“เส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสาน” GI ภูมิปัญญาที่มีการสืบทอดกันมานับร้อยปี จากรุ่นสู่รุ่น

“เส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสาน” (Isan Indigenous Thai Silk Yarn) หมายถึง เส้นไหมดิบที่ผ่านการสาวด้วยมือ ผลิตจากตัวไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้านที่เลี้ยงโดยใบหม่อนที่ปลูกขึ้นเองในพื้นที่ 20 จังหวัด ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสาน เส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสานเป็นสีเหลืองทอง มีความมันเลื่อม ความนุ่มนวล ความเหนียว และความสม่ำเสมอ สามารถนำมาทำเป็นเส้นยืนและเส้นพุ่งได้ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา ประกาศให้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ( GI ) “เส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสาน” เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ.2555

464478504 8620379321317830 6148346101423764231 nส

ลักษณะภูมิประเทศ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสาน ประกอบด้วย 20 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดหนองคาย นครพนม มุกดาหาร ชัยภูมิ สกลนคร อุดรธานี เลย ขอนแก่น มหาสารคาม กาพสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ และบึงกาพ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีพื้นที่ประมาณ 170,226 ตารางกิโลเมตร หรือ 1 ใน 3 ของพื้นที่ทั้งประเทศ

464452482 8620379067984522 7507370468396056243 n

ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูง ในระดับความสูงระหว่าง 120-400 เมตรจากระดับน้ำทะเล ลักษณะพื้นที่เป็นแอ่งจานลาดเอียงไปทางตะวันออกเฉียงใต้ แม่น้ำสายสำคัญได้แก่ แม่น้ำมูล แม่น้ำชี แม่น้ำสงคราม และแม่น้ำโขง แต่ดินในภาค
ตะวันออกเฉียงเหนือมีลักษณะเป็นดินทรายไม่อุ้มน้ำทำให้พื้นที่ขาดความอุดมสมบูรณ์จึงใช้ประโยชน์ทางการเกษตรไม่เต็มที่ เวลาว่างจากฤดูทำนา จึงคิดสร้างสรรค์งานศิลป์เกี่ยวกับงานผ้าไหมลายสวย สร้างรายได้แก่ครอบครัว

ประวัติความเป็นมา

การปลูกหม่อนและการเลี้ยงไหมของไทย คาดว่าได้รับการถ่ายทอดจากผู้อพยพย้ายถิ่นฐาน ซึ่งมาจากตอนใต้ของประเทศจีน จากหลักฐานเศษผ้าที่ติดอยู่กับกำไลสำริดของมนุษย์ย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านเชียงและบ้านนาดี อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี สันนิษฐานว่ามีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมมานกว่า 3,000 ปี การสาวไหมไทยพื้นบ้านอีสานเป็นภูมิปัญญาที่มีสืบทอดกันมาจากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่งของบรรพบุรุษโบราณ และผ้าไหมที่มีชื่อเสียงส่วนใหญ่อยู่ที่ภาคอีสาน ผ้าไหมเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตชาวอีสาน มีการห่มผ้าไหมในชีวิตประจำวัน สาวชาวอีสานต้องเลี้ยงไหม ทอผ้าไหมและเก็บไว้จำนวนหลายร้อยผืน เพื่อใช้ใช้ในพิธีการต่าง ๆ เช่น งานแต่งงาน งานบวช งานศพ และงานพิธีกรรมตามความเชื่อในแต่ละท้องถิ่น

ชาวอีสานมีหลายเผ่าพันธุ์ ทำให้ลักษณะการทอ ลวดลายผ้าไหม และการสวมใส่ผ้าไหมแตกต่างกัน มีเพียงการสาวไหมที่ทุกเผ่าพันธุ์ชาวอีสาน มีลักษณะเหมือนกัน กระบวนการสาวไหมไทยพื้นบ้านอีสานจะแยกเส้นไหมชั้นนอก(ไหมหัว) ที่มีขนาดใหญ่ เนื้อหยาบออกจากเส้นไหมชั้นใน (ไหมน้อย) ที่มีลักษณะเส้นเล็ก สม่ำเสมอ เส้นเรียบ เมื่อทอเป็นผืนผ้าแล้วเนื้อผ้านุ่ม สวมใส่เย็นสบาย ความประณีตในกรรมวิธีการผลิตผ้าไหมของชาวอีสาน ทำให้เนื้อผ้าที่ทอมีความเรียบสม่ำเสมอ สวยงาม นุ่ม น่าสัมผัส เป็นเงา

เส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสาน มีความสวยงามและเป็นเอกลักษณ์ จากการสาวมือด้วยพวงสาวทำให้เส้นไหมที่ได้มีความนุ่มนวลและมีความยืดหยุ่น เมื่อนำมาถักทอเป็นผืนผ้าจะทิ้งตัวอย่างมีน้ำหนัก ภูมิปัญญาการสาวไหมเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม วิถีชีวิตที่สืบทอดกันมาของสตรีภายในครอบครัว คือ แม่ถ่ายทอดวิธีการสาวไหมโดยการทำให้ดู แนะนำวิธีการสาวไหมให้บุตรรู้ แล้วบุตรสาวนำไปปฏิบัติตามซึ่งเป็นการเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติจริง ซ้ำแล้วซ้ำอีกจนเกิดความชำนาญ เป็นการเรียนรู้ในครอบครัว แล้วขยายไปในชุมชนนั้น ๆ และนอกชุมชน โดยมีการปฏิบัติสืบทอดกันมาจากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่งเป็นเวลาร้อยปีมาแล้ว จะมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงวิธีการบางส่วน เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ และสภาพแวดล้อมในแต่ละท้องถิ่น


สำหรับอาณาเขตพื้นที่ในการผลิตเส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสาน ครอบคลุมในพื้นที่ 20 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วย จังหวัดหนองคาย นครพนม มุกดาหาร ชัยภูมิ สกลนคร อุดรธานี เลย ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี หนองบัวลำภูอำนาจเจริญ และบึงกาฬ