“ผ้าไหมมัดหมี่ซิ่นตีนแดงบุรีรัมย์” ถือเป็นผ้าไหมเอกลักษณ์ของจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นผ้าไหมทอมือมีลายเกิดจากการมัดหมี่ สมัยโบราณทอด้วยฟืมเล็กแล้วนำมาต่อหัวซิ่นและตีนซิ่นเป็นสีแดงสด ปัจจุบันมีการทอต่อเนื่องเป็นผืนเดียวกัน
“ผ้าไหมมัดหมี่ซิ่นตีนแดงบุรีรัมย์ “ทอขึ้นครั้งแรกเมื่อราว 200 กว่าปีมาแล้วโดยช่างฝีมือทอผ้าในคุ้มของพระยาเสนาสงคราม (เจ้าเมืองคนแรกของเมืองพุทไธสง) ต่อมาได้แพร่ขยายสู่หมู่บ้านใกล้เคียง ปัจจุบันผลิตมากที่ อ.พุทไธสง อ.นาโพธิ์ และ อ.บ้านใหม่ไชยพจน์ รวมถึงอำเภออื่นในจังหวัดบุรีรัมย์
ทั้งนี้จังหวัดบุรีรัมย์ได้ขอขึ้นทะเบียนและกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ประกาศขึ้นทะเบียน “ผ้าไหมมัดหมี่ซิ่นตีนแดงบุรีรัมย์” เป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ( GI) ตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2558
ลักษณะภูมิประเทศ
บุรีรัมย์เป็นจังหวัดเดียวทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างของประเทศไทยที่มีภูมิประเทศเป็นภูเขาไฟในบางส่วนมี 3 ฤดู คือ ฤดูร้อน (แล้ง) ฤดูฝน และฤดูหนาว พื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 150- 200 เมตร อยู่ห่างจากทะเล 430 กิโลเมตร พื้นที่ที่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมปัจจุบันกระจัดกระจายอยู่ทั่วทั้งจังหวัด ทั้งอำเภอ และมีมากอยู่ที่อำเภอลำปลายมาศ อำเภอพุทไธสง อำเภอนาโพธิ์ และอำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ เนื้อดินเป็นดินร่วนปนทราย (ดินชุดพิมาย) ดินล่างเป็นดินร่วนเหนียว
ประวัติความเป็นมา
บุรีรัมย์หรือเมืองแปะ ในตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาปรากฏว่าเป็นเมืองขึ้นของเมืองนครราชสีมา(พ.ศ.2319) ได้กล่าวถึงการตั้งของเมืองต่างๆ ในแถบบริเวณนี้ ซึ่งตามบันทึกได้กล่าวถึงเมืองนางรอง เมืองพุทไธสง และเมืองประโคนชัย ซึ่งเมืองเหล่านี้อยู่ในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ มีการเกณฑ์ชายฉกรรจ์มาฝึกเป็นนักรบ และได้นำผู้นำทัพ คือเจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์คุมทัพหัวเมืองฝ่ายเหนือไปปราบเมืองโขง เมืองจำปาสัก และเมืองอัตปือ กวาดต้อนเจ้านายและประชาชนจากเมืองโขงเรื่อยมาตามลำน้ำมูลฝั่งทุ่งกว้างและพักทัพในเขตเมืองไผทสมัน (พุทไธสง) ผู้ถูกกวาดต้อนได้นำวิชาแขนงต่างๆ เข้ามาด้วย โดยเฉพาะการทอผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวลาวโขง (ลาวพราน) ในกลุ่มชนชั้นสูง ที่มีวัตถุดิบเป็นเส้นไหมมากกว่าเส้น
ฝ้ายที่ใช้กันในชนชั้นล่างลงไป กาลเวลาล่วงเลยไปนับร้อยปีพระชายาเจ้าผู้ครองเมืองไผทสมัน (พุทไธสง) ที่ถูกกวาดต้อนมาจากกลุ่มลาวโขงได้ทรงฟื้นฟูผ้าไหมมัดหมี่ที่เคยทอสวมใส่และมีจำนวนน้อยลงขึ้นมาอีกครั้งเพื่อผลิตใช้ให้เพียงพอและเหมาะสมกับกลุ่มสตรีชั้นสูง ภายหลังนำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย มีความสวยงามแปลกตาและวิจิตรบรรจงในศิลปะ จึงได้ถ่ายทอดให้แก่ผู้ใกล้ชิดที่เป็นธิดาและญาติๆ ของเจ้าเมืองไผทสมัน(พุทไธสง) และชนพื้นเมืองเดิม (ขอมล้า) สืบทอดเป็นมรดกทางหัตถกรรมต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน