ.2553
สำหรับอำเภอพนัสนิคมเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดชลบุรี อยู่ห่างจากจังหวัด 22 กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ 572 ตารางกิโลเมตร เป็นที่ลาดจากทางด้านทิศใต้สู่ทิศเหนือ ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ทิศใต้เป็นที่เนินสูงมีป่าเขา มีแร่ธาตุบ้างเล็กน้อยเหมาะแก่การทำไร่อ้อย ทำนา ปลูกมันสำปะหลัง พลเมืองส่วนใหญ่ประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรมหลักจากนั้นก็ใช้เวลาที่เหลือทำเครื่องจักสาน
ประวัติความเป็นมา
พนัสนิคมเป็นเมืองโบราณที่เคยรุ่งเรืองเมื่อประมาณ 1,000 ปีมาแล้ว เป็นเมืองที่มีไม้ไผ่อยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ ครั้นถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้มีพระราชองค์การสถาปนาเรียก เมืองพนัสนิคม ซึ่งแปลว่า หมู่บ้านใหญ่ในป่า และสมัยนี้เองท้าวทุม(พระอินทอาษา) เป็นผู้นำชาวลาวมาตั้งชุมชนซึ่งชาวลาวมีความคุ้นเคยและสานผลิตภัณฑ์จักสานจากไม้ไผ่มาตั้งแต่ต้นแล้ว จึงนำไม้ไผ่ในเมืองพนัสนิคมมาสร้างสรรค์เป็นงานจักสานนานาชนิด
นอกจากนี้ยังมีชุมชนคนไทยและคนจีนรวมอยู่ด้วยซึ่งทั้งสามเผ่าพันธุ์ สานผลิตภัณฑ์จักสานไว้ใช้ในเรื่องการดำรงชีวิตประจำวันและสืบทอดกันมาจนกลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงปฏิรูปการปกครองส่วนภูมิภาคใหม่เป็น มณฑล จังหวัด อำเภอ ตำบลและหมู่บ้าน โปรดเกล้าฯให้เมืองพนัสนิคมเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดชลบุรี เมื่อปี พ.ศ.2447
ต่อมา พ.ศ.2521 สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถทรงเล็งเห็นความสำคัญของเครื่องจักสาน ไม้ไผ่เมืองพนัสนิคม จึงได้มีพระราชประสงค์ให้มีการพัฒนาฝีมือของจักสานไม้ไผ่ โดยได้มอบหมายให้นายวิญญู อังคณารักษ์ อธิบดีกรมการปกครองในสมัยนั้นสืบหาคนเก่งด้านจักสาน ขณะนั้น นายจรวย บริบูรณ์ นายกเทศมนตรีพนัสนิคม และปราณี บริบูรณ์ ภรรยาเป็นผู้รับการดำเนินงานตามโครงการได้ค้นพบ นางกิมยัง คำแพง ชาวตำบลทุ่งขวาง อำเภอพนัสนิคม เป็นช่างฝีมือที่สามารถจักสานกระเป๋าพิกุลละเอียดได้ จึงให้นางกิมยัง เป็นผู้สอนให้ผู้สนใจพัฒนาฝีมือการจักสานและใช้บ้านพักเป็นสถานที่เรียนรู้ ผู้ที่มีฝีมือดีจะถูกคัดเลือกให้เป็นวิทยากรในโครงการต่อไป เพื่อเป็นการอนุรักษ์ช่างฝีมือให้ยึดอาชีพจักสานต่อไปไม่ให้สูญหายไปจากท้องถิ่น จนถึงปัจจุบันอาชีพจักสานกลายเป็นอาชีพหลัก เป็นสินค้าส่งออกที่ผ่านการตรวจสอบอย่างละเอียดก่อนส่งจำหน่ายมูลนิธิศิลปาชีพ ร้านจิตรลดา และต่างประเทศ ให้แก่ผู้สนใจนิยมงานจักสานไม้ไผ่ที่ละเอียดและผีมือประณีต