“ผ้าหม้อห้อมแพร่” (Mor Hom Phrae Fabric / Pha Mor Hom Phrae) หมายถึง ผ้าทอพื้นเมืองและ/หรือเสื้อผ้าที่ผลิตจากเส้นใยธรรมชาติและ/หรือเส้นใยสังเคราะห์ที่ผ่านกระบวนการย้อมสีธรรรมชาติ ทำให้เกิดลวดลายด้วยการมัดย้อม การจุ่ม หรือการพิมพ์ลาย ด้วยภูมิปัญญา การก่อหม้อห้อมที่ใช้ใบและต้นห้อมที่ปลูกในจังหวัดแพร่ ทำให้ผ้าทอและเสื้อผ้าที่ผ่านการย้อมมีเฉดสีฟ้าถึงสีน้ำเงินเข้ม มีกลิ่นหอมตามธรรมชาติ ซึ่งผลิตขึ้นในพื้นที่จังหวัดแพร่ ทั้งนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญาประกาศให้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI ) ผ้าหม้อห้อมแพร่” เมื่อ 30 มีนาคม 2563
กระบวนการผลิต
วัตถุดิบ
(1) ต้นห้อม ที่ปลูกและเก็บเกี่ยวในพื้นที่จังหวัดแพร่ ซึ่งมี 2 สายพันธุ์ คือพันธุ์ใบเล็กและพันธุ์ใบใหญ่
(2) เนื้อห้อม คือการสกัดสีจากต้นห้อมออกมาใช้ทำสีย้อมผ้า ตามกระบวนการและเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นในจังหวัดแพร่ ที่เรียกว่า “ห้อมเปียก” หรือ “เปอะ” ในภาษาพื้นเมือง
(3) ผ้าทอพื้นเมืองและ/หรือเสื้อผ้าที่ผลิตจากเส้นใยธรรมชาติ และ/หรือ เส้นใยสังเคราะห์
การปลูกและการเก็บเกี่ยวต้นห้อม
(1) การปลูกและการขยายพันธุ์ต้นห้อมสามารถทำได้โดยการใช้เมล็ดและการปักชำกิ่ง แต่นิยมใช้วิธีการปักชำลำต้นที่มีข้อ โดยรากจะงอกจากบริเวณข้อ แต่ฉันพันธุ์ต้องมีอายุ 1 ปีขึ้นไป การปลูกจะนิยมปลูกบริเวณหัวไร่ปลายนาของตนเอง หรือในพื้นที่ป่าที่มีความชุ่มชื้นเพื่อการอนุรักษ์หน้าดิน หรือในรูปแปลงปลูกแบบยกร่องขนาดกว้าง 2 เมตร ยาว 3 เมตร ภายใต้โรงเรือนที่พรางแสง ประมาณร้อยละ 70 และให้น้ำระบบมินิสปริงเกอร์ และให้ธาตุอาหารรูปแบบอินทรีย์เคมี
(2) การเก็บเกี่ยว เมื่อต้นห้อมอายุครบ 6 – 8 เดือน จะใช้วิธีตัดกิ่ง ก้าน ใบ และยอด ความยาว 30 – 50 เซนติเมตร จากยอดลงมา เก็บในช่วงเช้าไม่เกิน 8.00 น. หรือในช่วงเย็นเก็บหลัง 16.00 น. เพราะใบห้อมจะสดและให้เนื้อสีมากกว่าห้อมที่เก็บในเวลาอื่นๆ นำมามัดเป็นกำๆ ใส่ในหม้อหรือโอ่งสำหรับทำเนื้อห้อมเปียก
การทำห้อมเปียก/การเตรียมเนื้อห้อม
การผลิตผ้าหม้อห้อมแพร่ จะให้ความสำคัญมากกับการเตรียมเนื้อห้อม ที่ต้องคัดสรรเลือกเก็บใบและต้นห้อมสดในช่วงเวลาและอายุต้นตามที่กำหนด เมื่อเก็บได้แล้วให้นำมามัดเป็นกำๆ ไส้ในหม้อหรือโอ่ง เติมน้ำสะอาดให้ทั่วใบห้อม แช่น้ำทิ้งไว้ไม่เกิน 72 ชั่วโมง เมื่อครบกำหนดเวลาให้แยกกากออกแล้วเติมปูนขาวหรือปูนแดง แล้ว “ซวก” (กระแทกขึ้นกระแทกลงในหม้อหรือโอ่งที่ใช้หมัก) จนฟองแตกตัวและยุบตัวลงซึ่งนิยมใช้ชะลอมในการตีเป็นฟองเพื่อเติมอากาศ จากนั้นพักไว้ 1 คืน จนได้ตะกอนห้อมสีน้ำเงินดำ รินน้ำด้านบนทิ้ง เก็บเนื้อห้อมเปียกในภาชนะที่ปิดสนิท เพื่อนำไปใช้ในการก่อห้อมต่อไป
การทำน้ำย้อมผ้าหม้อห้อม (การก่อห้อม)
การก่อหม้อห้อมเพื่อเตรียมน้ำย้อม คือการนำสารคราม (Indigo) หรือที่เรียกว่า “ห้อมเปียก” นำมาผสมกับน้ำด่างจากนั้นเติมน้ำซาวข้าวและน้ำมะขามเปียกหรือน้ำมะเฟือง หรืออื่นๆ ตามความเหมาะสม ลงในโอ่งหรือหม้อดิน โจกน้ำย้อม (ตักน้ำย้อมแล้วเทกลับคืนในโอ่ง)ทุกวันทั้งเช้าและเย็น สังเกตสี กลิ่นและฟองน้ำย้อมจะใสขึ้นเปลี่ยนเป็นสีเขียวปนน้ำเงิน กลิ่นหอมอ่อนๆ ฟองสีน้ำเงิน ให้โจกจนกว่าน้ำย้อมจะเป็นสีเหลืองอมเขียวหรือสีเขียวยอดใบตอง ขุ่นข้น ฟองเป็นสีน้ำเงินเข้มแวววาว ไม่แตกยุบ แสดงว่าเกิดสีคราม (Indgo white)ในน้ำย้อมแล้ว ซึ่งกระบวนการก่อหม้อห้อมจะใช้ระยะเวลา 7 – 14 วัน และจะมีความเป็นกรด-ด่างที่เหมาะสมในการย้อม คือ pH 10 – 11
การย้อมห้อม
การย้อมจะมี 2 ลักษณะ คือย้อมเส้นด้ายหรือย่อมผ้าผืน โดยจะทำความสะอาดเส้นด้ายหรือผ้าผืนก่อนเพื่อขจัดคราบกาวและไขมันที่เคลือบไว้ด้วยน้ำสะอาดแล้วบิดพอหมาดก่อนนำไปย้อม หลังจากการย้อมตามเฉดสีและลักษณะของเทคนิคการมัดย้อม การพิมพ์ลาย การย้อมเส้นด้าย จะล้างทำความสะอาดสีออกจนหมดแล้วตากในที่แห้งและร่ม ทำการตรวจความเรียบร้อยของผ้าก่อนนำออกจำหน่าย
ลักษณะภูมิประเทศ
จังหวัดแพร่ มีสภาพทางภูมิศาสตร์ที่ถูกล้อมรอบด้วยภูเขาทั้ง 4 ทิศ พื้นที่ส่วนใหญ่ร้อยละ 80 เป็นภูเขา มีพื้นที่ราบเพียงร้อยละ 20 เท่านั้น โดยลาดเอียงไปทางทิศใต้ตามแนวไหล่ของแม่น้ำยมคล้ายแอ่งกระทะ พื้นที่ราบอยู่ระหว่างหุบเขามี 2 แปลงใหญ่ คือ ที่ราบบริเวณพื้นที่อำเภอร้องกวาง อำเภอเมือง อำเภอสูงเม่น และอำเภอเด่นชัย อีกหนึ่งแปลงคือ ที่ราบบริเวณพื้นที่อำเภอลอง และอำเภอวังชิ้น โดยที่ราบดังกล่าวใช้เป็นที่อยู่อาศัยและทำการเกษตร
สำหรับลักษณะทางภูมิอากาศของจังหวัดแพร่ จัดอยู่ในลักษณะแบบฝนเมืองร้อน ด้วยพื้นที่เป็นแอ่งคล้ายก้นกระทะ จึงทำให้สภาพอากาศมีความแตกต่างกันมาก โดยภูมิอากาศของจังหวัดแพร่แบ่งเป็น 3 ฤดูกาล คือ ฤดูหนาว (เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์) ฤดูร้อน(เดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม) และฤดูฝน (เดือนมิถุนายนถึงเดือนดุลาคม) ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยประมาณ 1,226.94 มิลลิเมตร เป็นพื้นที่ต้นน้ำของแม่น้ำยม มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายของป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และปาเต็งรัง สลับซับซ้อนกันบนเทือกเขาผีปันน้ำและเทือกเขาแดนลาว
ด้วยสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศดังกล่าวของจังหวัดแพร่ จึงส่งผลให้ต้นห้อมเจริญเดิบโตได้ดี และมีเป็นจำนวนมากในธรรมชาติด้วยปัจจัยดินที่อุ้มน้ำ มีอินทรีย์วัตถุสูง แสงแดดปานกลาง จึงเหมาะสมกับต้นห้อมจนนำมาสู่การผลิตเป็น “ผ้าหม้อห้อมแพร่”
ประวัติความเป็นมา
ผ้าหม้อห้อมในจังหวัดแพร่ได้รับการสืบทอดกันมานานกว่า 100 ปี โดยในช่วงสมัยกรุงธนบุรีจนถึงต้นรัตนโกสินทร์ เจ้าเมืองแพร่ได้นำไพร่พลมาจากสิบสองปันนา เชียงแสน และแขวงเชียงขวางของประเทศลาวเข้ามาอยู่อาศัยในจังหวัดแพร่ ซึ่งมีกลุ่มชนไทพวนรวมอยู่ด้วยและได้นำความรู้ด้านหม้อห้อมเข้ามาเผยแพร่ ผนวกกับชาวไทยพื้นเพเดิม ต่างก็ผลิตเสื้อผ้าใช้เองโดยการปลูกฝ้าย ปั่นด้าย ทอผ้า และตัดเย็บในรูปแบบของเสื้อห้าดูก เสื้อคอเฮง หรือเสื้อกุยเฮง ซึ่งเป็นเสื้อแบบจีนคอกลม ผ่าหน้า ติดกระดุม หรือผูกเชือกตลอดแนว (คนแพร่ เรียกว่า “เสื้อมะถั่ว”) ด้านล่างมีกระเป๋าสองข้าง กับการใส่กางเกงเดี่ยวสะดอขาก๊วย สีครามอมดำ ด้วยภาษาถิ่นล้านนาโดยแท้จริง “ม่อฮ่อม” ไม่ได้หมายถึงเสื้อแต่หมายถึงสีของเสื้อที่เป็นสีครามอมดำ
ปัจจุบันถ้าเอ่ยคำว่า “ม่อฮ่อม” จะหมายถึง เสื้อ ซึ่งเสื้อชนิดนี้ไม่ใช่เสื้อสำหรับผู้ชายชาวล้านนาสวมใส่มาแต่เดิม เสื้อม่อฮ่อมเกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเริ่มที่จังหวัดแพร่ จากชาวไทพวนเย็บเสื้อผ้าฝ้ายย้อมสีครามออกมาจำหน่ายให้แก่คนงานและลูกจ้างทำป่าไม้ขึ้นก่อน จนได้รับความนิยม สวมใส่กันอย่างแพร่หลาย ในปี พ.ศ.2496 ได้มีการจัดงานเลี้ยงอาหารแบบขันโตกขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเป็นเกียรติแก่ฯพณฯ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ และกงสุลอเมริกา โดยได้กำหนดให้ผู้เข้าร่วมงานใส่เสื้อผ้าฝ้ายคอกลมย้อมสีคราม คาดผ้าขาวม้า หลังจากนั้นจึงมีผู้นิยมสวมใส่เสื้อม่อฮ่อมกันแพร่หลายมากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ คนทั่วไป จึงเข้าใจว่าเสื้อม่อฮ่อมเป็นเสื้อประเพณีนิยมสำหรับผู้ชายชาวล้านมา
“ผ้าหม้อห้อมแพร่ เป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความงามทางวัฒนธรรมการแต่งกายของคนเมืองแพร่อย่างแท้จริง บ่งบอกถึงความเป็นชาติพันธุ์ที่มีประวัติศาสตร์สืบทอดจากบรรพบุรุษมาอย่างยาวนาน เห็นได้จากชุดการแต่งกายพื้นเมืองอันแสดงถึงความมีเอกลักษณ์ของชาวเมืองแพร่ จนมีคำกล่าวว่า “ใครมาเมืองแพร่ ต้องซื้อผ้าหม้อห้อมแพร่”