“ผ้าฝ้ายทอผสมขนแกะบ้านห้วยห้อม” หมายถึง ผ้าทอมือที่ใช้เส้นฝ้ายเป็นเส้นยืนและด้ายปั่นจากขนแกะเป็นเส้นพุ่ง ทอขึ้นตามวิธีการแบบโบราณของสตรีปกากะญอ (ใช้กี่เอว) มีลวดลายดั้งเดิมที่เป็นเอกลักษณ์ของชนเผ่า และมีลวดลายประยุกต์ที่ผลิตในเขตพื้นที่บ้านห้วยห้อม ตำบลห้วยห้อม อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ทั้งนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญาประกาศให้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ( GI ) เมื่อ 28 มิถุนายน 2556
ลักษณะของสินค้า
ลักษณะทางกายภาพ
- ผ้าฝ้ายทอผสมขนแกะบ้านห้วยห้อม มีสภาพที่เรียบร้อยตลอดทั้งผืน ลวดลายเด่นชัด เส้นด้ายและเส้นขนแกะชิดแน่นตามแนวเส้นยืนและเส้นพุ่ง สีและเนื้อผ้าสม่ำเสมอ
- ลวดลายของผ้าทอผสมขนแกะบ้านห้วยห้อม เช่น ลายลูกแก้วตาใหญ่ ลายลูกแก้วตาเล็ก ลายดอกเข็ม ลายดอกเข็มคู่ ลายคอนกพิราบ ลายข้าวโพด ลายชิกแซก ลายกากบาทผสมกับลายสี่เหลี่ยม ลายบันได และลวดลายประยุกด์ เป็นต้น
กระบวนการผลิต
วัตถุดิบ
(1) เส้นด้ายจากขนแกะ
(1.1) แกะที่เลี้ยงในบ้านห้วยห้อม เป็นสายพันธุ์คอร์เชทผสมพันธุ์พื้นเมือง
(1.2) แกะที่เลี้ยงในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดย 2 หน่วยงาน คือ สถานีปศุสัตว์จังหวัดแม่ฮ่องสอนและสถานีวิจัยทดสอบพันธุ์สัตว์แม่ฮ่องสอน เป็นสายพันธุ์บอนด์ผสมสายพันธุ์คอร์ริเดล เมื่อแกะอายุครบ 1 ปีจะเริ่มตัดขนได้และจะเว้นไปอีก 1 ปีจึงจะตัดขนใหม่อีกครั้ง
(2) เส้นฝ้าย ตามมาตรฐานเส้นยืนเบอร์ 2012 และเบอร์ 322
(3) สีย้อมจากวัตถุดิบตามธรรมชาติที่มาจากดิน เปลือกไม้ เหง้า ผล ใบ กิ่งและรากของพืชต่างๆ และไม้ที่มีในท้องถิ่น ส่วนใหญ่จะใช้สีจากเปลือกไม้ ทำขึ้นตามวิธีการและความรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่น
ขั้นตอนการทำขนแกะให้เป็นเส้นด้าย
(1) ตัดขนแกะที่มีอายุ 1 ปีขึ้นไป
(2) ยีขนแกะเพื่อเอาเศษหญ้าและสิ่งปนเปื้อนออก
(3) นำขนแกะไปผ่านกระบวนการซักล้าง แล้วนำไปพาดตาก โดยคลี่ให้บางที่สุด ตากทิ้งไว้จนแห้ง
(4) การยี (ปี่เค) ดึงเส้นขนแกะออกให้เป็นเส้น โดยให้ดึงตามแนวของเส้นขนแกะ
(5) การแปรงขนแกะ (คลือแปล๊ะออ) นำแปรงที่ใช้แปรงขนแกะ 2 อัน ด้านนึงให้วางขนแกะที่ผ่านการยีลงไปให้ทั่ว แล้วนำแปรงอีกอันมาประกบเพื่อสางขนแกะ ทำสลับไปมาจนขนแกะเรียงเป็นเส้นฟูเป็นปุย
(6) การปั่น (เล่โซฉู่) เป็นกระบวนการปั่นด้ายแบบดั้งเดิม โดยการดึงใยขนแกะออกจากปุย แล้วปั่นเป็นเกลียวด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า กะหะ มีลักษณะเป็นวงล้อ โดยใช้มือหมุนมีสายพานโยงวงล้อเพื่อกรอด้าย
(7) การม้วนเส้นด้ายขนแกะ ใช้อุปกรณ์ซอควอเดหรือหน่อคลือลือ ทำจากไม้ไผ่มีลักษณะเป็นรูปตัว I(ไอ) เพื่อให้ได้เส้นด้ายขนแกะเป็นใจๆ สำหรับใช้เป็นเส้นพุ่ง
(8) การฟอกย้อม ใช้สีที่ได้จากเปลือกไม้ เป็นสีโทนน้ำตาล เหลือง แดง จะใช้ย้อมเส้นฝ้ายและเส้นด้ายขนแกะ หรือย้อมเมื่อทอเป็นผืนแล้วก็ได้
(2) วิธีการทอ
(2.1) จัดเรียงไม้แต่ละอันในเครื่องทอให้เรียบร้อย
(2.2) ดันไม้กลมแยกชั้นฝ้ายไปด้านหลังห่างจากตะกอ งัดขึ้นเพื่อแยกชั้นฝ้ายและยกไม้ตะกอขึ้นเพื่อเปิดช่องให้ด้ายพุ่ง
(2.3) พุ่งด้ายเส้นพุ่งเข้าไป ใช้ไม้ กระแทกด้ายพุ่งเข้าไปชิดในสุด ให้เนื้อผ้าแน่น
(2.4) รวบไม้กลม และตะกอเข้าชิดกัน เพื่อเปิดชุดฝ้ายอีกชั้นหนึ่ง สอดด้ายพุ่งเข้าไปกระแทกด้วยไม้ ก ทำเช่นนี้สลับกันไปเรื่อยๆ จนได้ความยาวของผ้าที่ต้องการ ในกระบวนการทอบางครั้งอาจมีเส้นด้ายที่พันกัน ให้ใช้ขนหมูสางหรือหวีให้เส้นด้ายเรียบ จะได้เห็นลายที่ชัดเจน
ลักษณะภูมิประเทศ
บ้านห้วยห้อม ตั้งอยู่ในเขตบำสงวนแห่งชาติแม่ยวมฝั่งซ้าย ภายใต้พื้นที่ดำเนินงานของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อย ที่ระดับความสูง 1,0000 – 1,300 เมตร มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ประกอบด้วย ป่าไม้ ภูเขา และแหล่งน้ำธรรมชาติหลายสาย เช่น ลำห้วยซะหย่าโกร๊ะ ห้วยบาโกร๊ะ ห้วยหนู่โกร๊ะและห้วยซิติโกร๊ะ สภาพภูมิอากาศมีอากาศเย็นตลอดทั้งปี ช่วงฤดูฝนยาวนาน ในช่วงเดือน พ.ค. – ก.ย. อุณหูมิเฉลื่ยตลอดปี 22 องซาเซลเซียส ซึ่งมีสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศเหมาะสมสำหรับการเลี้ยงแกะขน
ประวัติความเป็นมา
หญิงกะเหรี่ยงบ้านห้วยห้อม เริ่มทอผ้าขนแกะเมื่อประมาณปี 2500 เมื่อมิชชันนารีที่มาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ ได้เห็นการทอผ้าตามประเพณีดั้งเดิม ซึ่งใช้ฝ้ายพื้นเมืองที่ปลูกเองปั่นเป็นด้ายทอผ้า จึงได้นำความรู้เกี่ยวกับการใช้ขนแกะทำเป็นเส้นด้ายสำหรับทอผ้ามาสอนให้แก่ชาวบ้าน นับตั้งแต่เทคนิคการหวีขนแกะ ปั่นด้าย และทอเป็นผ้า รวมทั้งนำแกะมาให้ชาวบ้านเลี้ยงเพื่อตัดขน ต่อมาในปี 2538 เมื่อพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกดิ์ พระบรมราชินีนาถได้เสด็จเยี่ยมเยือนประชาชนที่บ้านได้พระราชทานความช่วยเหลือด้านการปรับปรุงพันธุ์ โดยทรงโปรดฯ ให้เจ้าหน้าที่นำพ่อแกะพันธุ์ที่เลี้ยงไว้เพื่อ
ตัดขนโดยเฉพาะ ซึ่งนำเข้ามาจากออสเตรเลียมาทำการผสมพันธุ์กับแกะพื้นเมือง จนได้ลูกแกะพันธุ์ตัดขนที่ชอบอากาศหนาวเย็นอันเป็นสภาพอากาศของพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน และมีการจัดตั้งกลุ่มสตรีบ้านห้วยห้อมขึ้นมา